บริหารด้วยระบบสาขา ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน ทต.พนม’ เมืองสุราษฎร์ฯ
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม จ.สุราษฎร์ธานี มีสมาชิกครบ 9 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ใช้ระบบสาขากองทุนช่วยบริหารและขยายสมาชิก โดยดึงกลุ่มต่าง ๆ ในตำบลให้เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนฯ รวมทั้งหมด 17 สาขา แต่ให้อิสระในการบริหารจัดการเอง ปัจจุบันมีสมาชิก 4,915 คน คิดเป็น 98 % ของประชากรทั้งตำบล ตั้งเป้าภายในปี 2558 จะขยายสมาชิกครบ 100 % พร้อมทั้งเสนอให้กลุ่มการเงินต่าง ๆ ในชุมชนนำผลกำไรมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการเป็นขาที่ 4 เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน
ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลพนมมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรอยู่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสวนปาล์ม กลุ่มมะนาว กลุ่มผลิตปุ๋ยหมัก- ชีวภาพ กลุ่มเลี้ยงวัว กลุ่มแปรรูปกล้วย กลุ่มข้าวสาร ฯลฯ ซึ่งกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ทางเทศบาลตำบลพนมได้อุดหนุนงบประมาณแบบให้เปล่า เพื่อเป็นทุนในการดำเนินการในช่วงปี 2549-2552 กลุ่มละ 50,000 - 150,000 บาท
ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2551 กลุ่มมะนาวและกลุ่มเกษตรก้าวหน้าจากชุมชนบ้านพังกาญจน์ล่างได้ระดมทุนกันเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก โดยนำเงินผลกำไรของกลุ่มมาจัดตั้งกองทุน เริ่มแรกมีเงินกองทุนจำนวน 5,820 บาท มีสมาชิก 117 ราย ให้สมาชิกแต่ละรายสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 100 บาท และจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บป่วยรายละ 300 บาท เสียชีวิตรายละ 1,000 บาท
หนึ่งชุมชน หนึ่งกองทุน
เจริญศักดิ์ ทองยวน ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม เล่าว่าเมื่อทางเทศบาลตำบลพนมได้ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลฯ ให้งบประมาณอุดหนุน และพบว่าส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ เงินทุนที่ให้ไปไม่งอกเงย เทศบาลฯ จึงได้นำรูปแบบการจัดสวัสดิการของกลุ่มมะนาวฯ บ้านพังกาญจน์ล่างมาศึกษา เมื่อเห็นว่าเป็นรูปแบบการจัดตั้งกองทุนที่ดี เพราะชาวบ้านมีส่วนในการสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือและดูแลกันเอง ทางเทศบาลฯ จึงได้ประสานงานกับทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อมาให้ความรู้เรื่องการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยการสมทบของ 3 ฝ่าย คือ ชุมชน ท้องถิ่น และรัฐบาล
หลังจากนั้นเทศบาลฯ ได้นำรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มมะนาวฯ ไปขยายผล โดยการจัดประชุมสร้างความเข้าใจ แล้วเชิญชวนกลุ่มอาชีพและกลุ่มต่าง ๆ ในตำบลให้เข้ามาเป็นสมาชิก '1 ชุมชนต่อ 1 กองทุน' ในเดือนตุลาคม 2551 ได้ขยายสมาชิกได้ครบ 10 ชุมชน รวม 10 กองทุน กองทุนสวัสดิการระดับเทศบาล จึงมีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 356 คน มีเงินสมทบจากสมาชิก 65,860 บาท โดยแต่ละชุมชนจะมีกองทุนสวัสดิการเป็นของตัวเอง มีเทศบาลตำบลพนมเป็นพี่เลี้ยง แล้วให้แต่ละชุมชนคัดเลือกกรรมการชุมชนละ 1 คนเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารงาน ร่วมกันร่างระเบียบข้อบังคับ 'กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม' ขึ้นมา
