การจัดการที่ดินแนวใหม่ ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (เกศณี คิ้วนาง เรียบเรียง)
ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน 11 ตำบลเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกประมงพื้นบ้านที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การจัดการเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลบ่อหินได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 โดยเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มประมงพื้นบ้านในตำบล ที่ต้องการช่วยเหลือกันในเรื่องของการพัฒนาอาชีพเป็นฐานคิดเริ่มต้น
โดยเริ่มจากการพัฒนากิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า การป้องกันการทำลายป่าชายเลน การอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งสู่การพัฒนา กิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในพื้นที่ตำบลให้ดีขึ้นประกอบกับรัฐได้มีนโยบายด้านการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จึงได้มีการสำรวจข้อมูลประเภทที่ดิน สถานการณ์การอยู่อาศัยในพื้นที่ขึ้น เพื่อที่จะสามารถออกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินแก่สมาชิกในตำบล จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินตำบลบ่อหิน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของสมาชิกขึ้น
ลักษณะพื้นที่ตำบลบ่อหินโดยส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่ง ป่าชายเลน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 75,937.5 ไร่แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านบ่อหิน, หมู่ที่ 2 บ้านพรุจูด, หมู่ที่ 3 บ้านดุหุน, หมู่ที่ 4บ้านใสต้นวา, หมู่ที่ 5 บ้านไร่ออก, หมู่ที่ 6 บ้านหัวหิน,หมู่ที่ 7 บ้านใหม่-บ้านทุ่งโพธิ์, หมู่ที่ 8 บ้านโต๊ะบัน หมู่ที่ 9 บ้านปากคลอง ประชากร 6,703 คน 1,936 ครัวเรือน นับถือศาสนาพุธ จำนวน 6 หมู่บ้าน ศาสนาอิสลามจำนวน 3 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง ทำสวนยางพารา และทำสวนปาล์ม
ประเภทที่ดินในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ประกอบด้วย
1. ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าสายควน-เกาะอ้ายกลิ้ง และป่าคลองกาละเส-คลองไม้ตาย
2. ที่ดินกรมเจ้าท่า
3. ที่ดินป่ายเลน
4. ที่ดินสาธารณะ (นสล.)
ลักษณะความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของสมาชิกในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ซึ่งมีจำนวนผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 1,011 ราย ปัญหาโดยส่วนใหญ่คือ การไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จำนวน 521 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 รองลงมา ได้แก่ การครอบครองที่ดินที่มี สค.1 จำนวน 378 ราย คิดเป็นร้อยละ 37 ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 65 ราย คิดเป็นรอ้ยละ 6 และมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 47 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 ตามลำดับ
แนวทางการจัดการที่ดินในพื้นที่ตำบลบ่อหิน
1. ขบวนองค์กรชุมร่วมกันดำเนินการได้แก่
1.1 การรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
1.2 จัดตั้งคณะทำงานระดับหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน
1.3 จัดตั้งคณะทำงานระดับตำบล ประกอบด้วยตัวแทนจาก 9 หมู่บ้านในพื้นที่
1.4 การจัดทำฐานข้อมูลผู้เดือดร้อน
1.5 การจัดทำฐานข้อมูลที่ดิน ประเภทที่ดิน ลักษณะความเดือดร้อน
1.6 การพัฒนากลุ่ม/องค์กรชุมชนที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย
1.7 การพัฒนาระบบการจัดการที่ดินร่วมกัน
1.8 การจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ขยายสู่การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล
1.9 การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน
1.10 การพัฒนาแกนนำในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
2. ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคีหน่วยงานในพื้นที่
2.1 จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระดับตำบล เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่
2.2 สนับสนุนบุคลากรให้ความรู้และร่วมดำเนินการกับชุมชน เช่น การอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านการจัดทำข้อมูล การร่วมสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน
2.3 การผลักดันข้อบัญญัติที่เอื้อต่อการสนับสนุนการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากร
2.4 การจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
2.5 หน่วยงานภาคีอื่นๆ ที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ่อหิน กองทุนหลักประกันสุขภาพบ่อหิน มูลนิธิอันดามัน (SAN) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
2.6 องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมฐานข้อมูลของตำบลใช้ในการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ โดยใช้โปรแกรมขอนหาดจัดทำฐานข้อมูลร่วมกับโปรแกรม Map Windows GIS เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ สู่การจัดประโยชน์การใช้งานพื้นที่ต่อไป
3. การประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินกับภาครัฐและเจ้าของที่ดิน
3.1 นำข้อมูลเสนอสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ จังหวัด
3.2 ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลปัญหากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
3.3 ประสานหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหา
3.4 จัดทำข้อตกลงระหว่างภาครัฐและชุมชนในการใช้ที่ดินร่วม
การขับเคลื่อนองค์กรชุมชน
สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเมื่อปี 2552 มีองค์กรจดแจ้งแล้วจำนวน 16 องค์กรจาก 4 หมู่บ้าน ซึ่งการขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของสมาชิกในตำบลเป็นประเด็นหนึ่งในการขับเคลื่อน งานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน กลไกการทำงานที่สำคัญคือการใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การทำงานที่ผ่านมามีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ตัวแทนคณะทำงานที่ดินระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และภาคีอื่นๆ ในพื้นที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานเป็นอย่างดีตั้งแต่การสำรวจข้อมูล การรังวัดพื้นที่ การสรุป วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจจัดทำฐานข้อมูลในพื้นที่พบว่า ปัญหาที่สำคัญของชุมชนที่ควรมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือสิทธิในที่ดินของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองพื้นที่ สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหินจึงใช้ประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเป็นประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนงานสู่ประเด็นสาธารณะต่อไป
นายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้กล่าวถึงการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินพื้นที่ตำบลบ่อหินที่ผ่านมาว่า “ตนเองเป็นคนตำบลบ่อหินโดยกำเนิด พ่อแม่เป็นชาวประมงริมทะเล บ้านก็อยู่ในเขตป่าสงวนทั้งตำบล ตั้งแต่วันที่ได้รับตำแหน่งจนถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้ว ได้เห็นพัฒนาการความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เริ่มจากแรก ๆ ไม่มีที่ดินทำกิน รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต แต่ตอนนี้คนในตำบลมีการรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ ซึ่งการต่อสู้การทำงานที่ผ่านมาเราได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การรวมตัวกันเพื่อช่วยแก้ปัญหา การรู้จักสำรวจข้อมูล และวิเคราะห์ขอ้มูลด้วยคนในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ทั้งนี้ ปัญหาแต่ละประเภทไม่สามารถแก้ไขได้ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ ขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลายาวนาน จนถึงตอนนี้ได้ทำงานเรื่องที่ดินมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว ก็ยังไม่สามารถออกเอกสารแก่คนในพื้นที่ได้ แต่เรายังจะทำงานต่อไป โดยส่วนตัวเชื่อว่าคนกับทรัพยากรต้องอยู่ร่วมกัน ทรัพยากรอยู่ได้โดยไม่อาศัยคน แต่คนไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีทรัพยากร เราจึงต้องหาวิธีจัดการที่เหมาะสมให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้พึ่งพากันไม่ใช่เบียดเบียนกัน นิยามคำว่าป่าสงวน ในความรู้สึกตนเอง คือป่าที่เราต้องรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไป แต่ทั้งนี้คนรุ่นปัจจุบันต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นนายก อบต.ปัญหาเรื่องที่ดินถือว่าเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข สาเหตุบางส่วนก็มาจากหน่วยงานของรัฐไม่ได้คลี่คลายอย่างถูกต้อง ในฐานะที่ อบต. เป็นหน่วยงานของรัฐ เราเชื่อว่าสามารถจัดการเองโดยท้องถิ่นได้ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปถึงส่วนกลาง น่าจะช่วยให้คนของเรามีความคล่องตัวขึ้น ในส่วนที่สามารถหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาชนได้ตามอำนาจที่รัฐให้มาเพื่อช่วยเหลือให้คนของเราอยู่ดีกินดี”
บทบาทท้องถิ่นในการสนับสนุน
1. ท้องถิ่นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหินได้มีการบรรจุแผนการพัฒนาด้านการช่วยเหลือดูแลคนด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งรวมถึงกลุ่มบุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เบื้องต้น ได้มีการจัดสรรที่ดินเปล่าตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการรังวัดพื้นที่ร่วมกับคนในพื้นที่ งบประมาณกิจกรรมการจัดประชุม
2. สนับสนุนบุคลากร ให้ความรู้ด้านวิชาการ การจัดทำแผนที่ การรังวัดที่ดิน
3. ประสานงานหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGOs เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานภาคประชาชนในพื้นที่ เช่น การประสานงานมูลนิธิอันดามัน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประสานงานกรมที่ดินเพื่อขอความร่วมมือจัดทำแผนที่ดาวเทียม
