ผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ! ยุบ ศอ.รส.-คุมเข้มสื่อหลัก-ออนไลน์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่เวลา 03.00 น.วันอังคารที่ 20 พ.ค.2557
เวลาประมาณ 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งเชื่อมสัญญาณไปทุกสถานี เพื่ออ่านประกาศกองทัพบกเรื่องการใช้กฎอัยการศึก
ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก ระบุว่า ตามสถานการณ์ที่มีกลุ่มชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มได้ทำการชุมนุมประท้วงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนและสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลและความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น
เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2557 เวลา 03.00 น.เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 20 พ.ค.2557 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
ยุบทิ้ง ศอ.รส. - ตั้ง กอ.รส.
พร้อมกันนั้น ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. สาระสำคัญคือ ให้ตั้ง กอ.รส.เพื่อดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยการ กอ.รส.
ทั้งนี้ ให้ กอ.รส.มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ คือ
1.ป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ในทุกท้องที่ของประเทศ
2.มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
3.มีอำนาจในการเชิญตัวบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบได้
พร้อมกันนั้นให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ซึ่งตั้งโดยรัฐบาล ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ให้กำลังของหน่วยต่างๆ ตามโครงสร้างของ ศอ.รส.ยกเว้นกำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เคลื่อนย้ายกลับที่ตั้งเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ
นอกจากนั้นยังให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งมอบกำลังในอัตราให้ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ กอ.รส.เมื่อได้รับคำสั่ง
สั่งคุมสื่อ - จ่อเชิญหัวหน้าส่วนราชการ
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 08.25 น. ได้มีคำสั่งแรกของ กอ.รส. ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งของราชการ เอกชน และดาวเทียม งดรายการประจำของสถานีทันทีที่ได้รับการประสาน และให้ถ่ายทอดรายการจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแทน
ต่อมาได้มีการออกคำสั่งเพิ่มเติม ห้ามสื่อทุกประเภท ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ทุกระบบ และสื่อออนไลน์ รายงานข้อมูลในลักษณะบิดเบือน ปลุกระดมให้สร้างความวุ่นวายแตกแยก หรือสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
มีรายงานว่า ผบ.ทบ.ใช้กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ย่านถนนวิภาวดีรังสิตเป็นกองบัญชาการ กอ.รส. และภายในวันนี้จะมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าหารือ
จากแถลงการณ์ 7 ข้อถึงกฎอัยการศึก
สำหรับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ปัจจุบันใช้มาครบ 100 ปีพอดี โดยก่อนการประกาศใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเที่ยวล่าสุดในวันอังคารที่ 20 พ.ค.2557 กองทัพบกได้ประกาศกฎอัยการศึกอยู่แล้วในหลายท้องที่ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ เป็นต้น
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีเนื้อหาหลักๆ ทั้งสิ้น 17 มาตรา ที่สำคัญคือ
มาตรา 4 เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา 6 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
มาตรา 8 เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ ฯลฯ
มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร บุคคลหรือบริษัทใดๆ จะร้องขอค่าเสีย หายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผบ.ทบ.เพิ่งออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ประกาศจุดยืนของกองทัพต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธต่อพี่น้องประชาชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยในแถลงการณ์ข้อ 5 และ ข้อ 6 ระบุว่าทหารอาจจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และระงับยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจล
ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ข้อ 5 และ 6 มีดังนี้
ประเด็นที่ 1 หากสถานการณ์ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม
ประเด็นที่ 2 หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจนมีแนวโน้มถึงขั้นจะเกิดการจลาจล เพื่อความสงบเรียบร้อย กองทัพอาจมีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าคลี่คลายสถานการณ์
ประเด็นที่ 3 ในขั้นนั้นหากมีผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มบุคคล หรือกองกำลังติดอาวุธตอบโต้กองทัพ หรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก บุคคลผู้นั้น หรือกลุ่มบุคคลนั้น จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ใช้มาตราการทางกฎหมายปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ประเด็นที่ 4 ผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวอาจจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้ เช่นกันกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดจะบุกรุกหรือปิดล้อมหน่วยทหาร ขอให้ยุติแนวคิดการกระทำดังกล่าวโดยทันที
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.ประยุทธ์ ขณะกำลังแถลงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ
ขอบคุณ : ภาพจากโทรทัศน์