วิวาทะ “นที” VS “สุภิญญา” ปฏิกิริยาต่อ "โรดแม็ป ททบ.5” ใต้เงากองทัพ
"..ทีวีสาธารณะนั้นมีหลักเกณฑ์สำคัญที่เป็นอิสระจากรัฐ และนำเสนออย่างรอบด้าน ซึ่งหากเน้นที่เรื่องความมั่นคงตามแผนที่เสนอมาก็คงไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ของการเป็นทีวีสาธารณะ..."
ในการประชุมหารือครั้งล่าสุดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในระเบียบวาระสำคัญของการประชุม คือการกางแผนโรดแม็ป ของ ททบ. 5 ในการจัดผังรายการเพื่อก้าวสู่ระบบทีวีดิจิตอล ซึ่งประเด็นการหารือครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5”
ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ในระเบียบวาระดังกล่าว ระบุว่า
"กองทัพบก" ได้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ สำหรับให้บริการโทรทัศน์ ที่มช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการเป็นการทั่วไป พร้อมยื่นแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอนุญาต และให้ความเห็นชอบ
โดยมีแนวทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบ สรุปได้ดังนี้
1.การปรับองค์กร สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก จะดำเนินการแยกบัญชี กิจกรรมทางการเงิน และงบดุล ของการดำเนินกิจการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ออกมาต่างหาก ซึ่งสถานีโทรทัศน์ กองทัพบก จะแสดงค่าขอใช้โครงข่าย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนบริการ อื่นๆ เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการสถานีรายอื่น
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีการส่งเสริมการแข่งขันการประกอบกิจการสื่อสารมวลชนที่เป็นธรรม
2.การปรับรูปแบบเนื้อหา และสัดส่วนรายการ จากการประกอบกิจการตามขอบเขต การให้บริการ ที่มีอยู่เดิม ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ไปสู่การประกอบกิจการ โทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 ตามข้อ 10 ( 1 ) ( ข ) ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งสอดคล้อง ตามวัตถุประสงค์ และภารกิจของหน่วยงานกองทัพบก และเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
ระยะที่ 1 ( ปี พ.ศ.2557 ) สื่อสร้างสรรค์ สาระบนความบันเทิง มุ่งเน้นจัดผังรายการ โดยนำเสนอสัดส่วนรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในเนื้อหาทุกเรื่อง พร้อมทั้งสอดแทรกเนื้อหาด้านความมั่นคงในรูปแบบการสร้างสรรค์สาระต่างๆ เข้าไปเป็นการสอดแทรกสาระ สิ่งสร้างสรรค์ให้กับผู้รับชม
ระยะที่ 2 ( ปี พ.ศ.2558 ) ส่งเสริมข่าวสาร สาระ ความรู้ มุ่งเน้นการจัดผังรายการตามรูปแบบของระยะที่ 1 โดยเพิ่มสัดส่วน ด้านสาระทั่วไปให้มากขึ้น และปรับลดสัดส่วน รายการด้านบันเทิงลง แต่ยังคงเพิ่มความเข้มข้น ของเนื้อหารายการในการดึงดูดความสนใจ และต้องการที่จะรับชม ของประชาชนผู้ชมต่อไป
ระยะที่ 3 ( ปี พ.ศ.2559 ) ที่สุดของความเชื่อมั่น มุ่งเน้นจัดผังรายการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ของการเป็นสถานีโทรทัศน์ในการให้ข้อมูลข่าวสาร ด้านความมั่นคงในทุกมิติ และคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานี โดยการเพิ่มสัดส่วนรายการด้านสาระทั่วไปมากขึ้น และปรับลดสัดส่วนรายการด้านบันเทิงลง