นายเกษม บุญญา ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ให้ข้อคิดเห็นเรื่องบทบาทของภาคประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยว่า “ปัญหาเรื่องที่ดินชาวบ้านได้เริ่มรับรู้ปัญหาและเริ่มลงมือแก้ไขตั้งแต่ปี 2546 ซี่งเราก็ได้ทำงานร่วมกับทาง อบต. NGOs มาโดยตลอด เริ่มต้น ในช่วงแรกจากเครือข่ายประมงในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเรื่องอาชีพก่อน การทำงานของภาคประชนเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากที่ตำบลบ่อหินได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหินเมื่อปี 52 มีสมาชิกจัดตั้งแล้วครบทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยการทำงานเริ่มจากการเลือกพื้นที่จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ ม.8 บ้านโต๊ะบัน ม.3 ม.9 บ้านปากคลอง จากทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ในการเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ในเรื่องการจัดทำข้อมูลพื้นที่ตนเองในทุกๆ เรื่องนอกเหนือจากเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรามีข้อมูลของตนเอง มีหลักฐาน เราก็จะสามารถต่อรองกับภาครัฐได้ เราไม่สามารถเข้าไปชี้แจงหรือร้องเรียนด้วยปากเปล่า แบบนั้นไม่มีนํ้าหนัก แต่เราควรที่จะมีเอกสาร หลักฐานเพื่อให้เค้าเชื่อถือรับฟังด้วย ในฐานะที่ตนเองเป็นประธานสภาฯ เชื่อว่าพลังขององค์กรชุมชนจะสามารถคลี่คลายปัญหาพวกนี้ได้ ที่ผ่านมานอกจากสำรวจขอ้มูลผู้เดือดร้อนทั้งตำบลแล้ว ก็ได้มีการรังวัดพื้นที่ร่วมกับ อบต. เพื่อส่งเอกสารให้จังหวัดออกโฉนด ตัวสภาฯ เองก็มีแผนจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ใช้ประเด็นเรื่องที่ดินของคนในตำบล เพื่อหาแนวทางการจัดการเรื่องที่ดินต่อไปก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้คงทำไม่เสร็จในปีสองปี เพราะที่ผ่านมาเราก็ได้ทำมานานมากแล้ว แต่เราซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาต้องลงมือทำเองไม่ใช่รอให้คนอื่นเข้ามาแก้ใหเพียงฝ่ายเดียว ขอฝากถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกับตำบลบ่อหินที่ยังไม่เริ่มแก้ไขว่า สิ่งแรกที่สำคัญคือเราเองต้องทราบปัญหา ทราบความต้องการของตนเองก่อน และต้องมีการพูดคุยหารือกันหลายๆ ฝ่ายบ่อยๆ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาทางออกร่วมกัน ทุกสิ่งต้องอาศัยเวลากับพลังคนส่วนมากในการทำงานร่วมกัน”
ข้อเสนอต่อภาครัฐในการที่จะสนับสนุนการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
1. ให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีองค์ประกอบกรรมการจากผู้แทนชุมชนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐ หน่วยงานปกครอง
2. ให้เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ดิน ป่าไม้ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรและกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน เช่น พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
3. คณะรัฐมนตรี/กฎหมายรับรองสิทธิที่ดินในพื้นที่ที่ได้ทำข้อมูล แผนที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ประกาศเขตป่า หรือเขตที่ดินรัฐทับที่ทำกิน เพื่อให้ชุมชนได้รับสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
4. ให้กรรมการกระจายอำนาจ พิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจการจัดการที่ดินรัฐประเภทต่างๆ ไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แผนการพัฒนางานในระยะต่อไป
การดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน พื้นที่ตำบลบ่อหินได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับหมู่บ้านครบแล้วทั้ง 9 หมู่บ้าน และร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานระดับตำบล ซึ่งมาจากการคัดเลือกตัวแทนระดับหมู่บ้านร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ โดยได้ร่วมกำหนดแผนการพัฒนางานในพื้นที่ไว้ดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกในพื้นที่ตำบล เพื่อทราบถึงปัญหาด้านต่างๆนอกเหนือจากด้านที่ดินทำกิน เพื่อใช้วางแผนการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่
2. การจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของตำบลบ่อหิน
3. การใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนโดยการเปิดเวทีประชาคมตำบล เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ตลอดจนการออกข้อบัญญัติของชุมชน ในการควบคุมและจัดการที่ดินสู่การผลักดัน เพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการสนับสนุนการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยร่วมกันของชุมชน
4. การจัดทำแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชนและท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
5. วางแผนการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ของพื้นที่นอกเหนือจากเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ครอบคลุมทุกปัญหาของสมาชิก
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2011