ขอให้คสช.ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยคำนึงถึงหลักนิติธรรม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้อง คสช.ควรออกแนวปฏิบัติต่อการควบคุมตัวบุคคลที่ฝ่าฝืนประกาศต่างๆ ที่ออกโดย คสช.อย่างชัดเจนเป็นขั้นตอน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนโดยยึดหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์
ขอให้คสช.ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้คำสั่งคสช. ตามหลักกฎหมาย หลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความสงบและความปรองดองของคนในชาติ
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศเรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ (ฉบับที่ 1/2557) และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร (ประกาศฉบับที่ 2/2557) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑลและพื้นที่ต่างๆของประเทศหลายๆ พื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว และต่อมา ครส. ยังได้ออกประกาศอีกหลายฉบับให้ประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองผู้นำการชุมนุมทางการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ นักกิจกรรม สื่อมวลชน เข้ารายงานตัวต่อ คสช.และได้ควบคุมตัวผู้ที่ถูกเรียกมารายงานบางราย โดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ควบคุมการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและออกประกาศห้ามประชาชนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง (ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557)
ขณะ นี้ปรากฎว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองหรือการรัฐ ประหารโดยการใช้อำนาจดังกล่าวข้างต้นของ คสช.ได้ออกมาชุมนุมตามจุดต่างๆ ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารละเรียกร้องให้มีการ จัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ในการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมและนำ ตัวไปควบคุมตัวไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ โดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับโอกาสที่จะแจ้งให้ญาติหรือคนใกล้ชิดทราบว่า ถูกจับกุมและนำตัวไปควบคุมไว้ที่ใด และยังโดยเจ้าหน้าที่หน่วยใดและไม่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ในข้อหาใดไม่สามารถเข้าถึงบันทึกการควบคุมตัวได้ โดยสามารถควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกได้นานถึง 7 วัน โดยไม่สามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้ เช่นการพบกับญาติ ทนายวามเป็นต้น จึงเป็นที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2557 ที่บริเวณห้างสรรพสินค้า Terminal 21 สี่แยกอโศก กรณีนางสาวสุนันทา พวงศิริ ผู้ชุมนุมที่แสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารได้ถูกชาย 2 คนที่เชื่อน่าเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบฉุดกระชากและบังคับตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพู ทะเบียน ทส 422 (บันทึกภาพเคลื่อนไหว http://www.bangkokpost.com/multimedia/vdo/thailand/413010/anti-coup-protester-forced-into-taxi) โดยไม่มีใครทราบว่าชายดังกล่าวเป็นใครและไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปที่ใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ที่พบเห็นและภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อ ต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ และสร้างความกังวลอย่างมากต่อสาธารณะ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงและอุกอาจ เป็นการบังคับขู่เข็ยทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการถูก ละเมิดสิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายและเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้หาย สาบสูญได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาทราบว่า คุณสุนันทาถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวมาด้วย
จากกรณีดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจและมาตรการในการควบคุมความสงบของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ที่ แม้การชุมนุมจะเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. แต่หากประชาชนเพียงแต่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ โดยมิได้มีพฤติกรรมที่รุนแรงหรือจะเป็นภัยอันตรายต่อบุคคลอื่นแต่อย่างใด การใช้มาตรการในการควบคุมการชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมกับสถานการณ์และกรณี โดยต้องไม่เป็นการใช้อำนาจหรือมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามกฎหมาย หลักนิติธรรม และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้วย
ดังนั้น เพื่อลดเงื่อนไขความตึงเครียดและความไม่พอใจของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองแต่เพียงต้องการแสดงออกอย่างสันติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเสนอข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้
1. เจ้าหน้าที่ที่เข้าควบคุมสถานการณ์หรือดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุม ควรแต่งกายหรือมีบัตรประจำตัวซึ่งแสดงที่มาของหน่วยงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้โอกาสจากผู้ไม่หวังดีในการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของประชาชน
2. ในการค้นตัวหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะที่เป็นสตรี ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่สตรีเข้าร่วมการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมโดยคำนึงถึงเพศสภาพ และป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ
3. หากจำเป็นต้องมีการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งให้ผู้ที่จะถูกควบคุมตัวนั้นทราบ และให้โอกาสผู้ถูกควบคุมแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจทราบถึงการถูกควบคุมตัว และสถานที่ที่จะถูกควบคุมตัวนั้น เพื่อให้ญาติสามารถติดตามหรือเข้าเยี่ยมได้ตามความเหมาะสม
4. การควบคุมตัว ควรจัดแยกสถานที่ควบคุมตัวให้เหมาะสมและชัดเจน ระหว่างห้องควบคุมตัวหญิง ชาย และเด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี และให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสม
5. เจ้าหน้าที่ควรทำบันทึกการควบคุมบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ เช่นการให้แพทย์ตรวจร่างกายและญาติหรือทนายความ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวนั้นได้ รวมทั้งการทำบันทึกการปล่อยตัว และแจ้งให้ญาติทราบว่ามีการปล่อยตัว ณ สถานที่ควบคุมตัวใดและให้ญาตหรือผู้ที่ผู้ควบคุมตัวไว้วางใจมารับและลงชื่อไว้ เพื่อป้องกันการถูกบังคับให้หายสาบสูญ
6. กรณีที่มีการดำเนินคดีต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับแจ้งข้อกล่าวโดยไม่ชักช้า และสามารถติดต่อที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือผู้ที่ตนไว้วางใจในการให้ความช่วยเหลือในทางคดีได้ทันที
7. คสช. ควรมีประกาศสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการในทุกๆสถานที่ที่มีการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกและสถานที่ที่มีการฝากการควบคุมตัวกับหน่วยงานอื่นๆ และให้สิทธิแก่ญาติในการเยี่ยมในวันแรกและตามสมควรเพื่อคลายความกังวล รวมทั้งไม่ควรห้ามมิให้มีการติดต่อสื่อสารใดใดเลยในระหว่างการควบคุมซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษนขั้นพื้นฐาน
8. คสช.ควรออกแนวปฏิบัติต่อการควบคุมตัวบุคคลที่ฝ่าฝืนประกาศต่างๆ ที่ออกโดย คสช.อย่างชัดเจนเป็นขั้นตอน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนโดยยึดหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของสังคมไทยในการสร้างความสงบ ความปรองดองของคนในชาติ ให้กลับมาโดยเร็ว