นักวิชาการ-ซีพีหนุน300บ.
นัก วิชาการจุฬาฯ-นิด้า ออกโรงหนุนค่าแรง 300 บาท จี้เพื่อไทยต้องทำตามนโยบายหาเสียง หวั่นเกิดราชประสงค์ 2-3 ชี้คนไทยค่าแรงต่ำกว่าเพื่อนบ้าน โวยถึงเวลาคนรวยต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองบ้าง
เมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐ นายจ้าง หรือลูกจ้าง" โดยนายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยมาจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 เป็นต้นทุนที่มาจากส่วนอื่นๆ แต่นายจ้างมักคิดว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนอยู่ไม่ได้ และต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะเกาหลีใต้หรือไต้หวัน เติบโตมาพร้อมกับประเทศไทย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับสูงกว่าไทยและยังสามารถแข่งขันได้ นั่นแสดงว่าประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาต้นทุนส่วนที่เป็นร้อยละ 90 เพราะไทยกดค่าจ้างชั่วคราวเพื่อดึงดูดนักลงทุนและแข่งขันเพื่อการส่งออก ไม่ใช่ผลิตเพื่อป้อนคนในประเทศ หากต้องการป้อนคนในประเทศก็ต้องทำให้คนในประเทศมีรายได้สูงและมีกำลังซื้อ "การที่มักพูดกันว่าค่าจ้างขึ้นแล้วจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ผมคิดว่าเป็นการโยนภาระเงินเฟ้อให้แก่คนงาน ซึ่งไม่เป็นธรรม จริงๆ แล้วรัฐควรดูเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นจนเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่การขึ้นเงินเดือนราชการหรือรัฐวิสาหกิจก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อเหมือนกัน ราคาสินค้าก็พากันขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย มันเป็นเรื่องที่เกินไป" นายแลกล่าว และว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำไม่ได้ คือ 1.ไม่สามารถปฏิเสธการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในทันที เพราะประกาศไว้ชัดเจน 2.ผู้ฟังนโยบายของเพื่อไทยไม่มีใครคิดว่าจะทยอยได้ทีละจังหวัด สำหรับทางออกนั้น อาจให้นายจ้างจ่ายตามข้อเสนอ แต่ไปหักบางส่วนเอาจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งที่ตั้งขึ้น และอาจเรียกเก็บภาษีเอาจากนายจ้าง
"เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ราชประสงค์ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างสันติวิธี ถ้าไม่ทำในโอกาสนี้ อนาคตจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีกแล้ว และไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ราชประสงค์ครั้ง ที่ 2 และ 3 ผมอยากให้ลูกจ้างได้เท่ากับที่ควรจะได้ การจะไปได้ทีหลังหรือทยอยได้เป็นเรื่องไม่ถูก และจะกลายเป็นต้นทุนความสูญเสียสำหรับพรรคการเมืองที่แพงมาก" นายแลกล่าว
นาย แลกล่าวด้วยว่า กรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทยออกมาคัดค้าน โดยระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และอ้างตัวเลขว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการ 2 ล้านแห่ง แต่ตัวเลขของสำนักงานประกันสังคม ระบุมีสถานประกอบการเพียง 2 แสนแห่งเท่านั้น จึงมีคำถามว่า ส่วนต่างนั้นมาจากไหนและสถานประกอบการที่เกินมาเหตุใดจึงไม่ได้อยู่ในระบบ ประกันสังคม ซึ่งธุรกิจใน ส.อ.ท. และสภาหอการค้าฯไม่ใช่ธุรกิจเอสเอ็มอี จึงถือเป็นการตีตั๋วเด็ก นำผลกระทบของธุรกิจคนอื่นมาปกป้องธุรกิจตัวเอง
นาย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นแทคติกของพรรคการเมืองที่ง่ายดี หากสำเร็จก็จะกลายเป็นแบรนด์เนมเหมือนกับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค แม้จะเสี่ยงแต่ถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินการต่อเพราะเท่ากับได้กับได้ "รัฐบาลควรออกมาตรการลดหย่อนภาษี ผมเห็นว่านายจ้างหลายคนพร้อมที่จะร่วมมือ เพราะจริงๆ แล้วต้นทุนที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตไม่ได้สูงมากมาย ที่สำคัญคือนายจ้างก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่เจอค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นก็อยู่ไม่ได้ มันอ่อนแอเกินไป และหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองบ้าง และผมไม่เห็นด้วยกับการจะเอาเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยให้แก่นายทุน"นายดิ เรกกล่าว และว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาวิจัยข้อมูลให้ชัดเจนว่าต้นทุนใน การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับไม่ใช่ปล่อยให้นายจ้างออกพูดฝ่ายเดียว
ด้าน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเริ่มนับหนึ่งของสังคมชราภาพ กำลังแรงงานลดลง ซึ่งคนงาน 1 คนต้องรับภาระทั้งลูกๆ และคนชรา จึงจำเป็นต้องได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และขอยืนยันว่า ประสิทธิภาพแรงงานไทยไปเร็วกว่าค่าจ้าง ตอนนี้ค่าจ้างต่ำกว่าประสิทธิภาพ หากมีการปรับค่าจ้างเชื่อว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานไทยไปเร็วมากขึ้น จากงานวิจัยพบว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างมีค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 6 พันบาท แต่รายได้ที่ทำให้พออยู่ได้คือเดือนละ 7 พันบาท เพราะคนงานต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยงในต่างจังหวัด แต่หากมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 300 บาท จะช่วยเหลือคนงานได้มาก "หากปรับเพิ่ม 300 บาทต่อวัน ต้นทุนรวมเพิ่มเพียง 3 บาทเท่านั้น ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างไม่น่ามีปัญหา เพราะทางออกง่ายๆ คือรัฐบาลชุดใหม่ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอีกู้และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 หากนายจ้างเอสเอ็มอีไปซื้อตึกแถวให้ลูกจ้างอยู่ติดกับสถานประกอบการก็จะช่วย เรื่องค่าเดินทาง ยิ่งจัดสวัสดิการให้ก็อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างถึง 300 บาทต่อวัน" นายณรงค์กล่าว
นายณรงค์กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เคยพัฒนาพร้อมกับไทย อาทิ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ต่างได้รับค่าจ้างสูงกว่าทั้งนั้น แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือรัฐบาลไม่เคยบังคับนายทุนได้ หากเพิ่มค่าจ้าง แต่นายทุนไปเพิ่มราคาสินค้าเชื่อว่ารัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ หากปรับค่าจ้าง 300 บาทได้น่าจะเป็นผลบวกมาก ที่สำคัญตอนนี้เราเข้าสู่สังคมการค้าอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการบริโภคและจีดีพีถึงร้อยละ 1
นายภวิศ ผาสุข ประธานสมาพันธ์เหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากถามนายจ้างว่ากดขี่แรงงานมา 30-40 ปี ยังไม่พออีกหรือ
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของนายจ้างเปลี่ยนไปมาก ส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ ส่งไปต่างประเทศ ขณะที่คนงานไม่มีอะไรดีขึ้นเลย พอมาวันหนึ่งจะปรับขึ้นค่าจ้างก็ออกมาคัดค้าน
ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เปิดเผยว่า เครือซีพีพร้อมจะสนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม อื่น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือระหว่างปี 2540-2553 พบว่าค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มเพียง 1.31 เท่า หรือเพิ่มจาก 157 บาท ในปี 2540 เป็น 206 บาท ในปี 2553 ต่ำกว่าดัชนีราคาสินค้าซึ่งปรับเพิ่มขึ้นถึง 1.42 เท่า หรือดัชนีเพิ่มจาก 75.9 เป็น 108.0 และหากเทียบเป็นรายได้ประชาชาติต่อคนพบว่า รายได้ของกลุ่มแรงงานเพิ่มจาก 56,726 บาทต่อปี ในปี 2540 เป็น 109,000 บาทต่อปี ในปี 2553 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำกว่าอุตสาหรรมอื่นมาก
นาย ศุภรัตน์กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือโดยมาตรการภาษี เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล หรือมาตรการอื่นๆ เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้เงินอุดหนุนโดยเฉพาะผู้ประกอบเอสเอ็มอี
ที่มาภาพ : http://www.algiz.eu/Human_Resources_Management-English