"หมอประเวศ"เดินหน้าสมัชชาปฏิรูป แนะ รบ.ใหม่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ
นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ให้สัมภาษณ์ วันที่ 31 ก.ค. ถึงทิศทางการทำงานของคสป.ในรัฐบาลชุดใหม่ว่า ตามระเบียบแล้ว คสป.มีวาระการทำงาน 3 ปี ขณะนี้ทำงานมาแล้ว 1 ปี เหลือวาระงานอีก 2 ปี คงเดินหน้าทำงานต่อไปยกเว้นรัฐบาลจะยกเลิกระเบียบ
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักคือการขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็น ธรรมเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานผลักดันทางปัญญา ขณะที่ คสป.ผลักดันพลังทางสังคม คปร.จัดทำเป็นข้อเสนอไว้และยุติตัวเอง ขณะที่คสป.ยังคงต้องทำงานต่อ
"เราไม่เป็นห่วงเรื่องรัฐบาลไหนจะเข้า มา ผมเชื่อว่าหากเป็นข้อเสนอดีๆ เขาปฏิเสธไม่ได้ อย่างกรณีที่เสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันหากผู้ใช้แรงงานมีที่ดินเป็นของตัวเองจะช่วยลดแรงกดดันในเรื่อง นี้ เพราะมีที่อยู่ และมีกิน และจะลดแรงกดดันทั้งสองด้านได้ ถามว่าที่ดินเอามาจากไหน 1.ที่ดินของรัฐ 2.ที่ดินบริจาค 3.การจัดตั้งกองทุนซื้อที่ดิน 4.นักธุรกิจร่วมมือกันซื้อที่ดินให้คนจน" นพ.ประเวศกล่าว
ประธาน คสป.กล่าวว่า หากรัฐบาลสนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดินอาจเริ่มต้นด้วยการปรึกษาหารือกับนัก วิชาการที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) หากรัฐบาลไม่ตอบรับแต่อย่าเพิ่งปฏิเสธเพราะควรช่วยกันดู
เมื่อถาม ว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสะท้อนอะไรบ้าง นพ.ประเวศกล่าวว่า ประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัว การเลือกตั้งมาก แม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ไปกินเป็นประจำยังแทบไม่มีที่นั่ง และถือว่าเป็นพิธีกรรมของประชาชนที่ยิ่งใหญ่มาก ขณะนี้หลายคนอาจจะบ่นว่าเบื่อนักการเมือง แต่ต้องคิดด้วยว่ามีการเลือกตั้งดีกว่าไม่มี และต้องถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ที่สำคัญคือควรมองในมุมบวกเพราะในต่างประเทศหลายแห่งต้องประสบความยากลำบาก และล้มตายจำนวนมากกว่าจะทำให้สังคมเข้มแข็ง
การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในสังคมไทยมีความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ในที่สุดสังคมไทยไม่ได้นิยมความรุนแรงแบบสุดสุด นอกจากนี้หลายฝ่ายกำลังพูดถึงเรื่องการปรองดอง แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯพูดเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี จึงควรถือโอกาสนี้ทำงานสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของสังคม เพราะหากยังปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นมากไปอีก สังคมจะอยู่กันอย่างลำบาก .