ชัยภูมิ ขยายผลเครือข่ายครูสอนดี มอบรางวัล “ครูประกายพรึก” ช่วยเด็กขาดโอกาส
ชัยภูมิ ขยายผลเครือข่าย “ครูสอนดี” มอบรางวัล “ครูประกายพรึก” ช่วยเด็กชัยภูมิขาดโอกาสทั้งจังหวัด
เมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรมสยามริเวอร์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและประดับเข็มเชิดชูจรรยาบรรณครูสอนดีระดับดาวประกายพรึก ซึ่งจัดร่วมโดยสภาส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน จ.ชัยภูมิ (สรช.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยมีนายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ให้เกียรติเป็นประธาน
นายทองอินทร์ เพียภูเขียว ประธานสรช.กล่าวว่า ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดดีเด่นที่มีกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีนั้น ได้มีการต่อยอดขยายผลโครงการครูสอนดีด้วยการชักชวนให้ครูสอนดีจำนวน 329 คนของจังหวัดชัยภูมิมาเข้าร่วม โดยครูสอนดีที่เข้าร่วมจะได้รับการยกย่องเป็นครูดาวรุ่ง ระดับประกายเพชร ส่วนเครือข่ายครูสอนดีที่เข้าร่วมจะได้รับยกย่องเป็นครูดาวรุ่ง ระดับประกายพรึก ซึ่งล่าสุดมีจำนวนทั้งสิ้น 125 คน
นายทองอินทร์ กล่าวถึงเรื่องการศึกษาว่า ไม่มีคำว่าเบ็ดเสร็จสิ้นสุดในตัวเอง เช่นเดียวกับการเรียนรู้ ที่นอกจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้แล้ว ครูเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาปรับตัวตนเองให้เท่าทันยุคสมัยด้วย จึงเห็นได้ชัดว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้น นอกจากเกิดผลดีแก่ศิษย์แล้ว ยังเกิดกระบวนการเรียนรู้ส่งต่อแก่ครูผู้สอน และเครือข่ายครูรอบข้างด้วย
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส กล่าวว่า ขณะนี้การปฏิรูปทุกอย่างกำลังเกิดในบ้านเมืองเรา การศึกษาก็เช่นกัน สิ่งที่เราต้องคิดร่วมกันคือ ต้องการเห็นเด็กเยาวชนไทยในอนาคตเป็นอย่างไร ครูจึงเป็นบุคลากรคนสำคัญที่สุดในโลก เพราะกระบวนการศึกษานั้น สำคัญตรงกระบวนการเรียนรู้ ที่เริ่มต้นและส่งต่อจากครูสู่ผู้เรียน โดยมีการเชื่อมกับผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมทั้งสิ้น เพราะหากบ้านสอนคนละเรื่องกับสิ่งที่เรียนที่โรงเรียน เด็กจะเกิดการเรียนรู้ในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่บ้านและโรงเรียนต้องทำงานร่วมกัน
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน นักวิชาการ สสค.กล่าวว่า ที่สรช.กำลังชวนกันคัดเลือกครูดี เพื่อขยายผลการสร้างครูสอนดีให้เด็กของชัยภูมิก็เป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อคนในจังหวัดตนเอง เพราะปัจจุบันทิศทางใหญ่ของการศึกษานั้นเปลี่ยนจากการศึกษาที่มุ่งเน้นเรียนจากตำรา ซึ่งแยกจากชีวิตจริง เป็นเรียนจากชีวิตจริงและเน้นปฏิบัติจริงในท้องถิ่น โดยปัจจุบันมีเด็กเยาวชนไทยจำนวน 18.7 ล้านคน ประกอบด้วยเด็กประถม 1.5 ล้านคน ปฐมวัย 3 คน (ประถม 5 ล้านคน มัธยม 4 ล้านคน และอาชีวะ 1.2 ล้านคน) โดยมีจุดคานงัดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด ก็คือ 1) ปฏิสัมพันธ์ของครูและนักเรียนในห้องเรียน ต้องมีการเน้นเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับลูกศิษย์ 2) มีกิจกรรมฝึกทักษะและการประเมินอย่างไร และ 3) การนำความรู้มาใช้ และบูรณาการได้จริงในสภาพจริงตามสภาพแวดล้อม