จากสังหาร "คน สธ." ถึงบึ้มโรงพยาบาล ความรุนแรง "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤติหนัก เหยื่อความรุนแรงจำนวนมากเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และผู้หญิง หากพิจารณาตามกลุ่มอาชีพ "ครู" ตกเป็นเป้าต่อเนื่องอยู่แล้ว และปีนี้ก็ถูกยิงเฉลี่ยเดือนละคน
แต่ที่ทำให้ทุกคนตระหนกตกใจไม่น้อยก็คือ การลอบฆ่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาวที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย.57 ซึ่งแม้ไม่ใช่ครั้งแรกตลอด 10 ปีไฟใต้ แต่ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และล่าสุดคือเหตุระเบิดบริเวณลานจอดรถของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 28 พ.ค. ทำให้มีผู้บาดเจ็บไปถึง 10 คน ไม่นับรวมทรัพย์สินทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เสียหายเป็นจำนวนมาก
การโจมตีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งสถานที่ตั้งของหน่วยพยาบาล ถือเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในยามศึกสงครามก็ยังเป็นสถานที่ที่ต้องงดเว้น ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายจึงรับไม่ได้กับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งการฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง...
ขัดหลักกฎหมายสากล
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์เรื่อง "ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะชุมชนและโรงพยาบาลในพื้นที่ขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้" ระบุว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงมากขึ้น นับแต่คืนวันที่ 24 พ.ค.57 มีการใช้ระเบิดในที่ชุมชน ร้านสะดวกซื้อในเขต อ.เมืองปัตตานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 60 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กเล็ก
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 พ.ค. ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์ของโรงพยาบาลโคกโพธิ์อีกนั้น
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีความกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยเฉพาะการก่อเหตุร้ายในโรงพยาบาลและสถานที่ชุมชนอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และผิดกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยของพลเรือน ผู้หญิง เด็ก รวมถึงผู้ป่วย
มูลนิธิฯขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และขอประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ขาดซึ่งเมตตาธรรมของผู้ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ผู้หญิง เด็ก และผู้ป่วยซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งนี้ หลักการสากลตามกฎหมายมานุษยธรรม และกฎหมายว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธ (Law of Armed Conflict) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ใช้ในพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก ไม่อนุญาตให้กองกำลังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดสิทธิของพลเรือน ผู้หญิง เด็ก รวมถึงผู้ป่วย โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงในสถานพยาบาล และบุคคลกรทางการแพทย์ ไม่เฉพาะหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่หลักสิทธิมนุษยชนในอิสลามก็ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก และผู้ป่วย
"ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าพลเรือน ผู้หญิง และเด็กไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และต้องได้รับการเคารพในสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย" อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว
จี้ช่วยกันปกป้องพลเรือน
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า มูลนิธิฯมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.ทุกฝ่ายซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งและเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ต้องเคารพสิทธิผู้หญิง เด็ก และผู้บริสุทธิ์ ต้องยอมรับว่าสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้บริสุทธิ์เป็นสิทธิที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้
2.หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม รวมถึงองค์กรศาสนา ต้องสร้างมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องคุ้มครองพลเรือน ผู้หญิง และเด็ก ในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธให้มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบจากกองกำลังติดอาวุธ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว โปร่งใสและเป็นธรรม และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
ปลัด สธ.สั่งเพิ่มกฎเหล็กดูแล
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดระเบิดในพื้นที่สถานบริการในสังกัด สธ.ที่เป็นโรงพยาบาล ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุบุกเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนเสียชีวิตถึงในสถานีอนามัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี เมื่อ 6-7 ปีก่อน
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น ทาง สธ.มีแผนและมาตรการในการรักษาความปลอดภัยบุคลากรและสถานบริการในสังกัดอยู่ มีการกำหนดแผนและมาตรการความปลอดภัยที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีหน่วยงานที่เหมือน "สธ.ส่วนหน้า" ทำงานอยู่ในพื้นที่ อย่างศูนย์บริการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการเกิดเหตุการณ์รุนแรง เพื่ออำนวยการ สั่งการ และประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้านสาธารณสุขด้วย
"แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ (ระเบิดในโรงพยาบาล) อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น และให้ทุกๆ สถานบริการในสังกัด สธ.เพิ่มความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยมากกว่าเดิม"
ขอปลอดภัยสักที่ได้ไหม?