ทั้งนี้ เนื้อหาด้านสาระทั่วไปจะเป็นข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีคุณภาพและมีความถูกต้อง เป็นกลางและเป็นประโยชน์ สามารถสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ ยกระดับคุณภาพชีวิต ความผาสุกและสร้างเสริมประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาด้านความบันเทิง ยังคงเป้นสิ่งสำคัญ และจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเพื่อให้ ททบ. เป็นสถานีข่าวและบันเทิงที่มีคุณภาพ
ระยะที่ 4 ( ปี พ.ศ.2560 ) “โทรทัศน์แห่งความมั่นคง” มุ่งเน้นจัดผังรายการ ตอบสนองต่อบทบาท ด้านความมั่นคง ของกองทัพและของรัฐในทุกมิติโดยสอดคล้องกับสัดส่วน มีตัวชี้วัด อาทิ การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นสถานีเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงในทุกมิติและคงอัตลักษณ์ของสถานี, การตอบสนองต่อบทบาทด้านความมั่นคงของกองทัพและของรัฐในทุกมิติ, การแบ่งช่วงเวลา การจัดผังในการออกอากาศในภาพรวม และ การจัดผังรายการในภาพรวม
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของที่ประชุม กสท. ระบุในระเบียบวาระ มีใจความสำคัญว่า กองทัพบก ถือเป็นส่วนราชการที่ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และได้แจ้งความประสงค์จะประกอบกิจการต่อ จึงได้จัดทำแผนประกอบกิจการดทรทัศน์ เพื่อขอรับใบอนุญาตจาก คณะกรรมการ โดยเมื่อพิจารณาแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแล้ว คณะกรรมการ มุ่งวิเคราะห์โดยเน้นใน 3 องค์ประกอบ คือ 1.สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้
ผลการพิจารณา ระบุว่า ท้ายที่สุด จะมีการปรับรูปแบบการประกอบกิจการของสถานีให้มีเนื้อหาที่ตอบสนองต่อบทบาทด้านความมั่นคงของกองทัพและของรัฐในทุกมิติ โดยลดสัดส่วนรายการบันเทิงลงตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับสัดส่วนการจัดผังรายการ ตามข้อกำหนดของ กสทช. อย่างเต็มรูปแบบใน ปี 2560 ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการดทรทัศน์กองทัพบกที่กำหนดไว้
“เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ และภารกิจหลัก ของกองทัพบก จะเห็นได้ว่ามีพันธะกิจ เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น เมื่อจากแผนการปรับเปลี่ยน รูปแบบการประกอบ กิจการของสถานีแล้ว จึงถือว่าเข้าข่ายที่จะอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ประเภทที่สอง ตามมาตรา 11 ( 3 ) ( ข ) ประกอบมาตรา 17 ( 1 ) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ได้"
ทั้งนี้ ที่ประชุม มีมติให้ ตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการ ของ ททบ. 5 โดยมีผู้แทน กสท. และผู้แทนสถานีโทรทัศน์ กองทัพบก ( ททบ. 5 )ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการ กสท. เป็นผู้เห็นคัดค้านมติที่ประชุม กสท.ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โดยตังข้อสังเกต ดังนี้
ประเด็นที่ 1 "ดิฉันไม่เห็นด้วยที่ที่ประชุม กสท. มีมติให้กรรมการ 5 คนมาดูแลการดำเนินการตามแผนของ ททบ. 5 โดยคณะกรรมการมาจากตัวแทน กสทช. 2 ราย ททบ. 5 อีก 2 ราย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอีก 1 ราย
ถ้าคณะกรรมการเสียงข้างมาก ใน 5 คนนี้ มีมติให้ ททบ.5 ผ่านการประเมิน ททบ .5 ก็จะเป็นทีวีสาธารณะ ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ดิฉันเป็น คนเดียวที่สงวนความเห็น ไม่ลงมติ เพราะดิฉันเห็นต่าง"
