จับกระแส “ศิลปะสื่อสาร-ต้านรัฐประหาร” เลี่ยงประกาศ "คสช."
"..การแสดงออกใดๆ ในช่วงนี้ ผมว่าขอให้อยู่ในกฎระเบียบที่เขาออกมา หรือหากต้องการจะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ก็ลองดูให้ถี่ถ้วนว่าอะไรที่เราพอจะทำได้ .."
กิจกรรมนัดชุมนุมกันไม่เกิน 5 คน ยืนอ่านหนังสือโดยสงบประมาณหนึ่งชั่วโมง, ชูกระดาษเปล่า ไร้ข้อความต่อต้าน, ใช้เทปปิดปาก, ใช้กระดาษขาววางเรียงเป็นข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนๆ ที่ถูกจับกุม
ทั้งหมด นี่คือ กิจกรรมหลากหลายแนวทางจากประชาชนกลุ่มอิสระต่างๆ ที่เริ่มถูกนำมาใช้และบอกต่อๆ กันในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารอย่างสงบ สันติ และเพื่อหลีกเลี่ยงประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือมีถ้อยความยั่วยุ ปลุกปั่น ซึ่งวิธีการดังกล่าวในมุมมองของนักวิชาการด้านศิลปการละครเห็นว่า ไม่ต่างจากการแสดงงานศิลปะแบบเพอร์ฟอแมนซ์อาร์ต (Performance Art-งานศิลปะที่มีคนแสดงเพื่อสื่อสารความคิดต่อสาธารณะ อาจไร้คำพูดและตัวหนังสือ มีเพียงการกระทำที่ปล่อยให้ผู้คนตีความอย่างเปิดกว้าง )
เมื่อวันนี้ เพอร์ฟอแมนซ์อาร์ตโดยคนธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ถูกนำมาใช้และบอกต่อๆ กันอย่างแพร่หลาย จึงน่าสนใจว่า สารที่พวกเขาเหล่านั้นต้องการสื่อ น่าสนใจกว่าวิธีการธรรมดาๆ อย่างไร
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "ปวิตร มหาสารินันทน์" อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สะท้อนมุมมองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว
@ คุณมีความเห็นอย่างไรต่อกิจกรรมประท้วงการรัฐประหารด้วยการชูกระดาษเปล่า หรือกิจกรรมยืนอ่านหนังสือโดยสงบ ?
ปวิตร : "มองในทางศิลปะมันคือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต แม้มองวัตถุประสงค์แท้จริงของเขาแล้วอาจไม่ตรงกับระเบียบหรือประกาศที่ออกมา แต่ผมว่าผู้ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง ก็น่าจะเปิดโอกาส ถึงแม้ตอนนี้เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะถูกระงับชั่วคราว แต่เราก็ยังเป็นประเทศประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพของประชาชนก็ยังมีอยู่"
@ การที่ประชาชนเลือกใช้วิธีแสดงออกแบบนี้ ส่งผลอย่างไร ?
ปวิตร : "ผมมองว่าการแสดงออก แบบนี้ มันส่งผลและมีเนื้อหาสาระมากกว่าการแสดงออกในเฟซบุ๊ค เพราะการแสดงออกโดยตรงต่อสาธารณะแบบนี้ จะส่งผลเป็นวงกว้างกว่าโดยเฉพาะถ้ามองจากต่างประเทศเข้ามา เพราะมันจะสะท้อนภาพไปยังต่างชาติว่า แม้ในสภาวะที่เราต้องมีการปิดการถ่ายทอดข่าวสารหรือปิดการรับข่าวหลายๆ ช่องทาง แต่ถ้ายังมีความแตกต่างดำรงอยู่บ้าง ภาพลักษณ์ของประเทศที่เผยแพร่ออกไปก็จะดีกว่าการปิดกั้นประชาชน กลุ่มที่ยืนอ่านหนังสือก็เป็นการแสดงออกอย่างสงบ สันติ"
"แต่การแสดงออกใดๆ ในช่วงนี้ ผมว่าขอให้อยู่ในกฎระเบียบที่เขาออกมา หรือหากต้องการจะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ก็ลองดูให้ถี่ถ้วนว่าอะไรที่เราพอจะทำได้ แต่เมื่อวานตอนที่เฟซบุ๊คถูกปิด ผมก็ยังกังวลนะ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าการแสดงออกในที่สาธารณะย่อมส่งผลต่อทั้งในประเทศและระดับโลกได้มากกว่าอยู่แล้ว"
@ ในภาวะที่การรับรู้ข่าวสารถูกจำกัด การแสดงออกที่นำศิลปะมารับใช้แนวคิด สะท้อนอะไรอีกบ้าง ?
ปวิตร : "ผมมองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ผมมองว่าด้วยสถานการณ์การเมืองบ้านเราใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศิลปะบ้านเรายังไม่ได้ถ่ายทอดในสิ่งที่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ ผมว่าจะมีงานที่น่าตื่นเต้นออกมา อาจมีการหาช่องโหว่ทางระเบียบ เพื่อหาช่องทางแสดงออกทางความคิดเห็น เพราะศิลปะไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก ไม่ใช่ของเฉพาะสำหรับศิลปินเท่านั้น แต่ศิลปะมันเป็นเรื่องของคนทั่วไปที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง และที่สำคัญคือการแสดงออกแบบนี้ควรจะมีอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่บ้านเมืองปกติ และมีรัฐธรรมนูญใช้แล้วก็ตาม"
"เพราะในสังคมประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากก็คือ คนเราสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเคารพในความคิดที่แตกต่าง ถ้าคนทุกคนเห็นไปทางเดียวกันหมด มันคงไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ระบอบประชาธิปไตยคือ เราต้องเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน อย่างบ้านผม ก็มีความคิดเห็นทางการเมืองกันคนละขั้วเลย แต่เราก็อยู่กันได้อย่างสงบสุข นี่คือประชาธิปไตย"
@ คุณคิดว่าอะไร คือสาเหตุที่ทำให้มีการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดสู่สาธารณะในภาวะเช่นนี้ ?
ปวิตร : "ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มี คสช. หรือเคอร์ฟิว บ้านเมืองเราก็มีกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอยู่พอสมควร แต่รัฐบาลก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะเขาจะให้ความสนใจไปที่สื่อกระแสหลักอย่างภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ แต่เมื่อเป็นสถานการณ์แบบนี้ ผมว่าการแสดงออกแบบนี้ก็น่าสนใจ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าถ้าศิลปินแสดงความคิดทางการเมืองของเขาออกมาอย่างต่อเนื่อง ผมว่านั่นจะยิ่งน่าสนใจนะ ถ้าเขายังแสดงออกมาแม้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะมันเป็นสีสัน มันทำให้เห็นว่า เรายังเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน และโดยพื้นฐานแล้ว คนไทยมีความสนุกเป็นธรรมชาติ แม้เราคิดเรื่องนี้อย่างจิรงจัง แต่เราใช้วิธีแบบเล่นสนุกกับมันได้"
@ เมื่อการแสดงออกแบบเพอร์ฟอแมนซ์อาร์ตในตอนนี้ เป็นการกระทำโดยคนธรรมดา ไม่ใช่ศิลปินชื่อดัง คุณมองว่าสารที่เขาต้องการสื่อจะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยแค่ไหน ?
ปวิตร : "ตอนนี้ แนวโน้มของศิลปะการแสดงสมัยใหม่ในหลายประเทศ ก็มีการนำคนธรรมดาที่ไม่เคยแสดงงานศิลปะ มาแสดงงานค่อนข้างเยอะ เพราะการที่เป็นคนธรรมดาให้ความรู้สึกที่ว่ามีความปรุงแต่งน้อยกว่า ให้ความรู้สึกจริงใจ และมีความเป็นธรรมชาติกว่าการใช้ศิลปินแสดงเอง เพราะพื้นฐานของศิลปะ ก็ต้องมาจากความจริงใจเช่นกัน ดังนั้น กิจกรรมที่เป็นคนธรรมดาทำขึ้น ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาไม่ใช่ศิลปิน ไม่มีการปรุงแต่ง ดังนั้น ผลที่ได้ตามมาจึงส่งผลมากกว่าการที่เป็นศิลปินเสียอีก ในต่างประเทศ กระแสนี้ก็ได้รับความนิยม เช่น ผมเคยชมงานของต่างประเทศ มีคุณยายแก่ท่านหนึ่ง มานั่งเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาไปเรื่อยๆ และเรารู้สึกว่าเรื่องเล่านั้นมีพลังมาก เป็นพลังของคนธรรมดา"
@ ศิลปะไม่ใช่เรื่องห่างไกล จากวิถีชีวิตคนทั่วไป ?