ด้านเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและประชาชนใน อ.โคกโพธิ์ ได้แสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ระเบิดถึงในรั้วโรงพยาบาลอย่างกว้างขวาง
นายวิรัตน์ สุพรดิฐ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เกิดเหตุถือว่ากำลังชุลมุน ประชาชนกำลังเดินทางเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวบ้าง เยี่ยมญาติบ้าง เป็นช่วงที่คนเยอะ เมื่อเกิดเหตุระเบิดทำให้ชุลมุนยิ่งขึ้น จะไปขยับรถหนีก็ไม่กล้า กลัวมีระเบิดลูก 2 ตามมาอีก
"เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น่าเกิดขึ้น ที่นี่เป็นโรงพยาบาล ไม่ควรเกิดเหตุแบบนี้ เพราะโรงพยาบาลรับทั้งคนดีและไม่ดี ไม่เลือก เขารักษาให้ทุกคน คิดว่าคนที่ทำน่าจะไม่ใช่คน หรือไม่ก็เป็นคนที่ไม่มีศาสนาแล้ว เพราะถ้าคนดี คนมีสติ จะไม่ทำแบบนี้"
นางรุจิราวรรณ มณีพรหม พยาบาลโรงพยาบาลโคกโพธิ์ กล่าวว่า เสียใจที่เหตุการณ์เกิดในโรงพยาบาล เพราะไม่น่าเกิดแต่ก็เกิดขึ้นจนได้
นายอับดุลรอมัน เจะมะ ชาวบ้านศาลาลาก ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ ซึ่งสูญเสียรถจักรยานยนต์ของตัวเองไปจากเหตุระเบิด กล่าวว่า ตอนนี้ยังตกใจไม่หาย ไม่น่าเกิดขึ้นเลย คิดมาตลอดว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดภัย ที่บ้านไม่ปลอดภัย จริงๆ แล้วคนร้ายน่าจะละเว้นสักที่ เพราะที่นี่คนทุกกลุ่มมารักษาเมื่อเจ็บป่วย
"คนที่นี่ไม่มีสถานที่ปลอดภัยแล้วหรือ มาทำที่โรงพยาบาลทำไม ทำไมไม่ไปทำที่อื่น เข้าใจนะว่าจะทำเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ควรมาใช้พื้นที่โรงพยาบาล รู้สึกเสียใจ...เสียใจจริงๆ ไม่รู้จะพูดอย่างไร อยากให้พอเสียที อย่าให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีกเลย ทุกคนเดือดร้อนกันหมดจริงๆ"
ไม่ใช่เป้าหมายแต่ก็ต้องระวัง
ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ คือ เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนจ่อยิง น.ส.จริยา พรหมนวล อายุ 29 ปี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร จ.นราธิวาส เสียชีวิตกลางตลาดนัดหน้าโรงพยาบาลศรีสาคร เหตุเกิดเมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย.57 โดย น.ส.จริยา กำลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน และเป็นภรรยาของตำรวจ สภ.ศรีสาคร
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ น.ส.จริยา ที่ต้องสูญเสียทั้งตัว น.ส.จริยา และลูกในครรภ์ อีกทั้งขอประณามกับการละเมิดสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางอย่างเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และคนชรา
อย่างไรก็ดี แม้จะเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขยังไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่เมื่อทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ สิ่งสำคัญก็คือต้องเพิ่มความระมัดระวังตนเอง
สอดคล้องกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า เหตุการณ์ทำร้ายบุคลากรทางสาธารณสุขที่สร้างความสะเทือนขวัญ คือ ช่วงปี 2550 เป็นเหตุยิงเจ้าหน้าที่ 2 คนบนสถานีอนามัยตำบลประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จากนั้นที่ผ่านมาบุคลากรทางสาธารณสุขแทบไม่เป็นข่าว เพราะเราไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดสรุปได้ยากว่าต้องการทำร้ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือไม่ เพราะดูเหมือนช่วงนี้ กลุ่มเด็ก ผู้หญิง คนทำงานทั่วไปมีแนวโน้มโดนลอบทำร้ายเพิ่มขึ้น กรณีนี้อาจจะไปเทียบเคียงกันได้
แม้ส่วนตัวจะเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่เป้าหมาย 100% แต่การเพิ่มความระมัดระวังตนเองก็ต้องทำ และน่าจะสำคัญที่สุด!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ประชาชนมุงดูความเสียหายหลังเกิดเหตุระเบิดในรั้วโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
อ่านประกอบ : "คนสาธารณสุข"ชายแดนใต้เสี่ยง! กลุ่มภรรยาทหาร-ตร.ตกเป็นเป้า
http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/29107-health_29107.html