เปิดมุมกฎหมายสิทธิเท่าเทียมคนกับป่า ก่อนพา 'บิลลี่' กลับบ้าน
เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดระดมทุนพา ‘บิลลี่’ กลับบ้าน หลังหายตัวปริศนานาน 1 เดือน นักวิชาการชี้ปัญหาเกิดจากระบบจัดการทรัพยากร-เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ แนะกะเหรี่ยงสร้างเครือข่ายเข้มแข็งต่อรองเจ้าหน้าที่รัฐ
เกือบ 1 เดือนแล้วที่ ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 17 เมษายน 2557 ภายหลังถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ดูเหมือนความพยายามค้นหาตัวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จริงจังมากนัก
ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมออกมาเรียกร้องความยุติธรรมแก่ครอบครัวบิลลี่อย่างต่อเนื่อง แม้ล่าสุด นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเตรียมสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกนอกพื้นที่ เพื่อเปิดทางสืบสวนแล้วก็ตาม แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการดังกล่าว ‘ล่าช้า’ เกินไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมใส่ใจในกรณีคนถูกบังคับหรือทำให้สูญหาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวพาบิลลี่กลับบ้าน กลุ่มดินสอสีและภาคีเครือข่าย จึงจัดงาน ‘เราทุกคนคือบิลลี่ WE ALL BILLY’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางความสนใจจากผู้คนคับคั่ง
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนา ‘บิลลี่หาย:เปิดมุมมองกฎหมาย ความเท่าเทียม สิทธิชุมชน วิถีคนกับป่า’ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า กรณีบิลลี่หายตัวไปนั้นเกิดจากปัญหา 2 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยที่มีมานานแล้ว คือ ระบบการจัดการทรัพยากร และความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก
-ระบบการจัดการทรัพยากร ข้อมูลล่าสุดระบุว่าไทยมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมายทั้งสิ้น 1.5 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งมิใช่คนเหล่านี้อยู่ดี ๆ จะเข้ามาอยู่ในป่าได้ อาจมีบ้างที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ แต่ส่วนหนึ่งได้อาศัยมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ฉะนั้นรัฐจึงพยายามริบเอาอำนาจจากท้องถิ่นและชุมชนในการจัดการทรัพยากร
“สิ่งเหล่านี้ได้พยายามผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2540 ให้ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือสถาบันนโยบาย เพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่ทั้งหมดกลับไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายที่หน่วยงานรัฐใช้เลย” หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ กล่าว และเชื่อว่าไทยมีระบบการจัดการทรัพยากรที่ไม่เปิดให้ท้องถิ่นเข้ามามีอำนาจ ดังเช่นกรณีจ.เพชรบุรี จึงกลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง
-ความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ถูกประทับให้เป็นผู้สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง สิ่งแวดล้อม และยาเสพติด เป็นภาพประทับที่ทำให้เราคิดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในแง่ลบ จึงเป็นเรื่องที่คิดได้ว่าเพราะเหตุใดกลุ่มชาติพันธุ์จึงถูกปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐาน
“จ.เชียงใหม่ไม่ค่อยเจอคนถูกอุ้มหาย เพราะมีการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มและนอกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ป่าขนาดไหนก็จะได้รับการดึงออกมาไว้กลางแจ้ง จนเมื่อมีไฟส่องมาก็จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเบี้ยวได้ยาก เช่นเดียวกันพื้นที่แก่งกระจานควรมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเคลื่อนไหวกับกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งที่สำคัญและขาดไม่ได้” รศ.สมชาย ระบุ
ด้านอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปรียบเทียบให้เห็นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ตอนที่นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายไปว่า สังคมไทยยังไม่เข้าใจประเด็นการบังคับให้สูญหาย และสังคมยังหวาดกลัวต่อการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัจจุบันรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเห็นสังคมไทยบอกจะไม่ทนที่จะเห็นใครทำให้หายไปอีกแล้ว
ซึ่งการบังคับให้สูญหายไม่ใช่เพื่ออคติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเดียว แต่เป็นวิธีการของเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้จัดการกับผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งนี้ มักทำให้สังคมเกิดความคลุมเครือกับผู้สูญหาย เช่น เป็นคนบุกรุกป่า ค้ายาเสพติด ทนายความโจร เพื่อเป็นการอ้างเหตุผลให้เห็นสมควรที่จะสูญหายไป ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ดังนั้น รัฐควรปรับทัศนคติใหม่
“ดิฉันรู้สึกเสียใจที่อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตอบข้อซักถามต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ กรณีบิลลี่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมชาย นั่นคือ ‘ไม่มีศพ’ ” ประธานมูลนิธิยุติธรรมฯ กล่าว และส่วนตัวมองว่าเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดเช่นนั้น ทั้งที่เรายังไม่ได้ค้นหาเลย กระบวนการติดตามหาตัวบิลลี่ยังไม่เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง
อังคณา กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องตามหาตัวบิลลี่ให้ได้ก่อนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม โดยจะต้องทำอย่างจริงจัง พร้อมให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่พยาน และศึกษาอุปสรรคข้อจำกัดกรณีนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ไม่อยากให้บิลลี่เป็นเหมือนสมชาย
ขณะที่สุฤทธิ์ มีบุญ หรือลุงทอง ชนเผ่าจิตอาสาเทือกเขาตะนาวศรี กล่าวว่า กะเหรี่ยงไม่เคยทำลายป่า ซึ่งตามหลักความเชื่อน้ำก็มีเจ้าของ ดินก็มีเจ้าของ ต้นไม้ก็มีเจ้าของ สัตว์ป่าก็มีเจ้าของ แม้พื้นที่จะถูกเผาเหลือแต่ตอไม้ แต่เราทำเพียงปีเดียว ก่อนจะปล่อยให้หน้าดินได้พักฟื้น หมุนเวียนกันไป ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ไส้เดือนก็ไม่ตายด้วย ขนาดตอไม้ยังเอามีดเฉาะไม่ได้เลย เพราะจะกระทบกระเทือนถึงยายโพสพได้ ดังนั้นจึงอยากให้คนพื้นราบเข้าใจกะเหรี่ยง
“กลุ่มชาติพันธุ์หลายคนที่จบดอกเตอร์ควรกลับมาดูแลพวกเราที่ถูกรังแกบ้าง ไม่อยากให้ชนเผ่าทิ้งโครตเหง้าของตัวเอง” ลุงทอง วิงวอน
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการฉายหนังสั้น เรื่อง ‘วิถีชีวิต The way of lives’ ซึ่งเป็นผลงานของบิลลี่และชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย นำเสนอความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน การต่อสู้กับอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึง ‘ก๊อ เก่อ ลา’ พิธีเรียกขวัญของกะเหรี่ยง ท่ามกลางโมบายที่ห้อยระย้าประดับตัวอาคารใจกลางกรุงบ่งบอกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรม "เพื่อหวังพาบิลลี่กลับบ้านเสียที" .