โครงสร้างการแบ่งงานบริหารประเทศ-อำนาจ หน้าที่"คสช."ฉบับเต็ม
"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนโยบายเฉพาะหน้า และนโยบายระยะยาว เพื่อให้ส่วนงานระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับปฏิบัตินำไปดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้"
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคส่วนต่างๆ ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี
โดยมีการทำความเข้าใจกับการทำ “รัฐประหาร” พร้อมทำแจกแจงหน้าที่การทำงานของแต่ละกระทรวง เพื่อให้ทุกกระทรวงมีแนวทางปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในที่ประชุมมีรายละเอียดการจัดส่วนแบ่งงานดังนี้
เรื่องการจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด จึงกำหนดส่วนงาน อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ ดังนี้
1.การจัดส่วนงาน 3 ระดับคือ
1.1 ระดับนโยบาย : ได้แก่
1.1.1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะฯ 4 ท่าน และเลขาธิการฯ 1 ท่าน
1.1.2 คณะที่ปรึกษาและประสานงานด้านความมั่นคง
1.2 ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ : ได้แก่
1.2.1 ฝ่ายความมั่นคง
1.2.2 ฝ่ายเศรษฐกิจ
1.2.3 ฝ่ายสังคมจิตวิทยา
1.2.4 ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
1.2.5 ฝ่ายกิจการพิเศษ
1.2.6 ส่วนงานขึ้นตรง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
1.3 ระดับปฏิบัติ : ได้แก่ ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบด้วย
1.3.1 กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ หัวหน้าคณะฯ
1.3.2 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย
2.อำนาจหน้าที่ ให้แต่ละส่วนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
2.1 ระดับนโยบาย
2.1.1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนโยบายเฉพาะหน้า และนโยบายระยะยาว เพื่อให้ส่วนงานระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับปฏิบัตินำไปดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้
2.1.2 คณะที่ปรึกษาและประสานงานด้านความมั่นคง มีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร้องขอ หรือที่ริเริ่มขึ้นเอง
2.2 ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีหน้าที่ อำนวยการ ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องตามความรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนด
2.3 ระดับปฏิบัติ มีหน้าที่ ปฏิบัติราชการ ตามนโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนด
3.การแบ่งมอบความรับผิดชอบ
3.1 สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ : มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบหน่วยงาน/ส่วนราชการ ที่ขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงาน/ส่วนราชการ ที่มิได้กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ รวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงานทั้งปวงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีพล.ท.ชาติอุดม ติตถะสิริ รองเสนาธิการทหารบก เป็นรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
3.2 กองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ : มี แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน่วยในบังคับบัญชาประกอบด้วย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ 1-4 (กองกำลังของกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นควบคุมทางยุทธการ)
3.3 ฝ่ายความมั่นคง : มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง และมีพล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ รวม 4 หน่วยงาน ได้แก่
-กระทรวงกลาโหม
-กระทรวงมหาดไทย
-กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
-กระทรวงการต่างประเทศ
3.4 ฝ่ายสังคมจิตวิทยา : มีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และมีพล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ รวม 7 หน่วยงาน คือ
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-กระทรวงศึกษาธิการ
-กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-กระทรวงวัฒนธรรม
-กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
-กรทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3.5 ฝ่ายเศรษฐกิจ : มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ และมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ รวม 8 หน่วยงาน ได้แก่
-กระทรวงการคลัง
-กระทรวงพาณิชย์
-กระทรวงอุตสาหกรรม
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-กระทรวงพลังงาน
-กระทรวงแรงงาน
-กระทรวงคมนาคม
3.6 ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม : มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และมีพล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่
-กระทรวงยุติธรรม
-สำนักงานอัยการสูงสุด
-สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
3.7 ฝ่ายกิจการพิเศษ : มีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ และมีพล.ท.สุชาติ หนองบัว ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกำลังพล เป็นรองหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ มีหน่วยงานและส่วนราชการในความรับผิดชอบ จำนวน 20 หน่วยงาน ได้แก่
-สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)
-สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
-สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
-สำนักงานคณะกรรกมารข้าราชการพลเรือน (กพ.)
-สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
-สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
-สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
-กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)
-สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
-สำนักนายกรัฐมนตรี
-สำนักราชเลขาธิการ
-สำนักพระราชวัง
-สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
-สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
-ราชบัณทิตยสถาน
-สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
-สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
-สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมิน
3.8 ส่วนงานขึ้นตรงกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่
-กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
-สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
-สำนักงบประมาณ
ทั้งหมดคือโครงการสร้างการทำงานของหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงต่อ “คสช.” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นหัวหน้าคสช. โดยอำนาจการบริหารยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เพียงแต่แบ่งงานให้ “รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ได้ทำหน้าที่
ทว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ส่ง “5 เสือทบ.” พร้อมลูกน้องคนสนิทเข้าไปเป็น “รองหัวหน้า” ในแต่ละฝ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบางาน
นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ยังมอบหมายให้ “พล.อ.อุดมเดช” รองผบ.ทบ. ซึ่งได้รับการคาดหมายให้เป็นเต็งหนึ่ง “ผบ.ทบ.” คนต่อไป คอยเป็นแม่บ้านดูแล “สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่สำคัญ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคงควบคุมดูแล “หน่วยงานความมั่นคง” ด้วยตัวเองทั้งหมด
เรียกได้ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จยังอยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
(ภาพการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบ "คสช.")