ซ้อมทรมาน เรื่องที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ชาวเขาชาวดอยนั้นเป็นกลุ่มต้องสงสัยลำดับแรกๆในเรื่องของยาเสพติด
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า การเป็นทหารนั้นจะได้ร่วมรบอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ขณะที่ เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังลุกโชนอยู่ มีแต่ฝ่ายทหารไทยเท่านั้นที่เสี่ยงอันตราย
และท่านเชื่อหรือไม่ว่า อำนาจรัฐนั้นเที่ยงธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว
ในงานเสวนา “สถานการณ์และแนวทางยุติการทรมานในประเทศไทย” จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัล เบญจา ที่ผ่านมามีผู้ร่วมเสวนาที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง มาเปิดประสบการณ์ที่เคยโดน “ทรมานทั้งกายและจิตใจ” ให้ฟัง
ฆ่าตัดตอนชาวเขาปี 46
คนแรกเริ่มที่ประสบการณ์ของ สีละ จะแฮ ชาวเขาเผ่าลาหู่จาก จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นช่วงปีเดียวกันกับการเริ่มนโยบายฆ่าตัดตอนยาเสพติด
เขาได้เห็นภาพการทารุณกรรมโดยทหารต่อหน้าญาติของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครอง
“ผมไปพูดที่ไหนก็ไม่มีใครเชื่อว่า ทหารได้ล้อมจับ แล้วก็มาซ้อมอย่างทรมานต่อหน้าชาวบ้าน ต่อหน้าญาติพี่น้อง ซ้อมเสร็จแล้วก็โยนขึ้นรถไป เมื่อตามไปที่ค่าย พวกเขาที่ถูกโยนขึ้นรถประมาณ 20 – 30 คนก็หายไป พอเข้าไปที่ค่ายก็เห็นสภาพที่คุมขังว่า เป็นหลุมดินลึกประมาณ 2-3 เมตร
ผมเคยไปลองเจรจากับผู้บังคับหน่วยว่าการที่จับคนเป็นๆมาอยู่ในหลุมแล้วก็ไม่ให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ ผมเจรจากับเขาหลายรอบจนสุดท้ายก็ถูกจับไปไว้ในหลุมนั้นประมาณ 12 วัน
ผมเห็นสภาพที่ชาวบ้านถูกทรมาน เขาจับคนมาราดน้ำ ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณร่างกาย บางคนก็สลบไปก็ถูกสาดน้ำให้ฟื้นขึ้นมาแล้วซ้อมเหมือนกับว่า ไม่ใช่มนุษย์ บางคนโดนรุมซ้อมจนปางตายก็เอาไปฝังโดยที่ยังมีลมหายใจอยู่” สีละพูดถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอมา
ความโหดร้ายในค่ายทหาร
ขณะที่ นริศราวัลณ์ แก้วนพรัตน์ เล่าเรื่องราวของเธอนั้นทำให้เธอต้องออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากกรณีน้าชาย ที่สมัครเป็นทหารเกณฑ์เพื่อไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะโดนครูฝึกและทหารอื่นๆกว่า 10 คนรุมทำร้ายต่อเนื่องนานสามวัน
แม้น้าชายของเธอจะร้องขอการรักษาพยาบาลก็ยังถูกจับมัดตราสังข์และห่อเหมือนศพแห่รอบโรงอาหารในค่าย ทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่ และเมื่อน้าชายถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีการแจ้งญาติให้ได้รับรู้อีกด้วย
“ทางทหารก็มาดูแลเรื่องจัดงานศพทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองว่ามันแปลกคือ มีการเสนอให้คลุมโลงศพด้วยธงชาติ ขอพระราชทานเพลิงศพ และให้เงิน 5 ล้านบาท ทั้งนี้ครอบครัวรู้ว่า น้าชายโดนเจ้าหน้าที่ซ้อมทำร้ายมา
จากนั้นเป็นต้นมาทางครอบครัวเลยตัดสินใจที่จะร้องเรียน แต่การร้องเรียนนั้นลำบากเพราะเราจะโดนกีดกันทุกวิถีทางเลย”
เธอพยายามส่งหนังสือร้องเรียนไปให้แม่ทัพภาคที่ 4 จำนวนหลายร้อยฉบับก็ปรากฏว่า แม่ทัพภาค 4 ไม่ได้รับหนังสือใดๆ จนกระทั่งต้องไปพึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ที่ช่วยเหลือเธอในการติดต่อประสานงานได้ กระทั่งได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ทำให้เกิดการสอบสวนและสามารถฟ้องได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่งเป็นเงิน 18 ล้านบาท
แต่หลังจากที่ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยเหลือ เธอและครอบครัวก็ยังคงถูกคุกคามและขู่ฆ่า เนื่องเพราะว่า ผู้ที่รู้เห็นเป็นใจในการทรมานนั้นมียศสูงทีเดียว และระหว่างการดำเนินคดีเธอต้องกลับบ้านแบบหลบๆซ่อนๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคาม
“ระบบทหารก็เหมือนกับระบบอื่น มีทั้งดีและเลว คนเลวมีน้อยมาก หากกองทัพยังปล่อยพวกนี้ไว้จะทำให้กองทัพเสียชื่อ เหมือนปลาเน่าตัวเดียวเหม็นยกเข่ง ต่อให้หนูได้ 5 หรือ 18 ล้านบาทก็ไม่เท่าชีวิตของคนในครอบครัวที่เสียไปหรอก” นริศราวัลณ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้านสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม บอกว่า ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งด้วยอาวุธ และมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่อำนาจเจ้าหน้าที่เหนือกว่าอำนาจของกฎหมายอาญา นั้นคือกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เกิดการทรมานโดยวิธีที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง
“ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิต่ำกว่าผู้ต้องหาตามกฎหมาย ป.วิอาญาเสียอีก เพราะไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย ไม่มีการรับรองไว้ ไม่มีสิทธิประกันตัว ทนายความเข้าเยี่ยมก็ไม่ได้ แม้ได้รับการผ่อนปรนให้เยี่ยมได้ก็ห้ามพูดภาษายาวี หรือห้ามพูดใดๆเลย และเยี่ยมได้เพียงสั้นๆไม่กี่นาที” สิทธิพงษ์ เล่าถึงสถานภาพของผู้ต้องสงสัยในสามจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากนี้ตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยังได้เล่ากรณีศึกษาต่างๆ เช่นการคุมตัวแม่ลูกให้แยกกันโดยจับลูกกดน้ำเพื่อให้แม่สารภาพผิด อิหม่ามโดนซ้อมต่อหน้าลูกชายจนซี่โครงหักตายและบิดเบือนสาเหตุการตายว่า หกล้ม
“ป.วิอาญา ม.90 ไม่ใช่กลไกที่ปกป้องผู้เสียหายอย่างแท้จริง แต่ยังมีมาตรา 32 ในรัฐธรรมนูญที่ว่าใครก็ตามที่ถูกทรมาน ใครก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลใดก็ได้ เพื่อไต่สวนให้หยุดทรมานและดำเนินการชดใช้ให้ด้วย”
นอกจากนี้สิทธิพงษ์ยังได้ให้ความเห็นว่า ควรมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อยุติการทรมานดีกว่าการเข้าไปแก้กฎหมาย ป.วิอาญา เนื่องจากฝ่ายที่ต้องดูกฎหมายนี้เป็นคนที่ทำการทรมานเสียเอง
การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ
ปิดท้ายด้วยนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้เผยถึงเบื้องหลังการทรมานทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐทั้งสิ้น
“ผมคิดว่าเรื่องการทรมานเป็นเรื่องที่ซ่อนเร้นในสังคมไทย แต่เพิ่งพูดกันมาในช่วงเวลาสิบกว่าปี นับจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้เพราะว่าสังคมไทยยังไม่ตระหนักว่าการทรมานเป็นการกระทำความผิดหรือเป็นอาชญากรรมของรัฐ ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่ารัฐเมื่อจะใช้อำนาจในการทรมานจะอ้างสองอย่างคือ เรื่องความมั่นคงของรัฐ และ อ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ” หมอนิรันดร์อธิบายถึงอาชญากรรมโดยรัฐ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ รับเรื่องร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาก ถึง 59 ราย มีทั้งการทรมานและการสาบสูญที่มักจะเป็นไปพร้อมๆกัน เนื่องจากทรมานแล้วต้องฆ่าปิดปากเพื่อปกปิดความป่าเถื่อน
“ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามทั้งกรณีชาวเขาโดนฆ่าตัดตอนเพื่อกวาดล้างยาเสพติด หรือกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นายกฯ ในตอนนั้นบอกว่า เป็นพวกโจรกระจอกก็ตาม สังคมขณะนั้นสะใจเสียด้วยซ้ำ ก็ต้องยอมรับ เพราะว่าไปเชื่อผู้นำว่าเขาเหล่านี้นั้นสาสมแล้วกับการถูกฆ่า ถูกทำร้าย ถูกทรมาน” หมอนิรันดร์ ระบุ พร้อมกับชี้ว่า ในแต่ละพื้นที่นั้นทำให้เกิดการทรมานมีมากมาย นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนัก หากไม่ตระหนักแล้วรัฐก็จะฉวยโอกาสทันที
เฉกเช่น กรณีชาวเขาที่ถูกหาว่าลักลอบขนยาเสพติด ไปจนถึงกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และล่าสุดคือกรณีของบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงนักต่อสู้ ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย