สรุปบทเรียนป่วน 9 อำเภอชายแดนใต้ เปิดปม "ไร้เอกภาพ-ช่องโหว่ รปภ."
"ในวันที่ 13 พ.ค.57 ตรงกับวันวิสาขบูชา...กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงดำรงความพยายามก่อเหตุต่อเจ้าหน้าที่รัฐและราษฎรอย่างต่อเนื่อง ให้หน่วยเพิ่มมาตรการระวังป้องกันการก่อเหตุ...โดยเฉพาะการซุ่มโจมตีด้วยระเบิดและลอบยิง...ในพื้นที่ อ.เมือง อ.รามัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส...และการลอบวางระเบิดในเขตชุมชนเมือง พื้นที่เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองนราธิวาส, เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส...ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
เป็นข้อความบางส่วนของการแจ้งเตือนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะเกิดเหตุรุนแรงทั้งระเบิด ยิง เผาในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.นราธิวาส กับ จ.ยะลา เมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.ต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา
ฝ่ายข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ให้น้ำหนักความสำคัญของข่าวแจ้งเตือนนี้ที่ระดับ 2 (สีเหลือง) และเมื่อเทียบดูกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง ต้องถือว่า "แม่นยำ" พอสมควร
จะเห็นได้ว่าฝ่ายความมั่นคงได้เบาะแสการก่อเหตุรุนแรงมาก่อน ทำให้ข้อสันนิษฐานหลายข้อที่บางฝ่ายเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการสร้างสถานการณ์รอบนี้ ลดน้ำหนักลงไปทันที โดยประเด็นต่างๆ ที่มีการสันนิษฐานกันก็เช่น
1.เป็นการก่อเหตุเพื่อตอบโต้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ให้สัมภาษณ์ค่อนข้างรุนแรงต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2556 แต่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อบางแขนงในช่วงเย็นวันอาทิตย์ ก่อนเกิดระเบิดเพียง 2 ชั่วโมง จึงไม่น่าเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน กลับมีข่าวลืออีกด้านหนึ่งว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อตอบโต้นายถวิลที่ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ (ช่วงที่ชนะคดีรัฐบาลบนศาลปกครองสูงสุด และศาลสั่งให้รัฐบาลคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้นายถวิล) และแสดงท่าทีไม่สานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ข้อเท็จจริงก็คือการให้สัมภาษณ์ทั้ง 2 ครั้ง นายถวิลยืนยันว่าจะสานต่อกระบวนการพูดคุย เพียงแต่ต้องปรับวิธีการ
2.เป็นการก่อเหตุของกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี เพื่อตอบโต้มาตรการของภาครัฐในช่วงที่มีการปรับใหม่จากการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ก็มีข้อมูลโต้แย้งว่า การสร้างสถานการณ์เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค. มีหลายอำเภอในพื้นที่ จ.ยะลา ตกเป็นเป้าหมายด้วย ซึ่งเป็นอำเภอที่ไม่ได้มีความขัดแย้งหรือขัดผลประโยชน์เกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนหรือธุรกิจผิดกฎหมายแต่อย่างใด เช่น อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.กรงปินัง รวมถึง อ.ยะหา
เมื่อข้อสันนิษฐานในลักษณะคาดเดาหรือข่าวลือมีน้ำหนักน้อย จึงต้องย้อนไปค้นหาสาเหตุจาก "หน่วยข่าวความมั่นคง" ซึ่งรับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูลด้านนี้โดยตรง และก็พบคำตอบว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิเสธการเจรจากับรัฐบาลไทย และต้องการดำรงสภาพความรุนแรงเอาไว้ โดยแกนนำฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็นได้ประชุมกันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และมีคำสั่งให้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด โดยฉวยจังหวะช่วงที่การเมืองภายในกำลังวุ่นวาย ระดับนโยบายอ่อนแอ และระดับปฏิบัติไม่มีสมาธิกับสถานการณ์ เพราะจดจ่อกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงมีช่องโหว่ให้ก่อเหตุได้
ทั้งนี้ แม้จะรู้ล่วงหน้า แต่ก็มีปัญหาเรื่องระบบการ รปภ. ซึ่งเป็นปัญหาของฝ่ายรัฐเอง!
