นวัตกรรมไทยเเท้ ‘หมักก่อนแยก’ จัดการขยะชุมชนเกาะยาวน้อย
กระทรวงวิทย์ฯ จับมือม.เทคโนโลยีสุรนารี อบต.เกาะยาวน้อย พัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะ MBT ด้วยทฤษฎี 'หมักก่อนเเยก' อย่างยั่งยืน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ลดผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม ด้วยมาตรฐานคัดเเยกขยะชุมชน รองรับอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากนักท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา
เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนราว 1 หมื่นคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยตามมา จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญให้เกิดการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาสังคมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พาคณะสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิต ลงพื้นที่ศึกษาโครงการ ‘บริหารจัดการขยะชุมชนพื้นที่เกาะยาวน้อย’ ตามโครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (กิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์สัญจร) โดยมีสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศแสนอบอุ่น
มานิตย์ มาตรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะยาวน้อย เล่าที่มาให้ฟังว่า ต.เกาะยาวน้อย ตั้งอยู่ที่อ่าวพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 46.46 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน 1,611 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง ค้าขาย และธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเกาะแห่งนี้นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามของทะเลอันดามัน
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่จะตามมากับนักท่องเที่ยว คือ ปริมาณขยะมูลฝอย โดยในแต่ละวันมีขยะเฉลี่ย 2.5 ตัน/วัน และเพิ่มสูงมากขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะเดียวกันชุมชนขาดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการบริหารจัดการขยะ จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนและระบบนิเวศได้
“อบต.เกาะยาวน้อย ร่วมมือกับกระทรวงวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนา ‘เทคโนโลยีการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกลและชีวภาพ (Mechanical and biological treatment:MBT)’ มาใช้ โดยได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทย์ฯ 7 ล้านบาท และงบประมาณสมทบจากอบต.เกาะยาวน้อย 1.5 ล้านบาท” นายกอบต.เกาะยาวน้อย ระบุ
ด้านผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เกาะยาวน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นขยะเกิดขึ้นส่วนใหญ่มีที่มาจากอาหารเป็นหลัก แต่อบต.เกาะยาวน้อยกลับเลือกกำจัดเศษอาหารด้วยวิธีเผา เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งโดยปกติหากขยะมีความชื้นเกิน 60% จะเผาแบบปกติให้หมดไปถือเป็นเรื่องยาก นอกจากใช้เชื้อเพลิงช่วยเผาอีกทีหนึ่ง
ส่วนจะนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้กำจัดขยะในไทยนั้นจะค่อนข้างลำบาก เพราะบริบทความรู้ความเข้าใจเรื่องขยะพื้นฐานแตกต่างกัน ที่สำคัญ คนไทยมีพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่แยกประเภท ดังนั้นวิธีการ ‘แยกก่อนหมัก’ ของต่างประเทศจึงไม่เหมาะสมเท่า ‘หมักก่อนแยก’ ที่มองว่าสอดคล้องมากกว่า
“แม้เราจะคัดแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน แต่เมื่อรถเทศบาลมาเก็บกลับขนขยะใส่รวมกัน ดังนั้นจึงเน้นการบริหารจัดการขยะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย โดยไม่ต้องคัดแยกขยะตั้งเเต่ต้นทางก่อนส่งเข้าโรงกำจัดขยะ” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกลและชีวภาพ ผศ.ดร.วีรชัย อธิบายว่า สามารถรองรับขยะได้ 5 ตัน/วัน โดยเริ่มต้นด้วยแรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิลบนสายพาน ขยะที่เหลือทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์ จะถูกส่งเข้าสู่เครื่องสับหยาบ เพื่อลดขนาด ก่อนจะถูกลำเลียงลงสู่โรงบำบัดขยะที่มีอุณหภูมิสูง 70 องศาเซลเซียส เพื่อให้เชื้อโรคตาย ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 วัน กระบวนการจึงสิ้นสุด
“อินทรีย์จำพวกเศษอาหารจะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ย ส่วนพลาสติกก็อยู่แบบนั้น จากนั้นจึงนำมาคัดแยกด้วยการร่อนโดยเครื่องตะแกรงหมุนนำพลาสติกออกจากปุ๋ย โดยปราศจากกลิ่นเหม็นรบกวน” หัวหน้าโครงการฯ เล่าถึงขั้นตอนสุดท้าย และว่าเราจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ไว้สำหรับปรับปรุงดิน และมีคุณภาพดี เพราะเศษอาหารที่นำมาหมักนั้นล้วนเป็นของดี มีจุลินทรีย์ที่สามารถต่อสู้กับโรคพืชได้ ส่วนพลาสติกที่เหลือนั้นก็จะถูกนำเป็นเชื้อเพลิงขยะต่อไป
ขณะที่สมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ คาดหวังว่านับจากนี้ไปชุมชนเกาะยาวน้อย ‘หัวกระไดไม่แห้ง’ เพราะจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งอบต.เกาะยาวน้อยอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน เพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรพัฒนาต่อไป คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้นั้นต้องมีคุณภาพ เหมาะสมกับพืชที่ปลูก และรณรงค์เลิกใช้ปุ๋ยเคมี โดยเชื่อที่สุดว่าอนาคตโรงงานแห่งนี้จะมีรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ด้วย แต่คงไม่สำคัญเท่ากับการมีส่วนช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“หากชุมชนเกาะยาวน้อยสามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รู้จักคัดแยกขยะรีไซเคิลใช้ประโยชน์ ทำปุ๋ยอินทรีย์ จะเกิดมลพิษน้อยมาก และจะเป็นตัวอย่างไม่เฉพาะด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น ทว่ายังรวมถึงด้านเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะชุมชนด้วย” รองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ สรุป
*****************************************
เทคโนโลยีการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกลและชีวภาพนั้นนับเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นวิจัยด้วยฝีมือคนไทย จนนำมาสู่หลักความคิด ‘หมักก่อนแยก’ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของสังคม อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการขยะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อเมื่อมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ .