กปร.นำผลสำเร็จศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขยายสู่เกษตรกร
นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร. ได้จัดทำ “แผนแม่บทศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ขึ้น เพื่อให้ศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่งทำหน้าที่เป็น “แหล่งองค์ความรู้จากแนวพระราชดำริ ขยายผลสู่ประชาชนอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการบริหารจัดการที่ดี สู่วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง”
ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางในการขยายการดำเนินงาน เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ มีขอบข่ายทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในระหว่างปาฐกถาพิเศษในงาน 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ว่า เป็นศูนย์ฯ ที่มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ ทดสอบตามสภาพของภูมิศาสตร์และสภาพปัญหาของการพัฒนา เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปทดลองใช้ตามศูนย์ต่าง ๆ เช่น กรณีศึกษาเรื่องข้าว ว่าข้าวชนิดไหนเหมาะแก่ประเทศไทย ในภูมิภาคไหน หลังจากนั้นจะนำข้าวชนิดนั้นไปทดลองปลูกตามศูนย์ต่าง ๆ ว่าเหมาะสมกับดินชนิดใด เมื่อได้เป็นผลดีแล้ว จึงนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนั้นนำไปเพาะปลูก ต่อไป”
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯ ทั่วประเทศ มีทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2522 นับเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีที่ได้ศึกษาทดลองและมีผลการศึกษาที่ประสบความสำเร็จแล้วในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร การปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีการสาธิตไว้ในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่เกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ที่ศูนย์ศึกษาการ
พัฒนาฯ ใกล้บ้านได้อย่างครบถ้วน หรือเข้าไปรับการอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ กว่า 30 หลักสูตรที่ศูนย์ฯแต่ละแห่งจัดไว้ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สมดังพระราชปณิธานแห่งองค์ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา”“อยากให้ทุกคนร่วมน้อมนำพระราชดำรัสต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำมาปฏิบัติ ผู้ที่มีความรู้ นักวิชาการ ปราชญ์เกษตร ปราชญ์ชาวบ้าน มาช่วยกัน ร่วมมือกันนำความรู้ไปขยายผลต่อ ให้กับพี่น้องประชาชนที่ยังห่างไกล หรือผู้ที่ยังมีความรู้น้อยกว่า ช่วยขยายผลให้มากขึ้น ถ่ายทอดผลสำเร็จและความรู้ความเข้าใจ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรให้มากที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น” องคมนตรี กล่าว.