"อัมสเตอร์ดัม" คุย "ทักษิณ" เตรียมตั้ง รบ.พลัดถิ่นสู้ อ้างหลายชาติพร้อมอุ้ม
"โรเบิรท์ อัมสเตอร์ดัม" ที่ปรึกษากม. ทักษิณ ยันแนวคิดตั้งรบ.พลัดถิ่นสู้มีจริง ขณะที่สื่อดังออสเตรเลีย เผย "แม้ว" กำลังดิ้นเจรจาติดต่อหลายประเทศ ระบุชื่อ "กัมพูชา" มีความเป็นไปได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 นายโรเบิรท์ อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษาทางกฎหมายของกลุ่ม นปช. ได้ตีพิมพ์ คำแถลงเรื่องการพิจารณาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ในเว็บไซด์ http://robertamsterdam.com จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมีใจความว่า จากการที่กองทัพไทยได้ก่อรัฐประหารอันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นั้น
นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมที่ปรึกษากฎหมายอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และขบวนการประชาธิปไตยคนเสื้อแดงแถลงว่า กำลังมีการดำริอย่างจริงจังในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น อันเนื่องมาจาก ได้ทำการยึดอำนาจรัฐอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
นาย อัมสเตอร์ดัมย้ำว่าการกระทำดังกล่าวของคณะผู้นำทหารไทยขาดความชอบธรรม และเป็นการละเมิดทั้งกฏหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด และว่าประเทศไทยมีสถาบันเพียงสถาบันเดียวที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางและได้รับมอบหมายหน้าที่ในการปกครองประเทศคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีพลังจากชัยชนะที่ชัดเจนในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา
"การรัฐประหารที่กระทำโดยโดยกองทัพไทยเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย อีกทั้งกองทัพไทย ไม่ได้รับการมอบหมายจาก คนไทยให้เป็นผู้ปกครองประเทศ ดังนั้นขณะนี้ผู้ที่ได้รับการมอบหมายจากคนไทยให้ทำหน้าที่นี้ผ่านการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมกำลังพิจารณาเรื่องการก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่" นาย อัมสเตอร์ดัม กล่าว
นายอัมสเตอร์ดัมตั้งคำถามเกี่ยวกับการกักบริเวณนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าการกักบริเวณบุคคลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย "ผมขอประณามการกักตัวผู้นำทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และเมื่อคิดถึงประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของกองทัพไทยแล้ว เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้ถูกกักตัวทางการเมืองเหล่านี้ จึงขอให้ประชาคมนานาชาติช่วยจับตามองด้วย
นาย อัมสเตอร์ดัมอ้างในแถลงการณ์ว่าขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศได้แสดงความเต็มใจที่จะให้ที่พำนักแก่รัฐบาลพลัดถิ่นที่ว่านี้ตามกฎระเบียบและหลักปฏิบัติระหว่างประเทศ เขาย้ำว่ากองทัพไม่ได้มี อำนาจตามกฎหมายในการปกครองประเทศและกองทัพได้กระทำการอันเป็นการว่าละเมิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
"ขอยืนยันว่า นี่คือการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเต็มรูปแบบ และ ตามมาตรการทางการทูตต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนไทย " อัมสเตอร์ดัม กล่าว
รายงานข่าวจาก สำนักข่าวเอบีซีออสเตรเลีย เขียนโดย นายปีเตอร์ ลอยด์ อ้างนาย อัมเสตอร์ดัมที่กล่าวว่าขณะนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กำลังเจรจากับหลายประเทศซึ่งเขาอ้างว่าได้เสนอตัวเป็นที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่น โดยสำนักข่าวระบุว่าหากพิจารณาด้านความใกลชิด กัมพูชาน่าจะเป็นที่พักพิงให้อดีตผู้นำของไทยได้ อย่างไรก็ตาม อาจนำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ทางทหารและการตอบโต้จากประเทศไทยที่รู้สึกโกรธแค้นและถูกหยามเกียรติได้
นอกจากนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะยอมฝ่าหลักปฏิบัติเรื่องการไม่แทรกแซงทางการเมือง แล้วยอมให้ที่พักพิงแก่ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหากเป็นเช่นั้น อาจเป็นการทำลายระเบียบทางการเมืองและความราบรื่นของอาเซียน ซึ่งแม้ว่าจะน่าเบื่อแต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยดำรงไว้ซึ่งสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและการพัฒนาทางการเมืองของภูมิภาคมานับทศวรรษ
นายอัมเสตอร์ดัมกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องประเทศที่พำนักสำหรับรัฐบาลพลัดถิ่น แต่กลุ่มเสื้อแดงเชื่อว่ามีรัฐบาลของประเทศจำนวนหนึ่งกำลังจะเสนอสถานที่ปลอดภัยให้
เอบีซี ออสเตรเลียชี้ว่า เป็นที่เข้าใจว่าขบวนการเสื้อแดงมีความต้องการที่จะประกาศเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ต่อสาธารณะโดยเร็ว (http://www.abc.net.au/news)
อย่างไรก็ตาม เอบีซีระบุว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีคำแถลงดังกล่าวแต่อย่างไร
นอกจากนั้น นายปีเตอร์ ลอยด์ ยังตั้งข้อสังเกตในบทวิเคราะห์ต่อท้ายว่า การประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นการตอบโต้ทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งแรกจากทักษิณและกลุ่มเสื้อแดงหลังจากการรัฐประหาร ซึ่งดูเหมือนว่าการประกาศครั้งนี้แสดงถึงความตั้งใจที่จะรับความเสี่ยงจากความขัดแย้งที่จะเพิ่มสูงขึ้นในวิกฤติระยะอันยาวนานนี้ การเล่นเกมอำนาจครั้งนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณอาจเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่จะรบกวนขัดจังหวะ พลเอกประยุทธ์รวมทั้งดึงเอาผู้สนับสนุนติดอาวุธออกมาจากเงามืด
นายลอยด์สรุปว่า รัฐบาลพลัดถิ่นจำเป็นต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็คือนำเสนอต่อชาวโลกถึงทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทย นั้นก็คือระหว่างการกลับไปสู่วิถีแบบที่เคยเป็นมานั่นก็คือระบบเดิมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือการก่อตั้งระบบใหม่ที่เชิดชูสิทธิคนยากจน
ในขณะเดียวกัน เขาเห็นว่ากองทัพก็ทราบดีว่าตนเองขาดทักษะในการปกครองประเทศ และอาจจะขาดความต้องการที่จะถืออำนาจเป็นเวลานานอีกด้วย ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่ายังมีช่องทางของโอกาส (สำหรับฝ่ายเสื้อแดง) อยู่