แง้มห้องประชุม "กสทช."ฟังเจตนารมณ์ "พล.อ.ประยุทธ์" สั่งคุมสื่อออนไลน์
"..สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับเป็นเกตเวย์ แล้วมีสิ่งสกปรกวางอยู่ตามหนทาง และถนนใดๆ ที่ทุกท่านเป็นผู้ดูแลถนนเส้นนั้น ทุกท่านก็คงจะต้องเป็นผู้ที่กำจัดสิ่งสกปรกนั้นออก ถามว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร ถ้าถามผม ก็คงต้องใช้เวลากำจัดอยู่เป็นระยะ เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรก.."
“วัตถุประสงค์ ที่ กสทช. เชิญผู้ให้บริการสื่อออนไลน์มาหารือ ครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าฝ่ายทหารบังคับ แต่มาหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกเพื่อบ้านเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงจาก กอ.รส มาร่วมรับฟังด้วย”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เเละกิจการโทรคมนาคมเเห่งชาติ (กสทช.) กล่าวประโยคยืนยันกับตัวแทนสื่อออนไลน์และผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตค่ายต่างๆ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 50 คน ที่เชิญเข้ามาร่วมประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายใต้คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ( กอ.รส ) ที่ 8 / 2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสังคมออนไลน์เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยความถูกต้อง ที่สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ท่ามกลางความวิตกกังวลของ คนในวงการสื่อ ว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อกำลังถูกอำนาจทางทหาร ยึดครองไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ นายฐากร ได้อ่านประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 8 ให้ทุกคนในห้องประชุมฟังจบลง
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ได้ระบุเพิ่มเติมว่า "ในการหารือครั้งนี้ จะมีแบบฟอร์มให้กรอกด้วย ขอให้ผู้เข้าร่วมหารือ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการสื่ออินเตอร์เน็ตสำนักต่างๆ ช่วยกรอกด้วย เผื่อว่ามีอะไรต้องติดต่อกัน ขอให้กรอกแบบฟอร์มตัวนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการหารือ”
จากนั้น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.อีกท่านหนึ่ง ได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่า การกรอกแบบฟอร์ม รายชื่อเดียวไม่พอ ขอให้กรอกรายชื่อของบุคคลอื่นในบริษัทอีกอย่างน้อยหนึ่งรายชื่อ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้เป็นตัวแทนเข้าร่วมหารือไม่ได้
หลังจากนั้น ไม่กี่อึดใจ การประชุมครั้งสำคัญนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
โดยมีตัวแทนจากฝ่าย "กอ.รส." คือ พ.อ.สุวัฒน์ ยศประกอบ และ พ.ท. สุประดิษฐ์ เปล่งฉวี เข้าร่วมการประชุม
พ.ท. สุประดิษฐ์ เปล่งฉวี ได้กล่าวแสดงเจตนารมณ์ของ บิ๊ก ตู่ หรือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผอ.กอ.รส. ถึงการออกคำสั่งฉบับที่ 8 ครั้งนี้ว่า เป็นการขอร้องสื่อ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประเทศ
“เรามาหารือเรื่องนี้ เพราะ กอ.รส. เป็นห่วงกังวลว่าทางผู้ประกอบการ และ กสทช. จะไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของท่านประยุทธ์ ทุกท่านในห้องนี้คงรู้แล้วว่ามีการชุมนุม เคลื่อนไหว บิดเบือนให้เกิดความแตกแยก โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่แม้ว่าจะมีประโยชน์ แต่เป็นโทษอย่างยิ่ง ความแตกแยกในสังคมแม้จะเกิดขึ้นแล้ว แต่ทาง กอ.รส ก็จะใช้กฎหมายอัยการศึกนี้ให้น้อยที่สุด ที่ กส.ทช. เชิญทุกท่านมมาวันนี้ ผมมาเพียงแค่แจ้งเจตนารมณ์เท่านั้น”
พ.ท.สุประดิษฐ์ ยังระบุด้วยว่า กรณีการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ กอ.รส. ได้ประสานกับปลัดกระทรวงไอซีทีแล้วเช่นกัน
“ กอ.รส.มีการประสานงานไปที่กระทรวงไอซีทีแล้วเช่นเดียวกัน เป็นการขอความร่วมมือ เช่น ถ้ามีข่าวสารสกปรกชิ้นหนึ่งมาที่หน้าบ้านท่าน ท่านไม่คิดจะเก็บมันออกหรือครับ ผมยืนยันว่าเราจะระงับ ควบคุมข่าวสารเฉพาะเท่าที่จำเป็น ไม่ได้ระงับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้เข้าใจ เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มีความเข้าใจ”
พ.ท. สุประดิษฐ์ย้ำด้วยว่า “นี่คือการถ่ายทอดเจตนารมณ์ของท่านผู้อำนวยการ กอ.รส. เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่าถ้ามีการตรวจพบว่ามีการปลุกปั่น หรือปลุกระดมความขัดแย้งก็ต้องมีหลายช่องที่ถูกปิดไป”
ทั้งนี้ ระหว่างการหารือ มีผู้ประกอบการบางรายถามว่า การสั่งปิดเว็บไซต์หรือเนื้อหาข่าวนั้นๆ จะสั่งปิดเมื่อไหร่ และหากปิดแล้ว จะมีระยะเวลาครอบคลุมนานแค่ไหน
พ.ท. สุประดิษฐ์ตอบว่า “ปกติแล้ว การจะกำหนดว่าเว็บไซต์หรือยูอาร์แอลใดที่จะต้องปิด ต้องขอคำสั่งศาลแต่เนื่องจากนี่เป็นการใช้กฎอัยการศึก เมื่อมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วก็ขอให้ผู้ให้บริการที่ถูกสั่งปิดสอบถามมายัง เลขา กสทช. ประเด็นที่ถามว่าจะปิดเมื่อไหร่นั้น ขอยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างจะดำเนินไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าผมจะโทรหาแล้วก็ขอให้ปิดเลย แต่ผมอยากจะเรียนเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับเป็นเกตเวย์ แล้วมีสิ่งสกปรกวางอยู่ตามหนทาง และถนนใดๆ ที่ทุกท่านเป็นผู้ดูแลถนนเส้นนั้น ทุกท่านก็คงจะต้องเป็นผู้ที่กำจัดสิ่งสกปรกนั้นออก ถามว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ถ้าถาม ก็คงต้องใช้เวลากำจัดอยู่เป็นระยะ เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรก” นายทหารรายนี้ระบุ
ก่อนกล่าวย้ำว่า วันนี้ ท่าน ผอ.กอ.รส คือ พลเอกประยุทธ์ พยายามใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น
ขณะที่ นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอทำความเข้าใจว่าการทำงานของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามคำสั่งที่ 8/2557 นั้น ไม่ได้ไประงับการให้บริการใดๆ ของท่าน
“เพียงแต่ถ้าหากทางหน่วยงานความมั่นคงมีการตรวจพบข้อมูลใดๆ ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หมิ่นสถาบันฯ จะส่งเรื่องมาที่ กสทช. และ กสทช. จะส่งเรื่องไปที่ท่านเพื่อให้ระงับข้อความที่จะเป็นภัยต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือกับทุกท่าน เพราะก็เหมือนทุกท่านเป็นเจ้าของถนน อะไรที่จะสร้างความแตกแยกก็ต้องช่วยกันดูแล ถ้าท่านได้รับหนังสือจาก กสทช.ก็ขอให้ดำเนินการตามที่หน่วยงานความมั่นคงขอมา เราไม่ได้ระงับทั้งหมด ระงับเฉพาะข้อความนั้นๆ” นายฐากร ระบุ
ในช่วงท้ายของการหารือ นายฐากรได้ขอความเห็นจากตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตค่ายต่างๆ และสื่อออนไลน์ ว่า หากได้รับแจ้งจาก กสทช. ว่าฝ่ายความมั่นคงขอความร่วมมือให้ปิดเนื้อหาดังกล่าวแล้ว จะสามารถปิดได้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ อยากขอความชัดเจน
เมื่อสื่อรายหนึ่งกล่าวว่า จะปิดได้ภายใน 1 ชั่วโมง นายฐากร ได้กล่าวตอบว่า “ท่านปิดได้เร็วเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น แล้วให้รีบแจ้งเรามา ตอนนี้ กสทช. มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว มีท่านรองเลขาธิการ ไตรรัตน์ มาเป็นคณะทำงาน หากท่านปิดตามที่ได้รับแจ้งแล้วให้รีบติดต่อเรามา”
นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งของการหารือ มีตัวแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ถามว่าตามปกติแล้ว เมื่อไอซีทีหรือปทอ.( กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ) มีคำสั่งศาลมาให้ปิดการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ในเว็บไซต์ ข้อมูลหรือคำสั่งก็จะเป็นแบบหนึ่ง แล้วในตอนนี้ คำสั่ง ที่ กสทช.รับมาจาก กอ.รส.จะเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมหารือรายนี้กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เราก็ถูกสั่งปิดมาโดยตลอดแล้ว โดยปกติเราจะทราบตัวผู้ปฏิบัติงาน ดำเนินการ ทราบตัวผู้ที่รับคำสั่งมาสั่งเรา และเราก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเราคอยรับคำสั่ง จึงขอทราบความชัดเจนในส่วนนี้ด้วย
นายฐากรและนายก่อกิจยืนยันว่า จะมีการติดต่อสื่อสารกันตามข้อมูลที่กรอกในแบบฟอร์ม และผู้ร่วมหารือจะได้รับเบอร์โทรศัพท์ไว้ติดต่อกับ เจ้าหน้าที่ของ กสทช. เพื่อความชัดเจนในกรณีมีการขอความร่วมมือ
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุมหารือ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมครั้งนี้ด้วยได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทหารตัวแทนจาก กอ.รส. และ นายฐากร ว่า นอกจากแนวทางในการขอความร่วมมือให้สื่อฯ ควบคุมเนื้อหาตามที่ กอ.รส.เห็นว่าไม่เหมาะสมแล้ว หลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ได้รับความคำนึงถึงมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการขอความร่วมมือให้มีการปิดเนื้อหา โดย กสทช. เช่นนี้
นายฐากร ตอบว่า ทางหน่วยงานความมั่นคงก็แจ้งไปแล้วว่าเป็นการขอความร่วมมือ ไม่มีการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพ การปิด ก็ปิดแค่บางข้อความหรือบางจุด แต่ส่วนอื่นๆ เหมือนเดิมทั้งหมด ส่วนเรื่องทีวีดาวเทียม 14 ช่อง ที่ปิดไปขณะนี้ ก็ต้องเรียนว่า มีทุกสี
“เมื่อวานผมนึกว่ามีสีใดสีหนึ่ง แต่ปรากฏว่ามีทุกสี สีอะไรก็ปิดหมด เพื่อที่ว่าอันไหนกระทบต่อความมั่นคง คำสั่งก็คือผิดไปทั้งหมด แต่ยอมรับว่าอันนี้ การปิดอันไหนที่ผิดกฎหมายรุนแรง เราก็จะแจ้งต่อ กอ.รส.ด้วย ว่า ถ้าปิดแล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ถ้าปิดแล้วส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ เราก็คงทำหนังสือแจงถึง กอ.รส. เพียงแต่ตอนนี้ เรายังไม่มีเหตุผลนั้นที่ต้องแจงต่อ กอ.รส. ตอนนี้ก็ยังรอดูกันวันต่อวัน”
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รส. มี พ.ท.สุประดิษฐ์เป็นผู้ตอบคำถามประเด็นดังกล่าวว่า “อาจจะแล้วแต่มุมมองนะครับ แต่อย่างที่เรียนว่า เจตนารมณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องจำเป็นที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งสิทธิเสรีภาพมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ก็มีแง่มุมประเด็นกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่นบางประเทศอาจเน้นที่เรื่องศาสนา ทุกคนต้องศึกษาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น เจตนารมณ์กฎหมายของเรา เราต้องการให้ประชาชนไม่ว่าเชื้อชาติอะไรอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”
“ดังนั้น ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ถูกต้อง อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ดังนั้น แม้ กอ.รส จะสั่งปิดสถานีวิทยุชุมนุม แต่เราปิดทุกสีนะครับ ตอนนี้ บลูสกาย ก็ร้องเรียนมา คุณลีน่าจัง ก็โพสต์ด่า ท่าน ผบ.ทบ ก็ทราบและท่านไม่ได้อยากจะทำ แต่ถ้าท่านไม่ทำแบบนี้กับทุกฝ่ายก็จะถูกมองว่าหมดความชอบธรรม เลือกปฏิบัติ”
ทั้งนี้ คือ ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น ในห้องประชุม ของ กสทช. ในวันที่สื่อออนไลน์และผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อยู่ภายใต้กรอบการทำงาน ของ คำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 8 ว่าด้วยเรื่องการขอความร่วมมือจากสังคมออนไลน์เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยความถูกต้อง
ฉบับของ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา”