สำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟเผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2555 (MICS 4)
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2557) สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและ หน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันแถลงข่าว“ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพ.ศ.2555 (Multiple Indicator Cluster Survey : MICS4)” ณ เดอะสุโกศลโฮเท็ล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 – 2549 ซึ่งตรงกับรอบการจัดทำครั้งที่ 3 ในระดับนานาชาติ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า MICS3 สำหรับการสำรวจปี 2555 นั้นเป็นครั้งที่ 2 (MICS4) ซึ่งจัดเก็บข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศรวม 27,000 ครัวเรือน ในระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2555 ข้อมูลที่ได้เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนในเรื่องการสถานการณ์เด็กและสตรี เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับติดตามความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของเด็กและสตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำในลักษณะการสำรวจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Survey) โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ คือแท็บเล็ต ซึ่งภายในแท็บเล็ตมีโปรแกรมสำหรับการบันทึกข้อมูลและมีการตรวจสอบความถูกต้องและสอดคล้องของข้อมูลเบื้องต้นด้วย ทำให้สำนักงานฯ สามารถควบคุมคุณภาพของข้อมูลได้ตั้งแต่งานสนามจนถึงการประมวลผล ผลการสำรวจที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
ภาวะโภชนาการ เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีภาวะทุพโภชนาการเรื่องน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและเตี้ยในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะทุพโภชนาการในด้านต่างๆ ดังนี้ ความสูงเมื่อเทียบกับอายุต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (เตี้ย) ร้อยละ 16.3 น้ำหนักเทียบกับอายุต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 9.2 และสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักเทียบกับความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ร้อยละ 6.7 เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนมาก มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก ส่วนการบริโภคไอโอดีน พบว่า ร้อยละ 71 ของครัวเรือนบริโภคเกลือที่มีไอโอดีนที่เพียงพอ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีเพียงร้อยละ 47.2
การได้รับวัคซีน ตามข้อเสนอแนะขององค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก เด็กที่มีอายุ 12 เดือน ควรได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค 1 ครั้ง วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก 3 ครั้ง วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ 3 ครั้งและวัคซีนป้องกันโรคหัด 1 ครั้ง สำหรับประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดบีเพิ่ม 3 ครั้ง โดยเป้าหมายโลกระบุว่า ร้อยละ 90 ของเด็กทั่วประเทศควรได้รับวัคซีนครบตามจำนวนก่อนอายุครบ 1 ปี สำหรับผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า เด็กอายุ 12 – 23 เดือน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคทุกชนิดมีเพียงร้อยละ 75.1
ความช่วยเหลือในขณะคลอด สตรีอายุ 15 – 49 ปี ที่ให้กำเนิดบุตรในช่วง 2 ปี ก่อนการสำรวจที่คลอดบุตรในสถานพยาบาลมี ร้อยละ 99.6 ภาคกลางมีมากที่สุด ร้อยละ 99.9 และภาคใต้ต่ำที่สุด ร้อยละ 98.6 สำหรับสตรีอายุ 15 – 49 ที่ได้รับการทำคลอดโดยบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขนั้น ในปี 2549 มีร้อยละ 97.3 และปี 2555 มีร้อยละ 99.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวมีประมาณร้อยละ 12.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีเพียงร้อยละ 5.4 ส่วนเด็กที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลางที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.2 ซึ่งต่ำกว่าภาคอื่นๆ เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ร่ำรวยมากมีเพียงร้อยละ 8.6 ที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวซึ่งต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนมากอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 15.8)
