ดันนายกฯมาตรา 7 สภาสูง ฝ่าทางตันหรือก่อวิกฤต
"..ข้อสรุปจะเอายังไงคิดว่าคงไม่เกิน 7 วัน จากนี้ เพราะเราก็ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด จะได้ข้อสรุปอย่างช้าในส่วนของสว.ไม่เกิน 25 หรือ26 พ.ค.นี้ ยืนยันว่ากปปส.ไม่ได้มาบังคับสว.และตัวสุรชัย ก็ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของใคร.."
เรื่องการให้ได้มาซึ่ง"นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม"หรือนายกฯคนนอก-นายกฯมาตรา 7 สุดแล้วแต่ใครจะเรียกกัน แม้คำแถลงของสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาเมื่อ 16 พ.ค.2557 จะไม่ประกาศเลื่อนเวลาในการเดินหน้าเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจน แต่ก็เห็นได้ชัดว่า สุรชัยแสะสว.จำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนการให้ได้มาซึ่ง นายกรัฐมนตรีคนนอก-รัฐบาลเฉพาะกิจ ยังคงยืนยันจะทำเรื่องนี้แน่นอน ตามคำแถลง 3 ข้อซึ่งข้อสำคัญที่สุดคือข้อสุดท้ายที่ว่า
"วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วน มาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยโดยเร็ว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของประชาชน"
เพียงแต่ดูแล้ว สุรชัยและสว.ในกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นสว.สรรหาและสว.เลือกตั้งอีกส่วนหนึ่ง กำลังรอจังหวะและสัญญาณบางอย่างให้พร้อมเสียก่อนเพื่อทำให้แนวทางดังกล่าวที่สุรชัยและสว.ในกลุ่ม เรียกว่าเป็นการหาทางออกให้กับประเทศ มีความชอบธรรมมากที่สุด
เพื่อให้เห็นทิศทางดังกล่าวว่า สภาสูงจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร "ทีมข่าวอิศรา"ได้พูดคุยกับสว.ทั้งสายสรรหาและเลือกตั้ง ถึงทิศทางของความเป็นไปได้ในการที่วุฒิสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มในช่วงต่อจากนี้ ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนและขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอะไรบ้าง
“พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ” แกนนำสว.ปีกสรรหา ให้ความเห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของสุรชัยและคณะ เป็นแถลงการณ์ความเห็นร่วมของสว.หลังก่อนหน้านี้สว.ได้มีการประชุมกันนอกรอบเป็นกรณีพิเศษมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลอดจนสว.บางส่วนก็ได้ไปเดินสายพบกับตัวแทนกลุ่มองค์กรต่างๆ และการที่มีตัวแทนหลายองค์กรหลายภาคส่วนมาให้ข้อคิดเห็นกับสว. ซึ่งผลการหารือของสว.และการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก็เห็นตรงกันหมดว่าไม่อยากเห็นความรุนแรง แต่ก็ไม่อยากให้มีข้อเสนออะไรที่จะเป็นการเอาฟืนไปเติมในกองไฟจึงเป็นข้อเสนอที่นายสุรชัยแถลงออกมาแบบกลางๆ
"สว.สรรหา"ผู้นี้บอกว่า ในการหารือของสว.ต่อประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่วุฒิสภาจะมีการสรรหาและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 สว.ก็เห็นกันว่ามันอาจมีปัญหาต่างๆตามมาเยอะ ทั้งในแง่ของกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ตอนนี้จะพบว่าตัวบทบัญญัติมันแตกต่างจากที่มีการอ้างเรื่องเหตุการณ์การเมืองในอดีตอย่างมากเช่น ที่อ้างสมัยหลังเหตุการณ์พฤษภาปี 35 จะพบว่าตอนนั้นดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภาเวลานั้นที่เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเวลานั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.หรือมาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งก็มีการพูดกันว่าเวลานี้ก็ยังมีการชุมนุมทางการเมืองกันอยู่โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะที่มีการไปปลุกระดมกันไว้ หากมีการเสนอนายกรัฐมนตรีกัน ก็จะทำให้ปัญหาแทนที่จะยุติแต่จะเกิดเหตุรุนแรงเหมือนเมื่อปี 53 อีกครั้ง
"สว.เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุ เราก็เห็นใจจริงๆ เพราะมวลชนกปปส.ที่มาเขาก็มาด้วยอุดมการณ์จริงๆ มีหลายภาคส่วนก็มากันเอง กปปส.เขาก็เต็มที่กัน เราก็หนักใจ เขาก็ทำเต็มที่ แต่ระบบมันเป็นแบบนี้ ถามว่ามันจะเดินไปต่อได้ไหม ตอนนี้ก็กำลังมีการเจรจากันอยู่กับทางรัฐบาล ก็ต้องดูว่าทางรัฐบาลจะยอมไหมเพราะเวลานี้ความถูกต้องในการเป็นรัฐบาลของเขาก็ไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ที่มาดำรงสภาพรักษาการเวลานี้ทางกฎหมายหลายคนก็บอกว่าไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ รัฐบาลก็อยู่ไปแบบนี้ แต่ไม่มีอำนาจเต็มที่ ถามว่ารัฐบาลจะยอมไหม เราก็กังวลแต่มันก็ไม่มีทางอื่นที่สว.จะทำได้มากกว่านี้"พล.ร.อ.สุรศักดิ์ระบุ
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ เผยข้อหารือของสว.หลายคนถึงข้อเป็นห่วงในการจะให้ได้มาซึ่งนายกฯคนนอกที่เกิดจากวุฒิสภาว่า สว.หลายคนก็คุยกันหลายประเด็น เช่น ขั้นตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เราก็ไม่รู้ว่าจะเสนอชื่อใคร จะเอาใครมาเป็น ไหนจะขั้นตอนการทูลเกล้าฯอีก ก็ยังมีความไม่ชัดเจน เพราะมันก็ยังไม่จบ อย่างตอนนี้ดูแล้วรัฐบาลก็เอาเรื่องไปเก็บไว้อยู่ในเรื่องการเสนอชื่อนายสุรชัย เป็นประธานวุฒิสภาทั้งที่เราได้เลือกมาแล้ว การทำมันก็มีข้อเสียเปรียบในทางข้อกฎหมาย สว.ก็เห็นว่ามันก็ควรต้องออกมาแบบที่สุรชัยแถลงไปก่อน อย่างน้อยในคำแถลงเราสว.ก็ได้ชี้ไปอีกทีว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป.ป.ช.ได้วินิจฉัยกันไปก่อนหน้านี้มันถูกหมด เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะอดีตนายกฯ(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มันก็ชัดเจนแล้ว
"...ผมก็เข้าใจกปปส.เขา เขามาว่าอะไรสว.เราก็ไม่ได้โกรธเขา เพราะก็รู้ดีว่ามันต้องเป็นแบบนี้ แต่หากเราไปฟันธงทันทีเลยว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีกันเลย คราวนี้มันอาจจะยุ่งเลยนะ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็คงไม่ยอม ก็มีการปลุกระดมออกมาสู้กันหมด"
"ความเห็นของผม ทางออกที่ดีที่สุดจะให้ใครตัดสินก็ไม่ได้แล้ว ก็ควรต้องทำประชามติ เช่นฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ควรมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลาง อีกฝ่ายบอกให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนกลาง ก็ถามประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะเอาอย่างไร ผลออกมาอย่างไรก็ต้องจบ แต่กระบวนการทำประชามติ ขั้นตอนมันก็อาจยุ่งยาก ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ค่อยใช้กฎหมายประชามติให้เป็นประโยชน์เหมือนประเทศอื่นๆ อย่างในยุโรป เขาทำกันบ่อย และใช้เวลาไม่นานอย่างล่าสุดที่ยูเครน ทำกันไม่นานก็จบเรื่องแล้ว แต่ของเราไปคิดมากเพราะความไม่เคยเพราะฝ่ายผู้มีอำนาจเราพอดูแล้วหากทำประชามติถ้าสู้ไม่ได้ก็จะไม่ทำ
ช่วงต่อจากนี้สว.ก็คงต้องไปดูกันว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจดูแล้วน่าจะประคับประคองไปได้อยู่ เพราะโครงสร้างราชการเรายังแข็งแกร่งอยู่ ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงยังทำหน้าที่ได้แล้วการจัดทำร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 58 ที่เป็นห่วงกัน งบบริหารก็ใช้งบของปี 57 ไปก่อน แต่ในส่วนของงบพัฒนาต่างๆ ก็ต้องชะลอไปก่อนแต่ดูแล้วคงไม่เป็นอะไรมากนัก"
เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้ควรหาทางออกให้ทำประชามติดังกล่าวจะล่าช้าเกินไปหรือไม่ "พล.ร.อ.สุรศักดิ์" กล่าวยอมรับว่าข้อเสนอนี้ก็มีสว.บางคนบอกว่ามันจะช้าแล้วเกิดความเสียหาย ผมก็บอกว่ามันไม่มีทางแล้ว เพราะการแก้ปัญหามันไม่ได้ใช้เวลา 1-2 วัน มันเป็นไปได้อยู่แล้ว อย่างการทำประชามติมันต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน แต่ทำแล้วมันได้ข้อยุติทุกคนก็ต้องยอมแล้ว เช่นถามไปเลยว่าจะเลือกหรือไม่เลือกนายกรัฐมนตรี
"ถามประชาชนว่าจะเอาด้วยหรือไม่เอาด้วย หรือไม่ก็ถามไปเลยว่าจะให้ปฏิรูปก่อนหรือปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง ก็ให้มันจบไปเลย แบบนี้ก็จะเถียงกันไม่ได้แล้ว ระหว่างพรรคการเมืองหนึ่งที่อยากให้เลือกตั้งเร็วกับพรรคที่ต้องการให้ช้า แต่ดูแล้วก็ไม่รู้ข้อเสนอแบบนี้จะไปได้หรือไม่ เพราะอย่างฝ่ายต่อต้านก็พยายามจะบอกว่าสว.ไม่มีอำนาจในการทำ แต่จากตอนนี้อย่างที่มีการเลือกตั้งก็เห็นแล้วว่ามันไปไม่ได้แล้ว ที่พยายามจะเดินกันไป แล้วก็เสียเงินงบประมาณไปแล้วก็ยังเกิดเหตุวุ่นวาย" พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
@ คำแถลงของสุรชัยและคณะ บอกว่าวุฒิสภาพร้อมประชุมนัดพิเศษเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ?
ก็ถ้าฝ่ายสว.ไปคุยกับรัฐบาลแล้วฝ่ายเขาไม่ร่วมมือเลย มันก็ไม่มีทางเลือกแล้ว เพราะอย่างหนึ่งก็คือรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ แต่รัฐบาลเขาก็ไม่ยอมรับในเรื่องนี้
@ จะเป็นไปได้ไหมที่วุฒิสภาจะเลือกนายกฯ
เราก็หนักใจ อย่างเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ค่อนข้างเขียนไว้ปิดช่องพอสมควรเช่นมาตรา 172 ไม่ให้ไปเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
“ปัญหาขณะนี้มันต้องใช้เวลา อยากให้ทุกคนหยุดนิ่งหมดก่อน ถ้าเป็นไปได้อยากให้กลุ่มที่ชุมนุมทั้งสองฝ่ายกลับบ้านไปก่อนแล้วไปตั้งหลักกันใหม่ แล้วปล่อยให้กระบวนการเดินไป แล้วก็ให้หน่วยราชการมาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเช่นเรื่องเศรษฐกิจ แต่แนวทางต่างๆ สว.ก็ต้องมีการไปหารือกันอีกที ก็อยากให้มีการคุยกันระหว่างสว.กับรัฐบาล ต้องมีความร่วมมือ
ใจจริงผมเองก็อยากให้มีรัฐบาลแห่งชาติ แล้วให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมกันหมด ทั้งกปปส. นปช. ที่อำนวย คลังผา เสนอผมว่ามีเหตุผล แล้วอยู่กันสัก 6 เดือนแล้วก็ไปเลือกตั้ง แล้วก็ไปดูผลการเลือกตั้งกันไป ช่วงเป็นรัฐบาลแห่งชาติตรงไหนที่แต่ละฝ่ายเสนออะไรกันมาก็ทำไป เช่นสภาประชาชน สภาปฏิรูป ซึ่งตรงนี้จะทำได้ก็ต้องใช้กลไกกฎหมาย ก็ดูว่าจะทำได้อย่างไร"พล.ร.อ.สุรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
อีกความเห็นหนึ่งจากสว.สรรหาสายนักวิชาการคือ “รศ.พญ.พรพันธ์ บุญยรัตพันธุ์” ให้ความเห็นว่าคำแถลงของสุรชัย ต้องอ่านและมองระหว่างบรรทัดจะเห็นได้ ว่า สว.มีความเห็นตรงกันคือประเทศไทยขาดนายกรัฐมนตรีนานไปแล้วและรัฐบาลที่รักษาการอยู่เวลานี้ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ มีข้อจำกัดข้อขัดข้องทางกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายมากมายต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนของชาวนา การบริหารงบประมาณบริหารประเทศ มันก็ทิ้งไว้แบบนี้ไม่ได้ และสว.เรายังเห็นว่า กกต.ที่ได้คุยกับสว.ก็บอกว่าไม่ต่ำกว่า 6 เดือนอย่างเร็วที่สุดถึงจะจัดการเลือกตั้งได้ ถ้าดูความจริงกันตอนนี้หากจะพยายามเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง โดยที่ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มันก็อาจจะไปซ้ำรอยการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่เป็นโมฆะ ก็จะเป็นการเดินหน้าจัดเลือกตั้งที่ไปสู่ความสูญเปล่า เสียเงินงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
"...สว.เราก็เห็นตรงกันว่า คงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปีนี้ และเราก็เห็นว่าเราคงไม่สามารถเห็นประเทศชาติย่อยยับไปโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ สว.ก็ต้องพยายามทำทุกทางจากที่เราทำอยู่ แต่บางครั้งขั้นตอนบางขั้นตอน มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้กำหนดเอง เราพูดไม่ได้ เราก็ต้องรอ ยืนยันว่าสว.เราพยายามทำตามกรอบ เราได้ศึกษารัฐธรรมนูญมาหมดแล้ว ก็ต้องว่าไปตามขั้นตอน แต่ขอเวลาอีกนิดหนึ่ง ก็อาจจะสัก 1-2 วัน แต่เราก็รู้ว่านานไม่ได้ จะให้เราทำเสร็จภายในวันที่เท่าไหร่แบบนี้สว.เราพูดไม่ได้"
@ ดูแล้วฝ่ายรัฐบาล นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีคงไม่ยอมง่ายๆ ลาออก แบบนี้ ก็ยื้อไปเรื่อยๆ?
เขาที่เป็นรัฐบาลรักษาการเวลานี้น่าจะต้องรู้ความเป็นจริงของประเทศไทยในวันนี้ ตัวคุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ก็ยังอยู่กรุงเทพมหานครไม่ได้เลย แล้วเขาจะบริหารประเทศได้ยังไง ประเทศไทยไม่ใช่ของใครที่จะมายื้อประลองกำลังกัน มันไม่ใช่ ก็หวังว่ารัฐบาลจะใช้สามัญสำนึกของความเป็นคนไทยที่จะตัดสินใจโดยเห็นแก่ประเทศชาติ
ถามว่า หากวุฒิสภาจะโหวตเลือกนายกฯคนกลาง คิดว่าสว.ทั้งหมด 150 คนจะเห็นด้วยไหม รศ.พญ.พรพันธ์ บุญยรัตพันธุ์” ตอบว่าคิดว่าสว.ทั้งหมด 150 คน ที่จะต้องหยั่งรู้และรับรู้ด้วยว่าประเทศไทยในขณะนี้เป็นอย่างไรและเชื่อว่ามีสว.เสียงจำนวนมากที่เห็นว่าเรามีความจำเป็นจะต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ถูกต้องมาบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด สว.ก็พยายามจะใช้ช่องทางที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
@ เกรงไหม ถ้าเลือกนายกฯคนกลางจะมีความรุนแรง การต่อต้าน สงครามกลางเมืองเกิดขึ้น ?
การตัดสินใจของวุฒิสภา ก็ต้องยึดหลักความเป็นจริง คือคงไม่สามารถทำให้ถูกใจใครได้ทั้งหมด แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการตัดสินใจนั้นมันถูกต้อง มีเหตุมีผล มันสมควรหรือไม่ และเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ก็หวังว่าหากสว.เราตัดสินใจไปแล้วหากมีผลกระทบใดๆ ก็หวังว่าฝ่ายที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง อย่างเช่น ทหาร ตำรวจ ต้องออกมารับผิดชอบหากเกิดเหตุความไม่มั่นคงหรือเกิดความวุ่นวายขึ้น หากสุดท้ายสิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนมุมมองจากสว.สายเลือกตั้งที่เป็นสว.ป้ายแดงเพิ่งทำงานกันได้ไม่ถึงเดือน ต่อเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลาง ก็น่าสนใจไม่น้อย
เช่นความเห็นของสว.อีสานอย่าง” วิรัช พิมพะนิตย์-สว.กาฬสินธุ์” ที่เกริ่นออกตัวเลยว่าแม้จะเป็นสว.ภาคอีสานแต่ก็ไม่ได้เป็นสว.สายเพื่อไทยอย่างที่บางฝ่ายอาจเข้าใจไปก่อนหน้านี้ โดยความเห็นของ สว.อีสานผู้นี้บอกว่ากับสถานการณ์เวลานี้ ลำดับแรก อยากให้มีความชัดเจนในเรื่องสถานภาพของนายนิวัฒน์ธำรงและครม.รักษาการเวลานี้ว่าอยู่โดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากนิวัฒน์ธำรง เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีโดยมีอำนาจเต็มเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่างก็ควรจะให้รัฐบาลไปดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ
...แต่ถ้ารัฐบาลอยู่โดยไม่ชอบ วุฒิสภาก็ลุยเลยในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพราะตอนนี้ทั้งฝ่ายต่างก็มีม็อบสนับสนุน วันนี้ไม่อยากให้คนไทยทะเลาะกันอีกแล้ว ถึงคราวต้องสงบกันเสียที ถ้าวันนี้วุฒิสภาจะดันเรื่องนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ไปตอนนี้เลย คนเสื้อแดงก็คงเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เท่าที่ดูตอนนี้ ตอนนี้มันก็มีเค้าลางว่าน่าจะจบแล้ว ตัวสุรชัย เท่าที่ดูก็เห็นว่าปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ถ้าวุฒิสภาทำมีกฎหมายรองรับหรือไม่
“อีกไม่กี่วันข้างหน้า ป.ป.ช.ก็จะส่งเรื่องอดีตสว.-ส.ส.ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน แล้วหากเราทำอะไรไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ วันข้างหน้า เราก็อาจจะถูกคนอื่นเขาถอดถอนได้ คือสว.ชุดนี้กำลังจะต้องมาถอดถอนคนอื่นและอาจจะถูกคนอื่นเขายื่นถอดถอน สว.เลือกตั้งตอนนี้หลายคนบอกเลยว่าต่างกังวลใจเรื่องนี้กันมาก ตอนนี้พวกเราสว.เลือกตั้งเพิ่งเข้ามาทำงานกันได้แค่ไม่เท่าไหร่ เราก็อยากให้การทำอะไรของเรามันต้องอิงหลักกฎหมายเอาไว้”
@ หากจะมีการเสนอให้โหวตเลือกนายกฯคนกลาง พร้อมหรือไม่?
