แม่วัยรุ่นไทยมากสุดในเอเชีย ‘เครือข่ายแพทย์’ ผนึกกำลังป้องกันพิการแต่กำเนิด
เครือข่ายแพทย์ชี้เเม่วัยรุ่นไทยสถิติสูงที่สุดในเอเชีย เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เตรียมผนึกกำลังป้องกันการพิการแต่กำเนิด เดินหน้าสร้างพื้นที่ต้นแบบ เริ่มต้นระดับอำเภอ
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน ‘อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี
โดยในเวทีเสวนา ‘ระบบป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด’ ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง และภาคีเครือข่ายสำคัญ กว่า 3 ปีที่ผ่านมา เราได้มีการทำงานเป็นขั้นตอนและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกได้จัดทำคู่มือ 5 กลุ่มโรคพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย คือ กลุ่มอาการดาวน์ หลอดประสาทไม่ปิด ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ความพิการของแขนขา และกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนและมีบุตรเมื่อพร้อมของหญิงวัยเจริญพันธุ์
เนื่องจากประเทศไทยยังขาดความเข้าใจและการตระหนักในความสำคัญของเรื่องดังกล่าว เช่น การได้รับโฟเลตต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ไม่ใช่แค่ตอนตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการมีบุตรพิการแต่กำเนิดสูงถึงร้อยละ 50-75 โดยเฉพาะความพิการจากโครโมโซม เป็นต้น
นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวต่อว่า ต่อมาในปีที่ 2 จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำ Birth Defects Registry Online พร้อมแผ่นพับให้ความรู้ และรณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงความพิการ 5 โรค ในเด็ก เพื่อเป็นการกระตุ้นย้ำให้รู้ถึงอันตรายและผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาได้พยายามรณรงค์ให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคความพิการแต่กำเนิดให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ดังนั้นในปีที่ 3 จึงได้ลงพื้นที่นำร่องใน 22 จังหวัด พร้อมทั้งสร้าง ‘อำเภอต้นแบบ’ รวม 11 อำเภอ ในการวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด โดยก้าวต่อไปจะทำเรื่องป้องกันโรคธาลัสซีเมีย เพราะยังไม่มีการให้ความรู้ในชุมชนรู้ถึงวิธีการป้องกัน ซึ่งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมลงพื้นที่ให้ความรู้ด้วย
“ปัจจุบันแม่วัยรุ่นของไทยมีสถิติสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และนำไปสู่ความไม่สมบูรณ์ของทารกหรือความพิการแต่กำเนิด และยังพบอีกว่าร้อยละ 50 ของหญิงตั้งครรภ์ไม่มีการวางแผนและไม่มีความพร้อมในการมีบุตร ทำให้ไม่ได้รับโฟเลต ฉะนั้นในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนควรรับประทานโฟเลต เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด ซึ่งประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการตื่นตัวมากนัก”
จึงอยากให้แม่ทุกคนเห็นความสำคัญกับการป้องกันโรคความพิการแต่กำเนิดมากขึ้น เพราะความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาสำคัญต่อระบบสาธารณสุข เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย 667 ล้านบาทต่อปีในการดูแล ล่าสุดมีค่าใช้จ่ายเกือบถึง 1 พันล้านบาท ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการดูแลหญิงวัยเจริญพันธุ์ให้ได้รับโฟเลต โดยออกเป็นนโยบายจึงจะทำให้โรงพยาบาลปฏิบัติตาม
ด้านรศ.พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถานการณ์ความพิการแต่กำเนิดมีมากกว่า 7,000 โรค สาเหตุจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยพบทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ประมาณ 24,000 – 40,000 รายต่อปี ข้อมูลจากทั่วโลกพบทารกเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิดกว่า 8,000,000 คน หรือร้อยละ 6 ของทารกแรกเกิดทั่วโลก 135,000,000 คน
ทั้งนี้ ร้อยละ 60 - 70 ของความพิการแต่กำเนิดสามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดหรือดีขึ้นได้ โดยนโยบายการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในปัจจุบันให้สตรีตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของทารกในครรภ์และคัดกรองทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและภาวะ Phenylketonuria (PKU) รวมถึงให้คนที่จะตั้งครรภ์ได้รับสารโฟเลต ภายใต้โครงการ ลูกครบ 32 สมองดี เริ่มต้นที่ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์
“แผนการดูแลรักษาปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดของประเทศไทย ปี 2555-2557 จัดให้มีระบบจดทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดใน 20 จังหวัด โดยเพิ่มความครอบคลุมการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดมากกว่า 95% ทารกแรกเกิดที่มีผลตรวจผิดปกติได้รับการตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันผลที่ผิดปกติให้มากกว่า 95% และให้ได้รับการรักษา มากกว่า 90 % จัดระบบการดูแลติดตามทารกที่ได้รับการรักษา ได้รับยาอย่างต่อเนื่องจนครบเกณฑ์ มากกว่า 90 % พร้อมทั้งผสานโครงการต่าง ๆ ของ สธ. ให้เพิ่มเรื่องวิธีการป้องกันการเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ มากกว่า 90% และการป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมียหญิงตั้งครรภ์และสามีได้รับการตรวจคัดกรอง มากกว่า 70% รวมถึงพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด” รศ.พญ.ศิราภรณ์ กล่าว
ขณะที่รศ.นพ.ถวัลยวงศ์ รัตนสิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์นำร่องในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานระดับชุมชนใน 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ พบว่า ระดับชุมชนมีการจัดทำโครงการป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โดยจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ อสม. ของแต่ละตำบลอย่างต่อเนื่อง จัดทำโครงการอำเภอต้นแบบเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในเขตอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่คัดเลือกอำเภอต้นแบบโดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 เทศบาลเมืองมหาสารคาม และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้รับคัดเลือกเป็น อำเภอต้นแบบ โดยชุมชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดตั้งอำเภอต้นแบบ สร้างระบบการดำเนินงานประสานงานและจดทะเบียนเพื่อป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด เพื่อให้ทราบอุบัติการณ์ พัฒนาระบบประเมินเพื่อให้การวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (early detection) พร้อมส่งต่อข้อมูลและผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในการดูแล ป้องกันและฟื้นฟูให้กับเด็กพิการแต่กำเนิดในแต่ละพื้นที่ ให้มีการพัฒนาระบบการติดตาม ระบบส่งต่อในการดูแลรักษาต่อเนื่องในชุมชนระดับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญจำเป็นอย่างมากเนื่องจากการสื่อสารที่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจนในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด เพราะชุมชน ท้องถิ่นมักมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก ต้องใช้เวลาในการอธิบาย ดังนั้น การลงพื้นที่รณรงค์สร้างความเข้าใจและการสร้าง "อำเภอต้นแบบ” จึงถือเป็นเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำอีกในครอบครัว