พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เเรงหวังของ ‘คนตัวเล็ก’ ผลักดันกม.ภาคประชาชน
ย้อนกลับไปยุคหลังรัฐประหาร ปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (1 ต.ค. 2549-29 ม.ค.2551) ซึ่งขณะนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการพิจารณาประกาศกฎหมายทั้งสิ้น 215 ฉบับ จากการเสนอของหลายฝ่าย
หนึ่งในนั้นมีกฎหมายที่มาจาก ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เสนอโดย ครูมุกดา อินต๊ะสาร และพ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 เสนอโดย นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เคยสนใจก็กลับได้รับการผลักดันในช่วงรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งล้วนแต่เป็นกฎหมายดี ๆ ทั้งสิ้น
ช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกอีกครั้ง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการบริหารประเทศ จากรัฐบาลรักษาการ (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) พร้อมยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ดังนั้นอนาคตอันใกล้ ก่อนที่จะมีการพิจารณาผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ๆ เกิดขึ้น
‘วิไลวรรณ แซ่เตีย’ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่า หากศึกษาเหตุการณ์รัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายภาคประชาชนหลายฉบับได้รับการพิจารณาจนสำเร็จ เช่น พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ดังนั้นเราจึงมีความคาดหวังว่า รัฐบาลเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นจะสนับสนุนพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน ซึ่งเคยถูกตีตกไปในรัฐบาลชุดก่อน เพราะถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อชีวิตผู้ประกันตน โดยขณะนี้ได้เตรียมหนังสือยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์แล้ว เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
รองประธาน คสรท. ขยายความถึงข้อเรียกร้องว่า ระบบประกันสังคมนับเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องมีมืออาชีพเข้ามาบริหาร และภาคประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่สำคัญ ควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรประกันสังคมใบเดียวรักษาโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง
“เราต้องการให้รัฐบาลเฉพาะกาลปฏิรูประบบประกันสังคมและระบบแรงงานทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาปัญหาของภาคแรงงานมีความสลับซับซ้อนมาก เนื่องจากขาดผู้บริหารที่มีความเข้าใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหา” เธอ กล่าว และเสนอว่า ให้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่เป็นคนดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีอำนาจตัดสินใจ โดยไม่โน้มเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารงาน แต่ต้องมิใช่นักการเมือง หากต้องเป็นนักวิชาการที่มีคุณสมบัติข้างต้น
ส่วนเวลาที่จำกัดของรัฐบาลเฉพาะกาลจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ วิไลวรรณ ระบุเสียงชัดว่าขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงก็จะออกมาดี ระยะเวลาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเท่านั้น ฉะนั้นต้องนำผลงานเป็นตัวตั้งเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปได้
ฟากกรรมการปฏิรูปกฎหมายอย่าง ‘ไพโรจน์ พลเพชร’ หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ... เห็นต่างว่า การรัฐประหารในอดีตก็มีกฎหมายหลายฉบับที่ไม่ผ่านการพิจารณาเช่นกัน ฉะนั้น การพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่วงรัฐประหาร แต่ต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาของกฎหมายฉบับนั้น หากมีส่วนกระทบต่อผู้ใช้อำนาจมากก็ยากที่กฎหมายจะสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองกำลังอยู่ในขั้นตอนการรณรงค์ในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและขอรายชื่อสนับสนุนอย่างน้อย 1 ล้านชื่อ แต่เมื่อคสช.ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ การดำเนินงานจึงชะงักงัน
ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวแล้ว กรรมการ คปก. ระบุว่า จะต้องกลับมาประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในเบื้องต้นกฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านการรณรงค์สนับสนุนจากภาคประชาชนเป็นหลักก่อนการพิจารณา
ขณะที่พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ.2554 แม้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 พ.ค. 2554 เพื่อหวังสร้างหลักประกันทางรายได้ต่อคนไทยยามชราภาพ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการ อีกทั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ยังมีนโยบายยุบเลิกกองทุนนี้อีกด้วย
‘อรุณี ศรีโต’ ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) บอกว่า เบื้องต้นเครือข่ายได้นัดหารือกันแล้ว และรู้สึกคาดหวังกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่จะทำให้เกิดการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นตามกฎหมาย โดยจะเฝ้าติดตามทวงถามเพื่อให้เกิดการบังคับใช้โดยเร็ว แต่จะต้องรอดูก่อนว่า ผู้นำรัฐบาลและรมว.คลังเป็นใคร
“มีความตั้งใจว่า ถ้ารัฐบาลเก่าไม่อยู่แล้วและรัฐบาลเฉพาะกาลเกิดขึ้น เราก็ควรจะเดินหน้าไปทวงถามดีกว่า ซึ่งทำให้เรามีความหวังมากขึ้น” ประธานคบช. กล่าว และว่า เตรียมจะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ให้เร่งดำเนินการ แต่คงไม่ใช่ระยะนี้ เพราะต้องรอให้การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเสร็จก่อน โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในประเทศ จนกว่าจะไม่มีคลื่นใต้น้ำ
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ เพื่อการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่คาดหวังให้ขับเคลื่อนสำเร็จเร็วที่สุด เพื่อหวังแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ ได้แก่ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ. ..., (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ..., (ร่าง) พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ พ.ศ. ... และ (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. ...
โดย ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ ที่ปรึกษาเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ ก็ยืนยันว่า “หัวใจของการแก้ไขปัญหา คือ ทำอย่างไรจะให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม มีข้อสรุปว่า ควรใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศเขาใช้กันอยู่ในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นระบบทั่วไปที่จะทำให้คนเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นในฐานะที่ตัวเองใช้ทรัพยากรมากกว่าคนอื่น จึงสมควรที่จะมีภาระตอบแทนคืนให้กับสังคม”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ ได้มีการรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 1 ล้านรายชื่อ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของกฎหมายเหล่านี้ โดยมีประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประกาศลั่นจะคอยสนับสนุนอยู่เคียงข้างประชาชนทั้งหลายด้วย
...........................................
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสียงเรียกร้องจาก 'คนตัวเล็ก' ถึงรัฐบาลเฉพาะกาลในอนาคต ซึ่งคาดหวังจะได้กฎหมายที่ตอบโจทย์ความต้องการเเก้ไขปัญหาของประชาชนได้มากที่สุด โดยไม่ถูกปฏิเสธจาก 'คนตัวใหญ่' ในบ้านเมือง .