การคุมกำเนิด อัตราเจริญพันธุ์ช่วง 1 ปี ก่อนหน้าการสำรวจ คือ 1.8 คน ต่อหญิง 1 คน อัตราการเจริญพันธุ์ของสตรีที่อยู่นอกเขตเทศบาล คือ 2.1 คนต่อสตรี 1 คนซึ่งสูงกว่าในเขตเทศบาล (เกิด 1.5 คนต่อสตรี 1 คน) สตรีมีการศึกษาในระดับประถมศึกษามีอัตราเจริญพันธุ์รวม คือ 2.9 ซึ่งสูงกว่าในภาพรวมระดับประเทศ นอกจากนี้พบว่าสัดส่วนของสตรีอายุ 15 – 19 ปีที่ให้กำเนิดบุตรก่อนอายุ 15 ปีมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ส่วนสตรีอายุ 15 – 49 ปี ที่สมรสหรือมีคู่แล้วในปัจจุบันประมาณร้อยละ 79 กำลังคุมกำเนิด โดยพบว่าในภาคใต้อัตราคุมกำเนิดต่ำสุด คือ ร้อยละ 70 โดยวิธีการสมัยใหม่ (ร้อยละ 77) เป็นที่นิยมใช้มากกว่าดั้งเดิม (ร้อยละ 2) สตรีที่ยังไม่เคยมีบุตรมีความเป็นไปได้ที่จะคุมกำเนิดน้อยกว่าสตรีที่เคยมีบุตรแล้ว
พัฒนาการของเด็ก ร้อยละของเด็กอายุ 36 -59 เดือน ที่สมาชิกในครัวเรือนทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก (อย่างน้อย 4 กิจกรรม ใน 3 วัน ก่อนวันสัมภาษณ์) สำรวจครั้งแรก ร้อยละ 78.6 ครั้งที่ 2 ร้อยละ 92.7 ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สำหรับเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มมีเพียงร้อยละ 42.7
โดยพบสัดส่วนต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 33.8) เด็กในครัวเรือนที่ยากจนมากเพียงร้อยละ 24.1 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม ในขณะที่เด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมากมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70.8
การรู้หนังสือ ร้อยละ 98 ของสตรีอายุ 15 - 24 ปีเป็นผู้รู้หนังสือ โดยสัดส่วนต่ำสุดในสตรีที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ใช่คนไทยที่รู้หนังสือเพียงร้อยละ 48.2 สัดส่วนของการรู้หนังสือเมื่อจำแนกตามภาค อายุ และฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หากเปรียบเทียบอัตราการรู้หนังสือของสตรีอายุ 15 – 24 ปี สูงขึ้นจาก ร้อยละ 96.4 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 98.0 ในปี 2555
การสมรสตั้งแต่อายุน้อย สัดส่วนของสตรีอายุ 15-49 ปีที่แต่งงานก่อนอายุ 15 ปีมีร้อยละ 2.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ซึ่งมีประมาณร้อยละ 2.3 สำหรับสตรีอายุ 15 -19 ปีที่ขณะนี้สมรส/มีคู่แล้วมีประมาณร้อยละ 16 ในจำนวนนี้เป็นสตรีที่ยากจนมากร้อยละ 23.1 อยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 18.7 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19.1 นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 58.7) ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาสมรสแล้ว และร้อยละ 11.3 ของสตรีอายุ 15-19 ปีสมรสกับคู่ที่อายุแก่กว่า 10 ปีขึ้นไป
ทัศนคติต่อความรุนแรงในครอบครัว ภาพรวมร้อยละ 13.1 ของสตรีอายุ 15-49 ปีในประเทศไทยมีความเห็นว่าสามีสมควรทำร้ายร่างกายหรือตบตีภรรยาในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งสตรีที่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 19.8) ยอมรับในการทำร้ายร่างกาย สตรีที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 18.8) รวมทั้งสตรีอายุ 45-49 ปี (ร้อยละ 17.6) ส่วนประเด็นที่สตรีส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าสามีสมควรทำร้ายร่างกายหรือตบตีภรรยา คือ การที่ภรรยาไม่เอาใจใส่ดูแลบุตร (ร้อยละ 10.8) ภรรยาแสดงท่าทีเป็นอิสระต่อสามี ได้แก่ ออกจากบ้านโดยไม่บอกสามี หรือทะเลาะกับสามี (ร้อยละ 4.3 และ 2 ตามลำดับ) นอกจากนี้ สตรีบางส่วนเชื่อว่าสามีสมควรทำร้ายร่างกายหากภรรยาปฏิเสธไม่มีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือภรรยาทำอาหารไหม้ (ร้อยละ2 และ 1 ตามลำดับ)
ดาวน์โหลด : ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 (ฉบับสมบูรณ์)