วันนี้ขอฟังผู้ใหญ่ในวุฒิสภาก่อน ต้องยอมรับกันว่าสว.บางคนก็มีธงมาว่าจะทำอย่างไร แต่ทำเองก็ทำไม่ได้ ก็ต้องมาพูดคุย การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ต้องดูความชัดเจนในตัวรัฐบาลก่อน หากไม่ชัดเจนผมก็จะไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าชัดเจนก็พร้อมโหวต เช่นรัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาล ตอนนี้พวกสว. หลายคนก็บอกว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ชอบธรรม อยู่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากมีการประชุมสว.นอกรอบเช่นที่จะนัดสว.เลือกตั้งคุยกันในวันพุธที่ 21 พ.ค.นี้ ก็อยากให้ผู้ใหญ่มาอธิบายให้พวกผมฟังด้วยว่าไม่ถูกต้องอย่างไร
"ถ้าฟังแล้วเห็นด้วยว่ารัฐบาลอยู่โดยไม่ชอบธรรม ผมเอาด้วยจะโหวตนายกคนกลาง แต่ถ้าฟังแล้ว ดูแล้วเห็นว่ารัฐบาลยังมีความชอบธรรมอยู่ แล้วจะทำยังไง ไปคุยกับเขาให้รัฐบาลลาออกไปทั้งหมดได้ไหม ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว วุฒิสภาต้องให้โอกาสทุกฝ่ายทำความชัดเจนเรื่องนี้ก่อน
ผมอยากให้บ้านเมืองสงบ เพราะตอนนี้บ้านผม คนที่อยู่ในเขตเมืองก็ขนกันไปอยู่กับกปปส. ส่วนนอกเขตเทศบาลก็ขนกันไปอยู่ที่ถนนอักษะกัน ผมว่าคนกาฬสินธุ์ที่เข้าไปอยู่ในกรุงเทพก็จะฆ่ากันเอง ผมอยากให้รีบๆตัดสินใจกันได้แล้ว ก็เห็นแต่ได้ยินข่าวว่าเขาอาจจะคุยกันได้แล้ว ฝ่ายหนึ่งก็จะเอาพลเอก”ป”อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเอาคนที่ชื่อ”ช”แต่ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องโปรโมชั่นเรื่องความผิดอะไรต่างๆ ก็รีบตกลงกันไปบ้านเมืองจะได้ไปได้เสียที มีข่าวว่าจะนัดประชุมสว.บางส่วนในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ก็คงมีโอกาสจะได้หารือกันเสียทีว่าจะเอาอย่างไร แต่เรื่องนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนในการคุยกับฝ่ายรัฐบาลเสียก่อน วันนี้มันต้องสรุปได้แล้ว คนมันอึดอัดแล้ว กลุ่มหนึ่งเขาอยู่มาร้อยกว่าวันแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งก็มาอยู่อีกที่ร้อนก็ร้อน”สว.อีสานผู้นี้ระบายความรู้สึกต่อสถานการณ์การเมืองเวลานี้
อีกหนึ่งความเห็นของสว.สายเลือกตั้ง ต่อเรื่องการเลือกนายกฯคนกลาง คือ”ทวี ภูมิสิงหราช สว.พัทลุง”ให้ความเห็นไว้ว่า แนวทางที่กปปส.เสนอมากับสว.หลายคนไม่ได้แตกต่างกัน ต่างเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่การดำเนินการของสว.ต้องขอเวลาในการทำเพื่อทำให้ข้อเสนอต่างๆ มีความชอบธรรม เราต้องการกรอบเวลาการทำงานอีกสักระยะ อย่างก่อนที่จะมีข้อสรุปอะไรก็ต้องฟังให้ครบเช่นฟังจากฝายรัฐบาลด้วย เพราะหากฟังแต่ข้อเสนอของกปปส.ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่าสว.ฟังความข้างเดียว
สว.พัทลุง กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจด้วยว่าสว.มีความเป็นกลาง ตอนนี้พยายามหานายกรัฐมนตรีที่เป็นกลาง หาทางออกให้กับประเทศไทย สว.ก็เข้าใจดีว่าตอนนี้ทุกฝายต่างก็เหนื่อยและล้า แต่การหาทางออกให้กับประเทศไทยเพื่อไม่ให้เกิดภาวะสงครามกลางเมือง เราคนไทยด้วยกันก็ต้องเจรจากันเพื่อความอยู่รอด คิดว่าวุฒิสภาคงใช้เวลาอีกไม่กี่วันในการหาทางออกให้กับประเทศให้ได้
"ข้อสรุปจะเอายังไงคิดว่าคงไม่เกิน 7 วัน จากนี้ เพราะเราก็ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด จะได้ข้อสรุปอย่างช้าในส่วนของสว.ไม่เกิน 25 หรือ26 พ.ค.นี้ ยืนยันว่ากปปส.ไม่ได้มาบังคับสว.และตัวสุรชัย ก็ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของใคร"
เราคิดอยู่อย่างเดียวว่าวันนี้จะหาทางออกให้กับประเทศไทยได้อย่างไร เพราะตอนนี้ก็ไม่มีรัฐบาล ไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีส.ส.ก็มีแต่สว.อย่างเดียวทุกคนก็บอกว่าสว.ต้องมาแก้ไขปัญหา ก็นี้คือวิธีการแก้ปัญหา ตัวสุรชัย ก็ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ทุกฝ่ายทุกคนก็พยายามทำงานกันอยู่”
@ ความเป็นไปได้จะมีนายกฯคนกลาง นายกฯมีอำนาจเต็ม?
วันนี้ข้อสรุปคือต้องมีนายกฯคนกลาง เพราะทุกภาคส่วนก็เสนอกันมา และต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝายคือฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อีกฝายบอกต้องเลือกตั้งก่อน ที่ตกลงกันได้ ก็มีหลายคนบอกถ้าอย่างนั้นก็เอาแบบครึ่งๆ ได้ไหม หาคนกลางมาอยู่สัก 5-6 เดือนหรือไม่เกินหนึ่งปี จะปฏิรูปอย่างไรก็ไปทำให้ชัดแล้วอีกฝ่ายยอมได้ไหม
อย่างเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ผมดูแล้วหลายภาคส่วนไม่ค่อยเห็นด้วย แล้วนายกฯคนกลางก็ไม่ได้มาอยู่ยาว มาอยู่แค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ผมว่าน่าจะคุยกันได้
@ ท่าทีของสว.ทำให้มวลชนกปปส.ผิดหวัง?
เราก็พยายามทำดีที่สุดแล้ว จะให้ถูกใจทุกคนก็ลำบาก ผมก็เข้าใจเลขาธิการกปปส.อยากให้จบเร็วเพราะหากล่าช้าไปประเทศก็เสียหาย หลายภาคส่วนต่างก็เจอกับปัญหากันหมดทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อยู่ในสภาพข้าวยากหมากแพง ข้อสรุปก็ไม่ควรเกิน 26 พ.ค.แล้ว เพราะหากเกินเวลานี้ไปมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร คือถ้าเกินช่วงนี้ไป มีการคุยกันหมดแล้วหาข้อสรุปได้แล้ว แต่ยังเกินจากช่วงเวลานี้ไปอีก ก็ไม่รู้จะเดินไปทางไหนอีกแล้ว
"ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 7 บอกไว้ ว่าให้ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ตัวนายกรัฐมนตรีแต่หมายถึงกรณีที่เกิดสุญญากาศ เมื่อตอนนี้สภาฯก็ไม่มี ก็ต้องมีการเสนอกันขึ้นมา จะเป็นสภาปฏิรูปหรืออะไรก็แล้วแต่ก็ต้องว่ากันมา "สว.พัทลุงกล่าวทิ้งท้าย บนความชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการเลือกนายกฯมาตรา 7
สภาสูงภายใต้การนำของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะหลังสุเทพ เทือกสุบรรณและกปปส.ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายว่ากปปส.ต้องรู้ผลแพ้ชนะไม่เกิน 26 พ.ค. แล้ว วุฒิสภาจะเป็นหนึ่งในตัวตัดสินการแพ้-ชนะของกปปส.ด้วยหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ท่าทีของวุฒิสภาต่อจากนี้