ผลประโยชน์ทับซ้อน “ทักษิณ” เทียบ “จอมพลถนอม”
ผลประโยชน์ทับซ้อนต่างยุค“จอมพลถนอม”ใช้คำสั่งคณะปฏิวัติโอนที่ดินสาธารณะแลกที่ดินของตัวเองใน จ.ตาก เทียบคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาของทักษิณ?
ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) กรณีจัดซื้อที่ดินกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 33 ไร่ 78.9 ตารางวา วงเงิน 772 ล้านบาท โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 23) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ลงโทษจำคุก 2 ปี และเป็นชนักปักหลัง ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีไปพำนักอาศัยในต่างประเทศจนถึงป่านนี้
ถ้าเทียบกับนายกรัฐมนตรีในอดีต จอมผลพลถนอม กิตติขจร (อดีตนายกฯคนที่ 10) ก็เคยมีกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่อง “ที่ดิน” เหมือนกัน ต่างกันตรงรายละเอียดและข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2515 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 238 แลกเปลี่ยนที่ดินของสาธารณะ ในท้องที่ ต.หนองหลวง อ.เมือง จ.ตาก เนื้อที่ 4 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา กับที่ดินของจอมพลถนอม เนื้อ 5 เศษ 6 ส่วน 10 ตารางวา
เนื้อหาของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 238 มีดังนี้
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เทศบาลเมืองตาก จังหวัดตาก ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ในท้องที่ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เนื้อที่ 4 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา กับที่ดินของจอมพลถนอม กิตติขจร 5 เศษ 6 ส่วน 10 ตารางวาซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับทางซึ่งเทศบาลเมืองตากกำลังจัดทำขึ้นใหม่ โดยผ่านถนนตากสินลงไปบรรจบถนนที่ถมทรายริมแม่น้ำปิง แต่เนื่องจากเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กับที่ดินของเอกชน จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ ในที่ดินซึ้งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังกล่าว หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้โอนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในท้องที่ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เนื้อที่ 4 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้แก่จอมพลถนอม กิตติขจร
ข้อ2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2515
จอมพล ถ. กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ
น่าสังเกตว่า กรณีที่ดินรัชดาของภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ พฤติการณ์เป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์จัดซื้อในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (1) และมาตรา 122 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีของจอมพลถนอมเป็นการใช้อำนาจผ่านประกาศคณะปฏิวัติโอนที่ดิน (แม้เนื้อที่จำนวนน้อยกว่า) มาเป็นของตนเอง (กรณีจอมพลถนอมไม่ถูกลงโทษ)
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาจอมพลถนอม และ พ.ต.ท.ทักษิณก็ถูกยึดทรัพย์ทั้งคู่ ต่างกันตรงจอมพล ถนอมถูกยึดทรัพย์โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 วันที่ 1 ส.ค.2517 โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครอง ราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดทรัพย์โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 (คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553)