จุดยืนข่าวชุมชนในยุคดิจิตอล
"...หากมีผู้สื่อข่าวชุมชนที่ส่งข่าวอย่างสม่ำเสมอเพียงครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมคิดว่า ปัจจุบันโทรทัศน์ในระบดิจิตอลเกิดขึ้นหลายช่อง ก็ตั้งความหวังเช่นกันว่า ข่าวสารการพัฒนาภาคประชาชนจะได้เข้าไปมีที่ยืนในช่วงข่าว หรือช่วงสารคดีของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลนั้น ๆ ไม่มากก็น้อย เพื่อทำให้เนื้อของโทรทัศน์เหล่านั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"
“พื้นที่สื่อมีมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นหลายช่อง นี่ยังไม่นับรวมกับสื่อออนไลน์ อย่างเฟสบุ๊ค และอื่น ๆ จึงไม่น่ากังวลเรื่องพื้นที่สื่อ ปัญหามีอยู่ว่าเราขาดคนสื่อข่าวที่จะนำเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชนซึ่งมีอยู่มากมายออกมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ต่างหาก”
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หน่วยงานพัฒนาของรัฐ อย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำโครงการฝึกอบรม “ผู้สื่อข่าวชุมชน” ขึ้น
นายสุวัฒน์ คงแป้น หัวหน้าสำนักสื่อสารการพัฒนา เล่าว่า พอช.เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อที่สนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง ความจริงเราเริ่มงานมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยุคที่องค์กรชุมชน รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ชาวบ้านสนใจ และตรงกับปัญหาที่ประสบอยู่ เช่น ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อปล่อยให้สมาชิกกู้โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินนอกชุมชน ตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อหารายได้เสริม ตั้งกลุ่มป่าชุมชนเพื่อดูแลป่า เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทำเพื่อพึ่งตนเอง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากมายหลายแห่ง บางชุมชนก็มีคนไปศึกษาดูงานมาก หลายเรื่องถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ แต่มีอยู่อีกมากที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ ทั้ง ๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
“แต่ทุกวันนี้ ด้วยประสบการณ์นานปี งานพัฒนาของชุมชนก้าวหน้าไปมาก จากการพึ่งตนเองไปสู่ การจัดการตนเอง คือชาวบ้านเริ่มมองในเชิงของการวางแผนชีวิตชุมชนทั้งระบบมากขึ้น เช่น ในตำบลหนึ่ง ๆ ต้องค้นหาว่า ชาวบ้านมีปัญหาอะไร ต้องมีข้อมูล แล้วช่วยกันวางแผนกันทั้งหมด ชวนใครต่อใครมาร่วมวางแผน ว่าปัญหานี้ควรแก้อย่างไร ใครเป็นคนแก้ เรียกว่าเป็นการวางแผนพัฒนาจากข้างล่างสู่ข้างบน ซึ่งองค์กรชุมชนจะเป็นตัวเชื่อมทุกภาคีในตำบลมาพูดคุยกันได้ก็คือ สภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551” หัวหน้าสำนักสื่อสารการพัฒนาเล่าต่อ
การพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อการจัดการตนเองในลักษณะดังกล่าว เรียกว่าการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นมากมาย นอกจากนี้ หลาย ๆ ตำบลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เลือกเอาประเด็นสำคัญที่สุดของตำบลมาทำก่อน เช่น ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินก็หยิบเอาเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินมาทำนำร่อง เป็นต้น ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่ได้ทำเฉพาะจุดเฉพาะด้านแต่แก้ทั้งระบบ ค้นหารากของปัญหาให้เจอแล้วมุ่งแก้ที่โครงสร้างของปัญหา แล้วยกระดับไปสู่การจัดทำข้อเสนอของเรื่องนั้น ๆ ไปสู่การเปลี่ยนนโยบาย หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าการปฏิรูปนั่นเอง
เรื่องเหล่านี้มีรูปธรรมให้เห็นมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งสื่อสารธารณะบางสำนักก็ได้ให้ความสนใจทำข่าวงานพัฒนาเช่นนี้ออกเผยแพร่ แต่ในวงการพัฒนายังขาดผู้ที่มีความรู้ เข้าใจเนื้อหาสาระงานพัฒนาเหล่านี้ ที่จะบอกกล่าวนำออกเผยแพร่อีกจำนวนมาก จึงเห็นว่าคนที่ทำมากับมือนั่นแหละคือคนที่เหมาะที่จะทำหน้าที่หน้าที่สื่อสารเรื่องราวของตนเองให้สาธารณะหรือเพื่อนชุมชนอื่นทั่วประเทศได้รับทราบ
นายสุวัฒน์ เล่าว่าจากแนวคิดดังกล่าว พอช.จึงได้จัดทำโครงการ “ผู้สื่อข่าวชุมชน” ขึ้น โดยรับสมัครแกนนำชุมชน หรือลูกหลานของชุมชนที่สนใจ เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสื่อสารชุมชน เรื่องทักษะการเขียน ทักษะการสื่อสารฝึกฝนกันได้ เราจะฝึกผู้สื่อข่าวชุมชนให้ได้ทุกจังหวัด ๆ ละ 20 คน รวมทั่วประเทศประมาณ 150 คน เราฝึกให้เขียนข่าวเป็น โดยตั้งเป้าว่าถ้าทุกคนเขียนข่าวคนละ 2 เรื่องต่อเดือน เราจะมีเรื่องราวดี ๆ จากชุมชนออกเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ประมาณ 3,600 ข่าว/ปี
ประการถัดมา คือ ทำให้ผู้สื่อข่าวชุมชนแต่ละจังหวัดได้มาประสานพูดคุยทำความรู้จักกับสื่อสาธารณะในจังหวัดของตนเองได้ก็ยิ่งทำให้ข่าวสารของชุมชนถูกเผยแพร่ออกสู่ภายนอกเพิ่มมากขึ้น ประการสุดท้าย ตั้งใจว่าผู้สื่อข่าวเหล่านี้จะประสานด้วยกันเองในระดับภาค เกิดเครือข่ายผู้สื่อข่าวชุมชนในระดับภาคเป็นพลังด้านการสื่อสารชุมชนที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน
“ขณะนี้เราฝึกผู้สื่อข่าวชุมชนครบทั้ง 5 ภาคแล้ว ซึ่งหลายคนมีการส่งข่าวอย่างสม่ำเสมอ ใครที่ส่งข่าวมาเราก็ให้คำแนะนำในจุดที่บกพร่อง เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น บางจังหวัดก็สามารถประสานงานกับสื่อสาธารณะให้ไปทำข่าวในพื้นที่ได้”
นางสาวสุคนทิพย์ จันสน ผู้สื่อข่าวชุมชนจังหวัดชุมพร หลังผ่านการอบรมก็ได้มีการลงพื้นที่ทำข่าวเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชุมพรอย่างสม่ำเสมอ เช่น ข่าวผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ข่าวสารการรวมตัวแก้ปัญหาที่ดินของเครือข่ายชุมชน เป็นต้น
ซึ่งไม่ต่างจากนายธรรมนูญ นาคขำ ผู้สื่อข่าวชุมชนจังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่หมั่นรายงานผลสำเร็จของพี่น้องชุมชนในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยการรวมตัวกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งข่าวเรื่องการที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันปกป้องพืชที่ป่าพรุคันธุลี เป็นต้น
นายสว่าง สุขแสง ผู้สื่อข่าวชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด มองว่า ที่ผ่านมาเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสุดท้ายที่ขบวนองค์กรชุมชนคิด การพัฒนาให้ผู้สื่อข่าวชุมชนสามารถเขียนข่าวการพัฒนาและเผยแพร่สู่สาธารณะได้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะสร้างกระแสงานพัฒนาให้ผู้คนอยากสานต่อ ทั้งจะทำให้เกิดการรับรู้ บทเรียนการทำงาน เกิดการรายงานการทำงานถึงกัน การสื่อสารข่าว และบทความ นำเสนอเรื่องราวอะไรที่ประสบความสำเร็จ มีอะไรต้องแก้ไขร่วมกันบ้าง แต่ก็คาดหวังว่าทุกคนที่ผ่านการอบรมจะกลับไปปฏิบัติการจริงลงไปทำงานในพื้นที่ให้เกิดความเคลื่อนไหวงานสื่ออย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับ นายธนากร มณีศรี ประธานเครือข่ายสื่ออาสาจังหวัดสุรินทร์ ที่มองว่า การพัฒนาบุคลากรของแต่ละจังหวัด เพื่อนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบเป็นเรื่องที่สำคัญ ตนเองคาดหวังคืออยากมาเรียนรู้วิธีการเขียน วิธีการวิเคราะห์ข่าว เพื่อปรับปรุงศักยภาพตัวเองในการเขียนข่าวให้ดีขึ้น และมีส่วนร่วมในการเผยแพร่งานพัฒนา ที่น่าจะส่งผลในทางที่ดี อย่างการนำเสนอปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนจนสู่การแก้ไขในท้ายสุด หรือสื่อสารความดีด้านต่างๆ ของชาวบ้านสู่สาธารณะเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ ทุกคนที่ผ่านการอบรมถือว่ามีศักยภาพในการสื่อสารเป็นอย่างดี การเขียน การพูดคุย มีความเป็นพี่เป็นน้องในภาพรวมน่าจะเดินต่อได้ดี
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เริ่มต้นทำอย่างจริงจัง พอเวลาผ่านไป หากมีผู้สื่อข่าวชุมชนที่ส่งข่าวอย่างสม่ำเสมอเพียงครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมคิดว่า ปัจจุบันโทรทัศน์ในระบดิจิตอลเกิดขึ้นหลายช่อง ก็ตั้งความหวังเช่นกันว่า ข่าวสารการพัฒนาภาคประชาชนจะได้เข้าไปมีที่ยืนในช่วงข่าว หรือช่วงสารคดีของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลนั้น ๆ ไม่มากก็น้อย เพื่อทำให้เนื้อของโทรทัศน์เหล่านั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ทีมผู้สื่อข่าวชุมชน ยังจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างชุมชนกัยสื่อสาธารณะ หรือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อร่วมมือกันในเรื่องนี้เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะร่วมกับผู้สื่อข่าวชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด ผลิตหนังสือพิมพ์ “เสียงไทบ้าน” ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แปลว่าจะมีช่องทางการสื่อสารงานพัฒนาเพิ่มขึ้น และเป็นการเสริมการเรียนรู้ให้นักศึกษา รวมทั้งการสร้างผู้สื่อข่าวชุมชนของเราอีกด้วย โดยจะร่วมกันการออกแบบและกำหนดเนื้อหา อันก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่างานพัฒนาที่ชุมชนกำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือการสร้างประชาธิปไตยจากฐานรากที่แท้จริง ดูอย่างการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าการปฏิรูปเรื่องอะไรก็ตาม หากขาดการปูพื้นฐานหรือขาดการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างตึกที่ไม่ตอกเสาเข็ม ไม่นานก็จะพังลงมา
จึงหวังว่าการสร้างทีมงานผู้สื่อข่าวชุมชน จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยฐานรากมีความมั่นคง .