ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของรักษาการรองนายกรัฐมนตรี
แถลงการณ์ของสภาทนายความ
เรื่อง ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของรักษาการรองนายกรัฐมนตรีผู้จะทำหน้าที่แทนรักษาการนายกรัฐมนตรี และปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ราชการของรักษาการรัฐมนตรีชุดที่เหลือหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
.................................................
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยโดยมติเอกฉันท์ (9 : 0) ให้รักษาการนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 นั้น ยังมีข้อกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีที่เหลือ ซึ่งจะมีสถานการณ์ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินที่จะทำได้แค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย สภาทนายความเห็นว่าข้อกฎหมายกับการทำความเข้าใจในการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้กับประชาชนโดยทั่วไป จึงออกแถลงการณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของทุกท่าน ดังต่อไปนี้
1.ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงก็คือในขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีรักษาการ คงมีแต่รักษาการรองนายกรัฐมนตรีกับรักษาการรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ 25 คน และตามที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยได้มีการมอบหมายกันในขณะที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น การรับช่วงงานหลังจากมีคำวินิจฉัยแล้วจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ควรตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีและมอบหมายงานให้รักษาการรองนายกรัฐมนตรีได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีทันที
2.ตามความในมาตรา 11 (1) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้นที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน และจะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้” แต่บทบัญญัติของ (1) ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรักษาการรองนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีตามที่มีมติแต่งตั้งกันไป มีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ ดังนั้นในขณะนี้จึงไม่มีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้โดยชอบ
3.ตามความในมาตรา 11 (2) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับนี้ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า รองนายกรัฐมนตรีจะกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวงก็ได้ แต่ต้องเป็นการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้นความในอนุ (2) ของมาตรา 11 นี้จึงเป็นการยืนยันข้อกฎหมายได้ชัดเจนว่ารองนายกรัฐมนตรีที่มาปฏิบัติจะมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีดังที่เข้าใจกันนั้น ต้องได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินให้รักษาการรองนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้ ทำให้กรณีของรักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 จะมาทำหน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นย่อมไม่อาจกระทำได้
4.กรณีที่มีอดีตรัฐมนตรีหลายคนอ้างข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของตนเองยังอยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่กลับมากล่าวอ้างว่าในขณะที่มีคำวินิจฉัยได้มีสองตำแหน่งควบกัน เช่นตนเองดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยหรือเป็นรัฐมนตรีที่ได้ถูกสับเปลี่ยนกระทรวงที่รับผิดชอบไปแล้ว จึงสามารถทำหน้าที่ได้ต่อไปนั้น เป็นกรณีที่พยายามแปลความให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ และไม่มีกฎหมายสนับสนุนข้ออ้างเช่นนั้นอย่างชัดเจน
ในเรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจ่ายเงินเดือนหรือให้สิ่งอำนวยความสะดวกในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่ ต้องเรียกกลับคืนรถประจำตำแหน่งและทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยของรักษาการรัฐมนตรีนั้น ๆ พร้อมกับให้ข้าราชการประจำที่ไปช่วยงานรักษาการรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งกลับสู่งานในหน้าที่เดิมทั้งหมด และต้องงดจ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ให้กับรักษาการรัฐมนตรีทั้งหมดจากเงินภาษีอากรของประเทศโดยทันที
อนึ่ง หากยังมีข้าราชการไม่ยึดถือปฏิบัติโดยยังคงจะรับใช้รักษาการรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วนั้น ควรที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ในทุกส่วนราชการงดการจ่ายเงินและประโยชน์ใด ๆ รวมถึงการเพิกถอนหรือเรียกคืนทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในความครอบครองของรัฐมนตรีนั้นกลับคืนทันทีเช่นกัน
5.การพ้นจากตำแหน่งของรักษาการนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะเป็นการวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นความผิดเฉพาะตัวตามความในมาตรา 182 (7) ของรัฐธรรมนูญก็จริงอยู่ แต่ความในมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (2) และความในวรรคสองของมาตรา 180 ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่าถ้าในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม กล่าวคือต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรคงมีแต่วุฒิสภา กรณีจึงเป็นปัญหาทางกฎหมายว่าวุฒิสภาจะสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ข้อกฎหมายในเรื่องนี้หากจะพิจารณาตามความในมาตรา 132 (2) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุไว้ชัดเจนว่า “การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ข้อความที่บัญญัติไว้นี้ชัดเจนว่าไม่ได้หมายถึงบุคคลดำรงตำแหน่งในหน่วยงานพิเศษ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการตุลาการ เท่านั้น เพราะมาตราเดียวกันนี้ที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ถูกแก้ไขใหม่แล้ว ดังนั้นการแต่งตั้งหรือรับสนองพระบรมราชโองการโดยวุฒิสภาที่ให้มีนายกรัฐมนตรีใหม่ย่อมทำได้ตามบทบัญญัติของมาตรา 132 (2) เพียงแต่ว่าในขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องโยงไปใช้บทบัญญัติของมาตรา 7 กล่าวคือ “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งก็คือวุฒิสภาสามารถที่จะเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีต่อองค์พระประมุขและรับสนองพระบรมราชโองการให้นายกรัฐมนตรีตามที่วุฒิสภาได้เสนอจัดตั้งคณะรัฐบาลและดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญต่อไปได้
สภาทนายความได้เคยให้ความเห็นเรื่องการบังคับใช้มาตรา 7 มาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2549 รายละเอียดปรากฏตามบทวิเคราะห์กฎหมายของสถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมายของสภาทนายความแนบท้าย
จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ที่มา: เฟชบุคสภาทนายความ