ยะลา เขต 2 กกต.สั่งนับคะแนนใหม่...เพื่อไทยยังมีลุ้นแจ้งเกิด-ดันนครปัตตานี!
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้นับคะแนนเลือกตั้งใหม่ในเขต 2 จ.ยะลา ทำให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยมีลุ้นชนะเลือกตั้งในเขตนี้ ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคว่าที่แกนนำรัฐบาลชุดใหม่ เผย เตรียมเดินหน้านโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป โดยอาศัยกระแส “กระจายอำนาจ” ที่มีเสียงเรียกร้องจากทั่วประเทศ
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต.เมื่อวันอังคารที่ 26 ก.ค.ว่า ที่ประชุมได้มีมติยกคำร้องคัดค้าน ส.ส.กว่า 10 เรื่อง และยังไม่มีมติให้ใบเหลืองหรือใบแดงเพิ่มเติม แต่มีมติให้นับคะแนนเลือกตั้งใหม่ในเขต 2 จ.ยะลา ซึ่ง นายอับดุลการิม เด็งระกีนา ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากที่สุด เนื่องจากมีผู้ร้องว่ากรรมการประจำหน่วยทำหน้าที่นับคะแนนไม่ถูกต้อง จนมีบัตรเสียจำนวนมาก และคะแนนห่างกับ นายซูการ์โน มะทา ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 เพียง 33 คะแนน
ทั้งนี้ การนับคะแนนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ก.ค.โดย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.จะลงไปควบคุมการนับคะแนนใหม่ด้วยตัวเอง
การนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ที่เขต 2 จ.ยะลา จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยมีลุ้นชนะเลือกตั้งในเขตนี้ ซึ่งเป็นเขตเดียวที่พ่ายแพ้อย่างสูสีมากที่สุด และมีข้อมูลจากทางพรรคเพื่อไทยว่ามีบัตรเสียราว 9 พันใบ ขณะที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.2554 จำนวน 11 เขตเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ชัยชนะมากที่สุดถึง 9 เขต ขณะที่อีก 2 เขตของ จ.ปัตตานี เป็นของผู้สมัครจากพรรคมาตุภูมิและภูมิใจไทย
ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่พ่ายแพ้ว่า เป็นเพราะการใช้กลไกอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นรัฐบาลรักษาการช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคตนเองและกดดันพรรคคู่แข่งหรือไม่ เพราะเป็นผลการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย
ผลการเลือกตั้งในลักษณะที่พรรคประชาธิปัตย์คว้าชัยอย่างถล่มทลาย เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 ซึ่งครั้งนั้นได้รับเลือกตั้งมากถึง 10 เขตจาก 11 เขต ด้วยกระแสต่อต้านพรรคไทยรักไทยจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จนทำให้มีชาวมุสลิมเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและระหว่างการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มากถึง 85 ราย
อย่างไรก็ดี แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายราย อาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ผู้สมัครของพรรคได้รับชัยชนะเกือบทุกเขต เป็นเพราะพึงพอใจผลงานและแนวทางดับไฟใต้ของพรรคซึ่งเป็นรัฐบาลมา 2 ปีเศษ โดยเฉพาะการใช้กลไกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งมีการออกกฎหมายรองรับอำนาจเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กรนี้มาเมื่อปี พ.ศ.2524
ขณะ เดียวกัน แนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ชูนโยบายจัดตั้ง “นครปัตตานี” หรือการรวมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็น “นคร” แล้วเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” โดยตรงจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนซึ่งมีอัตลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น และให้ยุบ ศอ.บต.ซึ่งถือเป็นองค์กรจากส่วนกลางที่ใช้กลไกรวมศูนย์อำนาจนั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน
และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงว่าที่ ส.ส.จากชายแดนใต้ของพรรคจึงเห็นสอดคล้องกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรผลักดันนโยบาย “ตั้งนครปัตตานี-ยุบ ศอ.บต.” อีกต่อไป
กระนั้นก็ตาม กลุ่มนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจ และจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้านโยบายกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่ตามที่หาเสียงเอาไว้ เพราะแม้พรรคเพื่อไทยจะพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งสามจังหวัด แต่ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างล้มหลามด้วยที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งสภาเมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งภาพรวมของประเทศ
ประกอบกับนโยบายกระจายอำนาจและ “จังหวัดจัดการตนเอง” กำลังเป็นทิศทางของประเทศ โดยมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมหลายสิบจังหวัด ทั้งยังเป็นทิศทางที่คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และสมัชชาปฏิรูป (สปร.) เห็นพ้องกันว่าน่าจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง ยังไม่ปรากฏท่าทีที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าจะดำเนินนโยบายดับไฟใต้อย่างไรนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเป็นต้นมา โดยนโยบายเร่งด่วน 3-5 ข้อที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีข้อใดเกี่ยวโยงถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีความใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แกนนำพรรคจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จเรียบร้อย พรรคน่าจะผลักดันนโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป แต่ปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นเรื่อง “กระจายอำนาจ” ซึ่งเป็นทิศทางที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศ อันจะเป็นการลดแรงกระแทกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามถามหาความชอบธรรมในการผลักดันให้เกิด "นครปัตตานี" เพราะพรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งทุกเขตในสามจังหวัดชายแดน
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน แหล่งข่าวบอกว่า จะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาชุดหนึ่งในรูปแบบที่คล้ายกับคณะกรรมการอิระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในอดีต เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงจากประชาชน แล้วนำมากำหนดรูปแบบการปกครองอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับโมเดล "นครปัตตานี" เสียทีเดียว ทั้งนี้เพื่อลบข้อครหาที่ว่าการผลักดัน "นครปัตตานี" ไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า การจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถสร้างกระแสที่เป็นโจทย์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อจากการก่อความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมาได้ระดับหนึ่ง และยังอาจเป็นเวทีการพูดคุยร่วมกันอย่างเปิดอกระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่คิดเห็นต่างกัน เพื่อร่วมกันสร้างโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อีกด้วย
อนึ่ง สำหรับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อให้ศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และค้นหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยสรุปรายงานของ กอส.ที่เป็นข้อเสนอ "ดับไฟใต้" ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลในขณะนั้นกลับไม่หยิบไปปฏิบัติจริง (รวมถึงรัฐบาลชุดต่อๆ มาด้วย)
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในนาม "เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่รณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจและเสนอโมเดล "ปัตตานีมหานคร" เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น นายมันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระ และหนึ่งในแกนนำเครือข่าย กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า โมเดล "ปัตตานีมหานคร" กับ "นครปัตตานี" แม้จะมีหลักการคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดพอสมควร ฉะนั้นไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบาย "นครปัตตานี" ต่อไปหรือไม่ การรณรงค์ของเครือข่ายฯให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงก็จะดำเนินต่อไป เพียงแต่ทางองค์กรเครือข่ายฯจะเคลื่อนไหวทวงสัญญาจากพรรคเพื่อไทยในฐานะว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ให้เร่งดำเนินการเรื่องกระจายอำนาจซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้อย่างชัดเจน
"สำหรับโมเดลปัตตานีมหานครนั้น ทางเครือข่ายฯจะเร่งสรุปโมเดลที่ตกผลึกแล้ว และยกร่างเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ ก่อนจะเสนอเข้าสภาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญต่อไป" นายมันโซร์ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายซูการ์โน มะทา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.ยะลา จากพรรคเพื่อไทย ผู้กำลังมีลุ้นเป็น ส.ส.จากคำสั่งนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ของ กกต.