"รมว.กลาโหม" จาก ฝ่ายบริหาร ความจำเป็นที่ "กองทัพ" ต้องเกี่ยว?
แม้การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยจะเบ่งบาน แต่กระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาลก็ดู “พิลึกกึกกือ”ตามสไตล์พรรคเพื่อไทยที่คนในไม่ได้ใช้อำนาจ แต่คนนอกกลับมีอำนาจเต็มมือ
เหตุเพราะ “โผ ครม.” ที่มี “ออเดอร์” จากต่างประเทศ ไม่ได้เกิดจากอำนาจการตัดสินใจของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ “คอมเม้นท์” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นประเด็นที่สังคม “โฟกัส” มากกว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
และดูเหมือนว่า เรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือเรื่องกองทัพ และ ความมั่นคง จนเกิดกระแสข่าวของผู้ที่คาดว่าจะมาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่ มากกว่า 10 รายชื่อ แต่ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนในขณะนี้
ที่ผ่านมาประเทศไทยมี รมว.กลาโหมทั้งหมด 57 คน โดยคนแรกคือ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เมื่อปี 2325 และ คนสุดท้ายคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยกว่า 95 % เป็นทหาร จะมีช่วงหลังที่ การเมือง กับ กองทัพ อยู่ในช่วงระวังหลัง เนื่องจากเหตุการณ์วิกฤติทางการเมือง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็จะควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปด้วยอีกตำแหน่ง เพื่อ “กระชับอำนาจ” ให้เข้ามาอยู่ในการดูแลของฝ่ายการเมืองใกล้ชิด ไล่ตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
จะมาในยุคที่กองทัพกลับมาเข้มแข็ง หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่มี พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ เป็น รมว.กลาโหม ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ หลังจากยุคที่พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ที่กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.ที่รัฐบาลได้ไปเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็น รมว.กลาโหม
จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพบว่า คนที่เป็น รมว.กลาโหม ต้องมีแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐบาล และ ต้องมีความเข้าใจในงานด้านการทหารพอสมควร หรือไม่ก็ต้องไปด้วยกันได้กับผู้นำกองทัพในยุคนั้นๆ
แนวคิดการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” คนปัจจุบัน ถูกจับตามองว่า รัฐบาลจะเลือกแนวทางใด ระหว่าง “หักดิบ” หรือ “ประนีประนอม”กับกองทัพ จนทำให้รายชื่อที่ออกมามีลักษณะของการ “คาดเดา”สูง โดยใช้เรื่องสายสัมพันธ์ และ การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นตัวตัดสิน
ในขณะที่ ความเห็นจากฝ่ายกองทัพ ชัดเจนว่า “คนที่เหมาะสมน่าจะเป็นทหาร และเข้ากับกองทัพได้”
ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ กองทัพ คือกลไกของรัฐ ในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด เพียงแต่ว่ากองทัพของประเทศไทย ไม่ได้เหมือนกับประเทศที่ปกครองในระบอบเดียวกัน หรือ มีสถานะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสถาบันหลักของไทยมีความเชื่อมโยงกับกองทัพ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และ อำนาจ
ดังนั้น รมว.กลาโหม ที่ผ่านมาจึงถูกแต่งตั้งตาม “จารีต” โดย เลือกจาก “นายทหารอาวุโส”ที่ผ่านการรับราชการในตำแหน่งระดับสูงของกองทัพมาก่อน แต่ต้องมีสายสัมพันธ์ของรัฐบาลที่เข้ามาบริหาประเทศในขณะนั้นในระดับที่ “ได้รับการยอมรับ”
“ประเทศไทยเราไม่เหมือนประเทศอื่น ยิ่งประเทศมหาอำนาจแล้วอย่าเอาไปเปรียบเทียบกับเขา สหรัฐฯ นี่ใครเป็น รมว.กลาโหมได้ ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องออกจากกองทัพมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่วนของเราควรจะต้องเป็นทหารที่อาวุโส” นักวิชาการทหารในสถาบันการศึกษาของกองทัพ กล่าว
อย่างยุคหลังการคัดเลือกตัว รมว.กลาโหม ฯ จะต้องฟังจาก “ผู้นำทางทหาร” ยิ่งถ้าอำนาจกองทัพมีความเข้มแข็งมากขึ้นเท่าไหร่ การเสนอบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งให้ฝ่ายบริหารรับไปแต่งตั้งก็ทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นยุคที่ “บูรพาพยัคฆ์” มีอำนาจที่เข้มแข็ง ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็พร้อมใจเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม ตามที่กลุ่มตัวเองหนุน
แต่พอมายุคของพรรคเพื่อไทย การเจรจาเพื่อให้คนที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม จาก บูรพาพยัคฆ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนยุคที่ พรรคประชาธิปัตย์
ข้อเสนอในเรื่อง “สเปค” รมว.กลาโหม จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 1 เดือน นับแต่ผลการเลือกตั้งออกมาไล่เรียง คือ 1. ควรเป็นทหาร 2. ให้ นายกฯ ผู้หญิงมาทำหน้าที่น่าจะไม่เหมาะสม 3. ควรเป็นทหารอาวุโส 4. ได้รับการยอมรับจากกองทัพ
ที่ดูเหมือนจะเป็น “สเปค” ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนกลายเป็น “ประเพณี”ที่รู้กันระหว่าง “กองทัพ”กับ”การเมือง”!!
“ต้องยอมรับว่าบ้านเราเรื่องระบอบขุนนางยังมีอยู่ ยังมีความจำเป็นเรื่องพิธีการ คนไม่เคยเป็นทหารจะไม่รู้ เวลามาร่วมงานก็จะทำไม่ถูก แม้กระทั่งการเดินตรวจแถวสวนสนาม แถวกองเกียรติยศต้องเดินให้เข้ากับเสียงกลอง หรือ เวลาประชุมจะมีการพูดคุยเรื่องทหาร ศัพท์ทางทหาร ตัวเองต้องรู้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่พึ่งฝ่ายเสธ.อย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดที่จะทำให้เห็นว่า ได้รับการยอมรับจากกองทัพหรือไม่” นักวิชาการคนเดิมกล่าว
ขณะที่มีการมองว่า ปัญหาที่สำคัญอีกประการเกี่ยวกับ “สเปค”ของ รมว.กลาโหม ก็คือ ต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้วางใจจากกองทัพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กองทัพเป็นปึกแผ่น มีความเป็นเอกภาพ ทำให้กองทัพมีความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ของตนเอง หากมีแนวโน้ม หรือ ความคิด ที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงกองทัพ ผ่านรมว.กลาโหม ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้
“เมื่อตอนนี้มีปึกแผ่น มีขวัญกำลังใจดี และ พร้อมที่จะทำงานในหน้าที่ที่รัฐบาลสั่ง แต่วันดีคืนดีเกิดมีการวิ่งเต้น และ รมว.กลาโหม ไปเปลี่ยนโผ เปลี่ยนบัญชีโยกย้าย ก็จะทำให้เกิดปัญหา และ ในกรณีที่ รมว.กลาโหม เป็นพลเรือนหูเบา หรือ มีความเชื่อมั่นในทางที่ผิด ๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน “ นักวิชาการรายนี้ สำทับ
กระนั้น กลไกในตำแหน่ง รมว.กลาโหม แม้จะไม่ได้มีบทบาท หรือ อำนาจ เหมือน ผู้บัญชาการทหารบก แต่ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหม ก็ถือเป็น “โหวตเตอร์” จากฝ่ายบริหาร ที่เข้ามาทำหน้าที่ใน “บอร์ด” ที่เรียกว่าคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพล ที่แม้จะถูกมองว่าเป็นแค่ “ตรายาง” ในการทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายก็ตาม
“ที่ผ่านมาอาจเรียกในลักษณะว่า การแบ่งเค้ก เพราะ มีโควตาจัดสรรกัน ที่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์เขาก็มีการแบ่งกัน ยกเว้นในตำแหน่งคุมกำลังที่ ผบ.ทบ.มีอำนาจตัดสินใจ บางกรณีที่ รมว.กลาโหม ขอมา 1-2 ตำแหน่งเท่านั้น”แหล่งข่าว ระบุ
จึงมีข้อเรียกร้องให้ การคัดสรรผู้มาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีลักษณะ “ถ่วงดุล” คือนอกจากการยึดโยงแล้วฝ่ายการเมืองเองก็น่าจะใช้ รมว.กลาโหม ในการสั่งการนโยบายที่ รัฐบาล มีต่อกองทัพในทางริเริ่มได้เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ที่แนวทางดังกล่าว ถือเป็นหลักการสากล และ ทฤษฎีการบริหารงานภาครัฐ ที่รัฐบาลต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น กองทัพเองก็จะกลายเป็น ศูนย์อำนาจ เอกเทศที่รัฐบาลเองก็ไม่กล้าแตะต้อง
กระนั้น หลักการดังกล่าว กลับถูก “สายปฏิบัติ” ที่เชี่ยวชาญด้านการทหาร มองว่า นอกจากจะสร้างปัญหาแล้ว ยังสร้างความขัดแย้งที่ขยายวงออกไป จากกลุ่มอุดมการณ์ที่จ้องสร้างความสั่นสะเทือนให้กับสถาบันหลักของประเทศ แต่มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า ในกรณี ที่พรรคการเมืองคัดเลือก รมว.กลาโหม ที่มีคุณธรรม เป็นทหารอาชีพที่ได้รับการยอมรับ และไม่ได้เป็นคนของพรรคการเมืองที่มีทหารเสียประโยชน์หนุนหลังอยู่ กองทัพก็ควรยอมรับ และ ไม่จำเป็นต้องเสนอคนของตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม
โดยการทำงานระหว่าง กองทัพ และ รัฐบาล ต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ มีรมว.กลาโหม ที่เป็นตัวของตัวเอง เข้าใจกองทัพ สามารถเชื่อมโยง และ ประสานงานสั่งการจากรัฐบาล ได้
ตัวรัฐมนตรีกลาโหมเอง ก็ต้องปลดแอกจากการเมือง พร้อมๆ กับเข้าใจกองทัพที่ต้องรับแรงกดดันจากโลกที่เปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนไป และการเมืองที่ก้าวกระโดด จนกองทัพเองก็ปรับตัวเองไม่ทัน