สำรวจทัศนะคนสามจังหวัดใต้...การเมืองวุ่นวาย-ทำไมไฟใต้ต้องโชน?
เหตุรุนแรงหลายสิบจุดกระจายไปในพื้นที่ 9 อำเภอ 2 จังหวัด คือ จ.นราธิวาส กับยะลา ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.ต่อเนื่องถึงเช้ามืดของวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.2557 นั้น ก่อความเสียหายไม่น้อย และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลรักษาการไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เพราะมุ่งความสนใจแต่เฉพาะปัญหาความอยู่รอดทางการเมืองเป็นหลัก
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบพื้นที่ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าเหตุการณ์ความไม่สงบลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ภาครัฐระดมสรรพกำลังและงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหามานานกว่า 10 ปีแล้ว
คำตอบที่ได้แทนที่จะเป็นเรื่องสาเหตุ ช่องโหว่ช่องว่าง หรือความซับซ้อนของปัญหาที่ภาครัฐกำลังแก้ไข กลับกลายเป็นการประณามคนร้ายเสียมากกว่า และโยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปยังกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ทั้งๆ ที่ประชาชนคาดหวังว่า หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบงานมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะวางคำตอบที่กระจ่างชัดได้เบื้องหน้าสาธารณะว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายสิบจุดพร้อมๆ กันยังเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อภาครัฐไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน ทำให้คนในพื้นที่แต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละอาชีพ ต่างก็คิดไปต่างๆ นานา...
แนวร่วมฯยังแข็งแกร่ง
นายอับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สถานการณ์เป็นแบบนี้ คือมีเหตุรุนแรงเป็นระยะๆ เวียนไปแต่ละจังหวัดมาหลายปีแล้ว ก่อนหน้าครั้งนี้ก็มีเหตุระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา 2 วันซ้อน คือ วันที่ 6-7 เม.ย. จากนั้นก็มาหนักที่นราธิวาส หลังจากนี้อาจจะไปปัตตานี แต่ระยะหลังสถานการณ์ดูจะหนักขึ้น เพราะลามไปถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
"ต้องยอมรับว่าแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังเข้มแข็งอยู่ เห็นได้จากตามหมู่บ้าน ริมถนน หลายพื้นที่ยังคงมีการเคลื่อนไหว เช่น มีการพ่นสีคำว่าเอกราชปัตตานี (Patani Merdeka) แน่นอนว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุต้องการดำรงความรุนแรงเอาไว้ คำถามคือรัฐจะแก้ไขอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการที่ คุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เดินทางลงพื้นที่ หรือการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่"
การเมืองแรงที่กรุงเทพฯ
นายอับดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายๆ ประเด็นประกอบกัน ปะปนผสมกัน อย่างเช่นเรื่องการเมือง การสร้างสถานการณ์ และการดิสเครดิตเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
"เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดในหลายอำเภอ เหมือนกับว่าเมื่อการเมืองที่กรุงเทพฯแรง ก็เลยมีบางฝ่ายต้องการทำให้เกิดความวุ่นวายในพื้นที่เพื่อประโยชน์บางอย่าง บาบอคิดว่าเหตุผลนี้ใช่เลย"
ยิ่งป่วนยิ่งได้ประโยชน์
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ผู้นำศาสนาชื่อดัง กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่สามารถบอกความต้องการของผู้ก่อเหตุได้ แสดงว่าประโยชน์ของคนเหล่านี้คือการก่อกวนมากกว่าการสนับสนุนของมวลชน นั่นหมายถึงการที่สามจังหวัดไม่สงบสุข ชาวบ้านไม่พึงพอใจเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่เองก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์กับพวกก่อกวนแสวงประโยชน์ โดยไม่ต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่
