ป่วนใหญ่ที่ปลายขวานสะเทือนถึง คสช.
เหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.เมืองปัตตานี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 24 พ.ค.57 ซึ่งมีการลอบวางระเบิดกว่า 20 จุด (รวมทั้งเหตุยิงเครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 และบางจุดที่ระเบิดไม่ทำงาน) แม้จะไม่ได้เป็นสถานการณ์รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดในปัตตานี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายต่อสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากที่สุด เพราะไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหลเป็นเวลาถึง 2 วัน
ต้องยอมรับว่าการสร้างสถานการณ์ในครั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุวางแผนและศึกษาสภาพพื้นที่มาอย่างดี เป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในตัวเมืองปัตตานี โดยกรณีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า ผู้ก่อเหตุรู้ข้อมูลว่าต้องวางระเบิดทำลายเสาไฟตรงจุดไหนบ้างรอบๆ ตัวเมืองจึงจะทำให้กระแสไฟฟ้าถูกตัดขาดจนไฟฟ้าดับทั้งเมืองได้ การปฏิบัติการก็ค่อนข้างรัดกุม เพราะเสาไฟฟ้าเป้าหมายแต่ละต้นมีการวางระเบิดไว้ถึง 3 ลูก
ส่วนการนำระเบิดไปวางในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และนำรถจักรยานยนต์ซุกระเบิดเข้าไปจอดในปั๊มน้ำมันหลายแห่งนั้น ปรากฏว่าผู้ก่อเหตุได้แสดงตัวเข้าไปกระทำการต่อหน้าพนักงานอย่างโจ่งแจ้ง บางจุดคนร้ายตะโกนบอกว่ามีระเบิดด้วยซ้ำ ก่อนหลบหนีไป
รูปแบบระเบิดที่ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์ครั้งนี้มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบในท่อเหล็กแล้วเชื่อมปิดหัวท้าย นำไปวางไว้ที่โคนเสาไฟฟ้าแรงสูง 2.ระเบิดแสวงเครื่องประกอบในกล่องเหล็ก ใส่กระเป๋า แล้วนำไปวางไว้ในร้านสะดวกซื้อ 3.รถจักรยานยนต์ซุกระเบิด นำเข้าไปจอดในปั๊มน้ำมัน โดยระเบิดทั้ง 3 แบบจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลาจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้ตั้งเวลาไว้ไล่เลี่ยกันทุกจุด
ที่สำคัญเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการแจ้งเตือนทางสื่อสังคมออนไลน์ (โซเซียลมีเดีย) ด้วยว่าจะเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ ให้เลี่ยงหรือละเว้นการเข้าไปใช้บริการในร้านสะดวกซื้อ หรือปั๊มน้ำมันในช่วงค่ำวันเกิดเหตุ โดยแหล่งที่มาของการแจ้งเตือนไม่ได้อ้างว่าเป็นข้อมูลข่าวสารของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
ไม่น่าเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี ฝ่ายผู้ก่อการยังสามารถสร้างความเสียหายในลักษณะ "เป็นที่สุด" ได้อีก อย่างนี้สะท้อนว่าการแก้ปัญหากำลังเดินถูกทางหรือใกล้ประสบความสำเร็จแล้วจริงหรือ?
หลังเกิดเหตุมีเสียงวิจารณ์ร่ำลือกันว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง ทั้งท้าทายการยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บ้างก็ว่าเป็นการตอบโต้หลัง คสช.เรียกนักการเมืองคนสำคัญของพื้นที่ชายแดนใต้เข้ารายงานตัว ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวโยงกับการสั่งย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ้นเก้าอี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพราะเป็นข้าราชการที่คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยนิยมชมชอบ
ล่าสุดยังมีเหตุรุนแรงต่อเนื่อง คือ ระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางลานจอดรถจักรยานยนต์ของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 28 พ.ค.ด้วย
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย อย่าง ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ กลับไม่ให้น้ำหนักในประเด็นการเมือง
"การก่อเหตุในเขต อ.เมืองปัตตานี เป็นที่ชัดเจนว่าคนร้ายพุ่งเป้าสร้างความเสียหายกับพื้นที่เศรษฐกิจ รูปแบบการดับไฟทั้งเมืองแบบนี้ ถือว่าเป็น second black out เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุที่ปัตตานี แต่มันเคยเกิดแล้วเมื่อปี 2551 ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ลอบเผาโชว์รูมรถ แต่ครั้งนั้นรุนแรงน้อยกว่าครั้งนี้"
ปัญญศักดิ์ มองว่า การก่อเหตุป่วนเมืองปัตตานีไม่น่าจะเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องการรัฐประหาร เพราะหากให้น้ำหนักในมิติการเมืองแล้ว คำถามก็คือการก่อเหตุระเบิดหลายจุดที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11-12 พ.ค. และ อ.เมืองยะลา เมื่อวันที่ 6-7 เม.ย. จะอธิบายอย่างไร เพราะทั้งสองเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร
"ผมเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพที่ล้มไปมากกว่า เพราะในช่วงที่มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย (นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ (นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น) กองกำลังติดอาวุธที่เป็นพวกก่อเหตุในพื้นที่ และเป็นรุ่นใหม่ ไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย แต่ถูกกดดันจากแกนนำรุ่นใหญ่ไม่ให้เคลื่อนไหวในช่วงที่มีพูดคุยระหว่างกัน ทำให้กองกำลังติดอาวุธไม่สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้มาก"
"ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในช่วงนั้น โดยเฉพาะช่วงต้นของการพูดคุย มีการก่อเหตุในพื้นที่น้อยมาก อาจมีการเคลื่อนไหวตอบโต้บ้างช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมจับกุม แต่แม้จะหยุดก่อเหตุ กลุ่มเหล่านี้ก็ยังสะสมอาวุธและสร้างแนวร่วมขึ้นมาเรื่อยๆ และมีความพร้อมตลอดเวลา แต่หลังจากโครงสร้างอำนาจในพื้นที่เปลี่ยน การพูดคุยล่ม ก็เข้าทางกลุ่มติดอาวุธที่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการที่ทำอยู่แล้ว จึงได้โอกาสออกมาโฆษณาชวนเชื่อต่อคนมลายูในพื้้นที่ถึงความไม่น่าเชื่อถือของรัฐไทย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการออกมาก่อเหตุรุนแรงเหมือนเดิมจากความพร้อมของอาวุธที่สะสมและกำลังแนวร่วมรุนใหม่ที่สร้างขึ้นมา การก่อเหตุจึงครอบคลุมทั้งตัวเมืองปัตตานี" นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา ระบุ
ปัญญศักดิ์ บอกด้วยว่า วันนี้เสียงของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในร้านน้ำชา พูดกันว่า "ย้อนยุค" หมายถึงหลายคนกำลังเป็นห่วงกันว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะย้อนกลับไปเหมือนช่วงต้นๆ ของเหตุการณ์ (ปี 2547-2550) ดูกันง่ายๆ ที่ผ่านมาระเบิดกี่ครั้งกี่รอบ ถนนสาย ม.อ. (ถนนเจริญประดิษฐ์ ทางไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.) ก็ไม่เคยเกิดเหตุเลยแม้ในยามค่ำคืน ทั้งนี้เพราะมีลูกหลานของคนมลายูอยู่เยอะ แต่รอบนี้กลับโดนระเบิดด้วย
บทวิเคราะห์ของปัญญศักดิ์ สอดคล้องกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ระบุว่า เหตุรุนแรงที่ปัตตานีเป็นการก่อเหตุตามแผนของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปฏิบัติการโจมตีพื้นที่เขตเมืองและย่านเศรษฐกิจใน อ.เมืองยะลา กับหลายอำเภอใน จ.นราธิวาสมาแล้ว และพุ่งเป้าไปที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังเพราะก่อผลกระทบกับร้านรวงขนาดเล็กของคนท้องถิ่น ส่วนกำลังคนที่ใช้เป็นกลุ่มติดอาวุธรุ่นใหม่ที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น แม้จะเป็นการก่อเหตุตามแผน ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรในกอไผ่เอาเสียเลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกก่อเหตุรุนแรงในช่วงเวลานี้ ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาเป็นการท้าทายทั้งกฎอัยการศึก เคอร์ฟิว และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะคำถามที่ว่าจะคืนความสงบสุขให้กับดินแดนปลายด้ามขวานได้จริงหรือ?!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดบริเวณลานจอดรถโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กำลังถ่ายรูปรถจักรยานยนต์ของตนที่ได้รับความเสียหายจนเหลือแต่ซาก เพื่อนำไปขอรับการช่วยเหลือเยียวยาและดำเนินการเกี่ยวกับประกันภัย
2 มอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ปั๊มน้ำมันใน อ.เมืองปัตตานี