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านการข่าว อธิบายว่า ฝ่ายความมั่นคงจะแบ่งงาน รปภ.ออกเป็น 3 วง โดยวงในสุด คือ เขตเมือง มอบให้อาสารักษาดินแดน (อส.) รับผิดชอบ วงที่สอง พื้นที่รอยต่อระหว่างชนบท-ป่าเขากับเขตเมือง มอบหมายให้ตำรวจดูแล และรอบนอก พื้นที่ชนบท-ป่าเขา มอบหมายให้ทหารดูแล
จุดที่มีปัญหามากที่สุด คือ พื้นที่เขตเมืองที่รับผิดชอบโดย อส. เพราะกำลัง อส.ได้รับการจัดตั้งจาก 3 ฝ่าย คือ กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง (มหาดไทย) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปรากฏว่าบางฝ่ายมีปัญหาเรื่องการคัดกรองคนเข้าเป็น อส. ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบส่งคนของตัวเองแฝงตัวเข้ามา นอกจากนั้นยังมีระบบพวกพ้อง เส้นสาย ประกอบกับไม่มีการละลายพฤติกรรมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ความเข้าใจในงาน รปภ.มีน้อย ขาดการฝึกอบรม จึงมีลักษณะต่างคนต่างทำ และทำโดยไม่มีองค์ความรู้ ทำให้มีช่องโหว่มาก
ล่าสุด พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ทราบจุดอ่อนดังกล่าว และกำลังปรับระบบงาน รปภ. แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ไขให้เห็นผลได้ในทันที เพราะเป็นเรื่องของระดับปฏิบัติที่มีกำลังพลจำนวนมาก
นี่คือมุมวิเคราะห์ของหน่วยงานด้านการข่าวจากส่วนกลาง...
ขณะที่ในระดับพื้นที่ ให้น้ำหนักเพิ่มเติมในเรื่องความไม่เป็นเอกภาพและขัดแย้งกันเองระหว่าง "หน่วยงานรัฐต่างสี" โดยโครงสร้างการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในปัจจุบัน แบ่งงานเป็น 2 แท่งตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ที่มี กอ.รมน.รับผิดชอบ กับ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่มี ศอ.บต.รับผิดชอบ
ลักษณะงานจะคล้ายๆ มี "หน่วยปราบ" กับ "หน่วยปลอบ" แต่ใช้กำลังจากหน่วยงานต่างสีกัน และมีความลักลั่นเรื่องอำนาจการบังคับบัญชาและงบประมาณ ส่งผลให้การประสานความร่วมมือค่อนข้างมีปัญหา บางเหตุการณ์ถึงขั้นไม่ร่วมมือกันเลย
ตัวอย่างที่เห็นค่อนข้างชัดและหลายคนตั้งคำถามก็เช่น เหตุระเบิดที่หาดใหญ่เมื่อวันอังคารที่ 6 พ.ค. เหตุใดถึงเข้าไปตูมตามถึงในโรงพัก และทำไมอีโอดี (หน่วยเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด) จากบางหน่วย บางสี ไม่ได้เข้าพื้นที่
นี่คือความซับซ้อนของปัญหาที่ชายแดนใต้ ซึ่งแม้การแก้ปัญหาดูเหมือนจะเดินทางมาไกล แต่แท้ที่จริงแล้วกลับยังไม่ไปไหน เพราะความเป็น "เอกภาพ" ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดของการทำงาน...ยังไม่เกิดเสียที!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพความเสียหายจากเหตุลอบวางระเบิดและเพลิงไหม้ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
ภาพโดย : สุเมธ ปานเพชร