ประเด็นที่ 2 คำถามคือ ความหมายของการเป็นทีวีสาธารณะ ควรจะมีบทบาทอย่างไร ตอนนี้ กสทช. ให้ สิทธิช่อง 5 เป็นทีวีดิจิตอล ช่อง 1 โดยที่ไม่ปรับตัวอะไรเลย แต่มีการเสนอแผนงานมาว่าจะยื่นปรับในอนาคต ซึ่งมันยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม และไม่เป็นธรรม กับอีก 24 ช่องธุรกิจ ที่ประมูลเข้ามาและได้อยู่ช่องหลังๆ
ประเด็นที่ 3 "ดิฉันเห็นว่า ช่อง 5 ควรต้องปรับตัวเป็นทีวีสาธารณะเสียก่อน แต่กลับมีการเขียนรายงานเขียน ให้ ททบ.5 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้สิทธิ์ก่อน และทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐ แต่กลับมีการโฆษณา ได้ 10 นาที ต่อหนึ่งชั่วโมง การให้ โฆษณา ได้ เฉลี่ยชั่วโมง ละ 10 หรือ 8 นาทีนี้ ไม่เป็นธรรมต่อช่องที่เขาประมูลมา ที่เขาหาโฆษณาได้แค่ชั่วโมงละ 6 นาที ดิฉันค้าน ประเด็น เหล่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำทีวีสาธารณะ ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบของ กสทช. เพราะทีวีสาธารณะต้องมีการบริหาร ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ หรือ ทุน แต่เรายังไม่เห็นตรงนี้อย่างเป็นรูปธรรมจาก ททบ.5 แม้จะมีการเสนอแผนย้ายบัญชีการเงินและงบดุลให้แยกกัน แต่ยังไม่มีหลักประกัน ว่าจะเป็นอิสระจากการครอบงำ
"นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหาร และกองบรรณาธิการข่าวที่เป็นอิสระ หากยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ช่อง 5 ก็ยังเป็นทีวีของรัฐหรือของกองทัพ" นางสาวสุภิญญาระบุ
นางสาว สุภิญญา กล่าวว่า จริงอยู่ แม้ตอนนี้ ยังไม่มีการให้ใบอนุญาต แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือมีการเสนอโรดแม็ป มาตลอด เช่นในครั้งนี้ ที่ ททบ. 5 ส่งโรดแม็ปมา แล้ว กสทช. ก็บอกว่าถ้าทำได้แบบนี้จะอนุมัติ แต่ว่าดิฉันยังมองว่า ททบ.5 ยังขาดคุณลักษณะที่เป็นทีวีสาธารณะ ทำยังไง ที่บอร์ด และ กอง บก ควรจะเป็นบอร์ดที่เป็นอิสระ และมีกอง บก. ที่แยกจากหน่วยงานรัฐ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ ตอนนี้ ช่อง 5 ก็ยังเป็นของรัฐ อยู่กับกองทัพ แต่สื่อ สาธารณะต้องไม่ใช่แค่กระบอกเสียงของผู้มีอำนาจ ต้องให้มุมมองที่รอบด้าน
"ดิฉันโหวตอย่างไรก็แพ้ แต่ดิฉันยังขอยืนยันในหลักการเรื่องนี้มาโดยตลอด เป็นเจตจำนงในเรื่องการปฏิรูปสื่อสาธารณะ หากมีแนวโน้มว่าช่องอื่นๆ เช่น ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ก็อาจจะทำโรดแมปในแนวทางนี้เช่นกัน ดิฉันก็จะคัดค้าน สื่อสาธารณะต้องแยกเป้นอิสระจากการครอบงำของรัฐ ช่องอื่นที่เป้นของรัฐ อย่างน้อยควรทำให้ได้เท่าไทยพีบีเอส หรือดีกว่าไทยพีบีเอส"
"ทีวีสาธารณะนั้นมีหลักเกณฑ์สำคัญที่เป็นอิสระจากรัฐ และนำเสนออย่างรอบด้าน ซึ่งหากเน้นที่เรื่องความมั่นคงตามแผนที่เสนอมาก็คงไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ของการเป็นทีวีสาธารณะ" นาวสาวสุภิญญา กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ( กสท.) กล่าวถึงมุมมองที่แตกต่างในประเด็นการเป็นทีวีสาธารณะของ ททบ. 5 โดยกล่าว่า
“กรณี ททบ. 5 มันมีอยู่ 2 คอนเซ็ปต์ที่มีคนเข้าใจผิดกันอยู่ตลอดเวลา ประเด็นแรก คือคำว่าทีวีสาธารณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ไทยพีบีเอส นี่ใช่ เป็นทีวีสาธารณะที่มีกฎหมายเฉพาะ เพราะทีวีสาธารณะถือเป็นของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้เงินภาษีมาดำเนินการ ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือทีวีประเภท บริการสาธารณะ ซึ่งหมายถึงการนำบริการสาธารณะมา บริการผ่านทีวี โดยแบ่ง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรก ประกอบด้วยการศึกษา สาธารณสุข การกีฬา
กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคง กลุ่มความปลอดภัยสาธารณะ และกลุ่ม 3 ประกอบด้วย การบริการข่าวสารของรัฐ เช่น จากรัฐสภา มองในแง่นี้ ททบ. 5 จึงเข้าข่ายเป็นทีวีบริการสาธารณะได้"
พันเอก ดร.นที กล่าวว่า ช่องทีวีบริการสาธารณะ เรากำหนดไว้ 12 ช่อง 3 กลุ่ม แบ่งเป็น 5 ช่อง 3 ช่อง และ 4 ช่องตามลำดับ เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เช่น ในอนาคต ถ้ากระทรวงสาธารณสุขสนใจจะใช้ช่องทางนี้เพื่อเผยแพร่ข่าวสารก็ได้ หรืออย่างช่องการศึกษา ตอนนี้ก็มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง จะมาร่วมกันทำ หรือเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ก็มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับมูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง มาร่วมกันทำเพื่อนำเสนอข่าวสารด้านความปลอดภัย ตอนนี้มีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ในที่สุด เราก็พร้อมจะก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน
พ.อ.นทีกล่าวว่า การพิจารณาโรดแม็ปของ ททบ.5 ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการหารือในเรื่องอื่นๆ ที่รวมทั้งสิ้นมีถึง 10 ระเบียบวาระ โดยเรื่องแผนการดำเนินงานของ ททบ. 5 พิจารณาอย่างต่อเนื่องมา ไม่ต่ำกว่า 1 ปี แล้ว
ด้านตัวแทนองค์กรภาคประชาชนรายหนึ่ง ที่ติดตามการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อก สู่ดิจิตอลทีวี ตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของกองทัพและความไม่เป็นอิสระของ ททบ.5 ว่า
“สื่อมวลชนควรต้องช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบ และตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะตอนนี้ กองทัพมีอำนาจสูงสุด และกองทัพก็เป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย ในบทบาทเช่นนี้ แม้แต่ กสทช ก็ยังถูกห้ามเป็นเจ้าของสื่อ เพราะต้องบริหารอย่างเป็นกลาง แล้วตอนนี้ เมื่อกองทัพเป็นรัฐาธิปัตย์ แล้วนโยบายของกองทัพมากระทบเรื่องสื่อฯ ด้วย และกองทัพถือกรรมสิทธิ์ในวิทยุ โทรทัศน์ด้วย และในช่วงยึดอำนาจ ททบ.5 ก็เป็นสถานีโทรทัศน์ ที่มีบทบาทมากที่สุด ประเด็นเรื่องการได้สิทธิ์และได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของช่องทีวีสาธารณะของ ททบ.5 สังคมจึงต้องติดตามถึงหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส และคำนึงถึงหลักการของการเป็นทีวีสาธารณะที่แท้จริง”
...
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรดแม็ปของ ททบ.5 ที่มีหัวใจสำคัญแบบแยกไม่ออกจากข่าวสาร “ความมั่นคง” ของกองทัพ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่วิวาทะของความเห็นที่แตกต่าง นอกจากนี้ ยังต้องจับตากรรมการทั้ง 5 ราย จากทั้ง กสท. ททบ. 5 และ นักวิชาการสื่อสารมวลชน ว่าจะเป็นใครบ้าง ที่ถูกเชิญมารับหน้าที่ประเมินแผนการดำเนินงาน ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกแห่งนี้!