ชาวเชียงคานฟ้องศาลปค.เพิกถอนอีไอเอ-สัมปทานเหมืองแร่ 3 บริษัท
สมาคมต่อต้านโลกร้อนฟ้องศาลปกครองสั่งเพิกถอนอีไอเอ-สัมปทานเหมืองแร่ 3 บริษัท ‘พาลิน-พรราชันย์-ซัมทองไมนิ่ง’ ส่อขัดกฎหมาย รุกพื้นที่ป่าสงวน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ที่ศาลปกครองกลาง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 70 คน ยื่นฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมป่าไม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 ราย
ภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีอนุมัติให้บริษัทเอกชนได้รับพื้นที่ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบข้อดีข้อเสียของการทำเหมืองแร่ และขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
ดังนั้นจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีคำขอแนบท้ายคำฟ้อง 1.ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่บริษัท พาลิน จำกัด, บริษัท พรราชันย์ จำกัด และบริษัท ซัมทองไมนิ่ง จำกัด แปลงสัมปทานในท้องที่หรือพื้นที่ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย
2.ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 จ.อุดรธานี ร่วมกันหรือใช้อำนาจที่มีในการเพิกถอนใบอนุญาตหรือประทานบัตรของบริษัท พาลิน จำกัด ตามประทานบัตรที่ 32802/16012, ของบริษัท พรราชันย์ จำกัด ตามประทานบัตรที่ 32803/16013 และของบริษัท ซัมทองไมนิ่งจำกัด ตามประทานบัตรที่ 32818/16015 และหรือประทานบัตรอื่นใดในท้องที่หรือพื้นที่ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลยเสีย รวมทั้งการระงับการดำเนินกิจกรรมใด ๆ สำหรับโครงการเหมืองแร่ทั้งหมดในท้องที่หรือพื้นที่ทั้งหมดเสีย
3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้อธิบดีกรมป่าไม้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิกถอนคำสั่งอนุมัติ/อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว และป่าดงปากชม ในท้องที่ต.บุฮม ต.เชียงคาน ต.เขาแก้ว และต.ธาตุ อ.เชียงคาน และต.หากคัมภีร์ ต.ปากชม และต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ไม่ให้เป็นพื้นที่เหมืองแร่ใด ๆ เสีย
4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 รายร่วมกันกำหนดมาตรการ และดำเนินการฟื้นฟูสภาพลำธารที่เสียหายจากมลพิษ จากตะกอนดิน จากการปนเปื้อนสารพิษ และอื่น ๆ ให้กลับคืนสภาพเหมือนดังเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีเองทั้งหมดภายใน 90 วัน นับแต่คดีถึงที่สุดหรือมีคำพิพากษา