ตรวจงาน “บิ๊กตู่” 10 วันหลังรัฐประหาร อนาคตประเทศไทย ใต้เงา "คสช."
“…“ประเทศชาติต้องมาก่อนประชาธิปไตย” หมัดเด็ดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยืนยันในจุดยืนอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดอีก…”
ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจเท่าใดนัก ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลรักษาการณ์ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี
เพราะหากใครที่ติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อาจจะพอเห็น “เค้าลาง” การทำรัฐประหารในครั้งนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต่างคาดการณ์กันไปว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ คำแถลงของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่นั่งแท่น “หัวหน้า คสช.” พร้อมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้เหตุผลของการรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะเกิดเหตุรุนแรงไปทุกหย่อมหญ้า จนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และความปลอดภัยของชีวิตประชาชน
“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย”
กล่าวให้ง่ายก็คือ เหตุการณ์เริ่มส่อเค้ารุนแรงจน “กองทัพ” จำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจควบคุมการบริหารประเทศ เพื่อจะทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรักสามัคคี ไร้ความขัดแย้ง พร้อมกับปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาด “ซ้ำซาก” แบบเดิมอีก
ซึ่งสาเหตุดังกล่าวถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญสูงสุดของ คสช. ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองฯ” เพื่อเตรียมให้แต่ละฝ่ายเข้ามาหารือกัน “หาจุดร่วม – สงวนจุดต่าง” ของกันและกัน ให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้อย่าง “สงบเรียบร้อย”
ดูได้จากปฏิบัติการแรกคือ การเรียกตัว “แกนนำ” ทั้งสองฝ่าย และนักการเมืองจำนวนมาก ซึ่งเกินกว่าครึ่งเป็นคนสนิทชิดเชื้อ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพบเพื่อให้ “ทำความเข้าใจ” กับปัญหาดังกล่าว
รวมไปถึงปฏิบัติการ “ปิดสื่อ – ระงับการเผยแพร่สถานีโทรทัศน์” บางช่อง บางรายการเป็นการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า บางสำนักมีการบิดเบือนในการนำเสนอข้อมูล และสร้างความแตกแยกให้บ้านเมืองอย่างหนักตลอด 9 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์คลี่คลายก็อาจจะไฟเขียวให้ออกอากาศเหมือนเดิม
และเรื่องนี้ก็ถูกยกมาพูดซ้ำอีกครั้งผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันจุดยืนของ คสช. โดยระบุว่า “เราต่อสู้กับด้วยการยึดความคิดของตน หรือกฎหมายแต่ละฝ่ายไม่ได้อีกแล้ว เพราะอาจสร้างความขัดแย้งไม่สิ้นสุด คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุข ประเทศขาดเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นจากต่างชาติเสื่อมถอย”
“ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรองดอง และสมาฉันท์ ยุติการใช้ความรุนแรงต่อกัน สิ่งใดขัดแย้งหรือเห็นต่างต้องอยู่กันให้ได้ก่อน หารือให้ยอมรับทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และคืนความสงบต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า”
“ประเทศชาติต้องมาก่อนประชาธิปไตย” หมัดเด็ดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยืนยันในจุดยืนอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดอีก
ส่วนสำเร็จหรือไม่ก็ให้ดูจากท่าทีของ “แกนนำ – นักการเมือง” บางราย ภายหลังถูกปล่อยตัวออกมา ที่มีท่าที “อ่อน” ลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่บางคนถึงกับ “สาบาน” ประกาศเลิกเล่นการเมือง ตัดขาด “ทักษิณ” ไปเลยก็มี
ด้านเศรษฐกิจก็ไม่น้อยหน้า เห็นได้จาก คสช. เตรียมปัดฝุ่นโครงการต่าง ๆ ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” อาทิ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น พร้อมสำทับเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “จะดำเนินการโครงการทุกอย่างให้โปร่งใส ทุกฝ่ายตรวจสอบได้” เพื่อคลายความกังวลของประชาชนที่ก่อนหน้านี้เคยค่อนขอดโครงการเหล่านี้มาก่อนว่าอาจจะมีการ “ทุจริต” อย่างมโหฬาร
พร้อมกันนี้ยังแบ่ง “โร้ดแม็พ” การบริหารแผ่นดินเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงแรกเน้นสร้างปรองดองให้สังคมสงบ หลังจากนั้นจึงตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คอยร่างกฎหมาย และตั้งสภาปฏิรูปเพื่อ “ล้างไพ่” ทุกองค์กรให้เข้าที่เข้าทางพร้อสรรพ ก่อนจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งแบบ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ต่อไป
นอกจากนี้ยังฝากไปถึงต่างประเทศด้วยว่า ขอเวลาในการปรับเปลี่ยน “ทัศนคติ – ค่านิยม” ของคนในชาติเสี่ยก่อน เพื่อแก้ไข “ประชาธิปไตยของไทย” ให้เป็น “สากล” ทัดเทียมกับอานารยะประเทศ
อย่างไรก็ดี แผนการต่าง ๆ เหล่านี้ บางส่วนต้องยกให้กับคณะที่ปรึกษา คสช. ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เรียกตัวมาเสริมทัพ เป็น “กุนซือ” แนะนำในการบริหาราชการบ้านเมือง
โดยจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนสนิทฝ่าย “บูรพาพยัคฆ์” แทบทั้งสิ้น และบางคนเป็นถึง “ขงเบ้ง” ด้านเศรษฐกิจ และกฎหมาย ที่ได้รับความไว้วางใจในยุครัฐบาล “ทักษิณ” โดยหวังให้ช่วยกันคิดนโยบายเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” และ “เศรษฐกิจ” ให้เจริญรุดหน้าเท่าเทียมกับสากล และเพื่อลดแรงกดดันจากสังคมอีกด้วย
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องจับตาเป็นอย่างแรกก็คือ การจัดตั้ง “คณะรัฐมนตรี” ชุดใหม่ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ระบุว่า จำเป็นต้องดำเนินการ “แต่งตั้ง” ให้แล้วเสร็จก่อนปิดการทำงบประมาณปี 2558 ว่า “หวย” งวดนี้จะออกที่บุคคลใดบ้าง
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของ คสช. ที่วางรูปแบบขั้นตอนการบริหารประเทศไว้อย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมเสิร์ฟเป็นอาหารจานด่วนให้กับประชาชน
แต่รสชาติจะอร่อยถูกปากหรือไม่ ก็ต้องว่ากันอีกทีหนึ่ง !
ทั้งหมดนี่ คือ ความคืบหน้าล่าสุด ในการทำงานของ “บิ๊กตู่” 10 วันหลังรัฐประหาร
ในวันที่อนาคตประเทศไทย อยู่ใต้เงา "คสช." อย่างเบ็ดเสร็จ!