นายนิมุ ยังไม่เชื่อว่าเหตุรุนแรงดังกล่าวเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนตัวเลขาธิการ สมช.คนใหม่ แต่เลขาธิการ สมช.ควรศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงและดำเนินกระบวนการต่อไปให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทุกระยะ
ทุกปัญหาโยงกันหมด
นางกัลยา เอี่ยวสกุล ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิ์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้เป็นการก่อเหตุแบบปะปนกันหมด ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องสถานการณ์ เรื่องก่อกวน เรื่องการเมือง รวมทั้งการแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกันของคนบางกลุ่มด้วย
ขณะที่ นายสามะแอ อาบะ ชาวบ้านจากปัตตานี เห็นสอดคล้องกันว่า ตอนนี้ทุกอย่างมั่วหมด ปัญหาทุกปัญหาเกี่ยวหมด เพราะยาเสพติดก็เยอะ การเมืองก็แรง ผลประโยชน์ก็มาก ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็มี จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ประชาชนทุกคนตกเป็นเหยื่อได้ทุกเวลา ที่สำคัญความวุ่นวายจากการเมืองส่งผลกระทบกับชาวบ้าน เพราะถ้าการเมืองปกติ ชาวบ้านคงไม่เดือดร้อนแบบนี้ เจอสถานการณ์ความไม่สงบก็แย่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันราคายางยังถูก ราคาสินค้ายิ่งแพง ทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ซ้ำเติมช่วงบ้านเมืองรวน
ด้านนักการเมืองท้องถิ่นใน จ.นราธิวาส ซึ่งไม่ขอเปิดเผยนาม กล่าวว่า อาจเป็นเพราะรัฐบาลไทยกำลังอ่อนแอ จึงเป็นโอกาสของคนที่อยู่นอกประเทศซึ่งกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ในประเทศอยู่ หรือเฝ้าดูคนไทยทะเลาะกันเองเพราะความสะใจ จากนั้นก็สั่งให้มีการสร้างสถานการณ์เพื่อซ้ำเติม
"อาจจะมีประเด็นการแสดงพลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทยด้วย ฉะนั้นตราบใดที่บ้านเมืองอ่อนแอ ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้"
ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงซึ่งเคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัด กล่าวว่า ต้องมองเชื่อมโยงไปถึงเหตุลอบวางระเบิดใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มขบวนการในระดับล่างๆ ที่ไม่ได้รับคำสั่งจากแกนนำโดยตรง เพราะรูปแบบการก่อเหตุเน้นให้เป็นข่าวมากกว่าหวังผลทำลายชีวิตและทรัพย์สิน จึงอาจมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง มีกลุ่มการเมืองไปจ้างวานให้กลุ่มปฏิบัติการเข้ามาทำงาน เหมือนเหตุระเบิดหลายจุดที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อ 22 ธ.ค.ปีที่แล้ว
"ผมคิดว่าเพราะการเมืองในกรุงเทพฯแรง ก็เลยมีบางฝ่ายต้องการสร้างความวุ่นวายเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ" เขากล่าว
จนท.สงสัยปมงบประมาณ
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารระดับปฏิบัติ มองตรงกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกิดจากปมแบ่งแยกดินแดนด้านเดียว เพราะการก่อเหตุหลายๆ จุดคนร้ายไม่ได้มุ่งเอาชีวิตหรือทำลายทรัพย์สินมากกว่าทำให้เป็นข่าว
"เกี่ยวกับงบประมาณหรือเปล่า" ตำรวจระดับล่างนายหนึ่งตั้งคำถาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารยอมรับว่า ปัญหาในพื้นที่ซับซ้อน มีหลายเรื่องเกี่ยวโยงกัน ทั้งผลประโยชน์จากธุรกิจเถื่อน ผลประโยชน์จากงบประมาณที่รัฐทุ่มลงไป มีการเมืองท้องถิ่น การเมืองส่วนกลาง การเก็บภาษีเถื่อนของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทุกเรื่องทุกกลุ่มล้วนเป็นปัจจัยให้แต่ละกลุ่มใช้การก่อเหตุรุนแรงสร้างเงื่อนไขต่อรองได้ทั้งสิ้น จนไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุไหนเป็นเหตุความมั่นคงจริงๆ หรือเป็นการสร้างสถานการณ์ลวงด้วยเหตุผลอื่น
เป็นความสับสน ซับซ้อนที่น่าตกใจจริงๆ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชาวบ้านในตลาด อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กำลังรื้อซากปรักหักพังหลังคนร้ายลอบวางระเบิดและเกิดเพลิงไหม้จนร้านรวงเสียหายหลายคูหา
ภาพโดย : สุเมธ ปานเพชร