องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นยื่น 4 ข้อเร่งด่วนถึง คสช.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอต่อ คสช. แนะปฎิรูประบบการเลือกตั้ง ส.ส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความโปร่งใส
วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนปฎิรูปประชาธิปไตยด้วยการขจัดคอร์รัปชั่น” ณ ตึก 5 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ อ่านแถลงการณ์ว่า “สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่จะปฎิรูปมาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่สมบรูณ์โดยการปิดช่องทางในการทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ ทั้งระดับนโยบายจนถึงระดับปฎิบัติการ ครอบคลุมโครงการระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็ง และมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
ในระหว่างที่คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามามีบทบาทในกาสร้างความสามัคคีและความสงบสุขให้กับประเทศชาตินั้น ได้ดำเนินนโยบายที่เน้นความโปร่งใสและรวดเร็วโดยการสั่งการปลดล็อกเรื่องด่วนในหลายโครงการ เช่น จ่ายหนี้จำนำข้าวชาวนา ให้เสร็จใน 20 วัน พร้อมเปิดเผยความเสียหายและการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ,ออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม (รง 4 ) ที่ถูกต้องและยังติดค้างอยู่,ทบทวนโครงการที่ใช้งบประมาณสูงและเป็นธรรม ส่วนโครงการที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง,โครงการรถเมล์ NGV ของ ขสมก.3,000 คัน และแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น
องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นฯ สนับสนุนการดำเนินการของ คสช. ดังกล่าว และเสนอข้อเสนอเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่องคงไม่เพียงพอ ควรมีการปรับโครงสร้างกลไกกระบวนการทำงานภายในให้รากฐานที่แข็งแรง เพื่อสร้างโครงสร้างต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้อย่างโปร่งใส และเป็นรูปธรรมในอนาคต
ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น ขอเสนอให้ คสช. พิจารณาดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ อย่างเร่งด่วน ดังนี้
1.แก้ไขกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และทำระบบเคลื่อนแผนปฎิบัติการให้รากฐานที่ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าบุคคลที่เข้ามามีอำนาจจะเป็นใครก็ตาม
2.ส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ (สตง.) สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและประสิทธิภาพ
3.ส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้เป็นอย่างโปร่งใส เช่น ปรับปรุงกระบวนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้สะดวกและรวดเร็ว กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างสำคัญๆของภาครัฐ
4.ปฎิรูประบบการเลือกตั้ง สส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้นำประเทศบริหารบ้านเมืองโดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความรับผิดชอบ (Accountability) และสำนึกรู้ชอบชั่วดี (Moral)เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่สภา
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มีความพร้อมที่จะเป็นองค์กรหนึ่งในการร่วมทำงานและผลักดันงานปราบปรามการทุจรติคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ได้ศึกษารูปแบบการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายนานาประเทศ และได้นำเสนอประเด็นสำคัญๆ ไว้ในหลายเวทีที่ผ่านมาแล้ว
“เรามีความ”ยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลต่อไป” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวทิ้งทายแถลงการณ์