ปวิตร : "จริงๆ แล้ว ศิลปะ ก็เป็นการแสดงออกของมนุษย์ บางทีเรามักจะมองว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยากหรือเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่โบราณ แต่จริงๆ แล้ว ในแต่ละยุคสมัย แต่ละประเทศ ศิลปะคือเครื่องมือ เป็นช่องทางที่ให้คนทุกคน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ได้แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีความเคลื่อนไหวทางศิลปะในหลายประเทศ ในรูปแบบต่างๆ"
@ ในต่างประเทศ คุณมีตัวอย่างการใช้ศิลปะสื่อสารความคิด ในภาวะที่ถูกจำกัดไหม ?
ปวิตร : "เช่น ในประเทศหนึ่ง ของยุโรปตะวันออก มีการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแสดงความคิด ซึ่งบางทีเขาจะสื่อสารกันแบบลับๆ แอบแสดงละครเวทีให้คนดูในที่แคบๆ แค่ประมาณ 20-30 หรือประมาณ 100 คน เขาสื่อสารกันลับๆ ซึ่งหากเป็นสมัยนี้ก็ไม่ใช่ทางเฟซบุ๊คแน่นอน เพราะอาจถูกสอดส่อง แล้วในประเทศนั้น พอตำรวจรู้ นักแสดงกลุ่มนี้เขาก็จะแกล้งนำเอาไวน์มาเสิร์ฟกัน ทำเป็นเหมือนปาร์ตี้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของคนที่ย่อมต้องมีคนที่เห็นต่างกัน เรื่องนี้ คนที่เป็นผู้กำกับละครเวทีเป็นคนเล่าให้ผมฟังด้วยตัวเอง เมื่อนานมาแล้ว"
" ดังนั้น ผมมองว่าเป็นธรรมชาติ ที่ในทุกประเทศไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบใด ย่อมต้องมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ศิลปะ จึงเป็นช่องทาง เป็นเครืองมือหนึ่ง ผมไม่พูดว่าคนกลุ่มมากหรือกลุ่มน้อย แต่ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง เขาก็ย่อมต้องการแสดงความคิดเห็น ต้องการแสดงออก"
นี่เป็นเสียงสะท้อนจากนักวิชาการด้านศิลปะการละคร ที่มีต่อการแสดงออกของประชาชนที่หันมาใช้ "ศิลปะสื่อสาร" ผ่านรูปแบบต่างๆในภาวะที่สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเดิม!
ขณะที่อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายหนึ่ง ที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการขอคำปรึกษาหากถูกจับกุมหรือถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ระบุกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การต้านรัฐประหารที่แม้จะมีผู้ใช้วิธีชุมนุมเพียง 4 คน ไม่ถึง 5 คน หรือใช้วิธีการยืนถือกระดาษที่ไม่มีข้อความต่อต้าน แต่หากเจ้าหน้าที่ตีความว่าเป็นการยั่วยุ หรือปลุกปั่น ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก็ไม่รอด
"เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ ถ้ากล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือหากเจ้าหน้าที่คิดจะจับก็จับได้ แม้คุณจะชุมนุมแค่ 4 คน หรือคนเดียว เพราะอาจมีการตีความว่าผิด แม้ประชาชนจะยึดถือหลักชุมนุมอย่างสงบ สันติ ตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ถ้าถูกจับกุมก็อาจเข้าข่าย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้"
"หนทางที่ดีที่สุด ให้ใช้วิจารณญาณ อย่าไปอยู่จุดที่ไม่ปลอดภัย ขอให้รักษาชีวิตและอิสรภาพไว้ดีที่สุด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มีรายละเอียดบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”