“เราให้กองทุนฯ ระดับชุมชนเป็นกองทุนสาขาย่อย ส่วนกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมเป็นสาขาใหญ่ หรือเป็นกองทุนกลาง มีคณะกรรมการบริหารที่มาจากทุกชุมชน โดยทางเทศบาลฯ คอยเป็นพี่เลี้ยง และขับเคลื่อนกองทุนไปพร้อม ๆ กัน” ที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการฯ กล่าว
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกจำนวน 17 ชุมชน และเทศบาลเป็นที่ปรึกษา แบ่งโครงสร้างหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุน, รองประธาน, เหรัญญิก, เลขานุการ, ประชาสัมพันธ์ นายทะเบียน และฝ่ายสวัสดิการกองทุน โดยคณะกรรมการบริหารจะประชุมร่วมกันทุก ๆ 3 เดือน เพื่อรายงานผลการดำเนินการ รายงานตัวเลขบัญชีต่าง ๆ ส่วนกองทุนฯ ระดับชุมชนก็จะบริหารและจัดการกันเอง โดยยึดระเบียบของกองทุนกลางหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมเป็นหลัก
ด้านการบริหารเงินกองทุน เงินกองทุนทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 20 % เป็นกองทุนกลาง ใช้บริหารกองทุน 30 % เป็นเงินกู้ยืม เพื่อลงทุนในวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชนที่ไม่เอาเปรียบสังคม ไม่ทำลายคุณภาพชีวิต ให้กู้ยืมโดยไม่เสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 50 % นำมาจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก
สำหรับสวัสดิการที่จัดให้แก่สมาชิกมี 8 ประเภทคือ 1. เกิด ให้ลูก 500 บาท แม่นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 10 คืน (ปีแรก) และเพิ่มขึ้นตามอายุการเป็นสมาชิก 25 % ต่อปี แต่ไม่เกิน 300 บาทต่อคืน 2.แก่ เป็นสมาชิกครบ 15 ปี อายุ 60 ปี ได้บำนาญเดือนละ 300 บาท และจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปีๆ ละ 100 บาท สูงสุดเป็นสมาชิกครบ 60 ปี อายุ 60 ปี ได้บำนาญเดือนละ 1,200 บาท
3.เจ็บป่วย นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน (ปีแรก) และเพิ่มขึ้นตามอายุการเป็นสมาชิก 25 % ต่อปี แต่ไม่เกิน 300 บาทต่อคืน 4.เสียชีวิต เป็นสมาชิกครบ 1 ปี ได้ค่าทำศพ 5,000 บาท, ครบ 2 ปี ได้ค่าทำศพ 7,500 บาท, ครบ 4 ปี ได้ค่าทำศพ 12,500 บาท, ครบ 8 ปี ได้ค่าทำศพ 22,500 บาท และครบ 15 ปี ได้ค่าทำศพ 30,000 บาท
5.ทุนการศึกษาและอาชีพ ให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย 6.คนด้อยโอกาส กองทุนฯ จ่ายให้นำไปสมทบ 7.สวัสดิการคนทำงาน จ่ายให้ตามความเหมาะสม 8.สวัสดิการเงินสมทบ กรณีเสียชีวิต กองทุนจ่ายเงินสมทบคืนให้ 50 % ของยอดเงินสมทบของสมาชิก โดยกองทุนฯ จะจ่ายคืนเป็นรายเดือน ๆ ละเท่า ๆ กันตามที่สมาชิกสมทบ ฯลฯ
บริหารกองทุนด้วยระบบ 'สาขา'
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม ได้บริหารกองทุนสวัสดิการฯ แบบระบบสาขามาใช้คือให้แต่ละกลุ่ม แต่ละกองทุนที่เป็นสาขาบริหารงานกันเอง เมื่อถึงสิ้นปีบัญชี ( 30 กันยายนของทุกปี) แต่ละกองทุนจะต้องนำเงินสมทบจากสมาชิกคนละ 365 บาทมาสมทบเข้ากองทุนกลาง (กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม) จากนั้นคณะกรรมการกองทุนกลางจะทำการตรวจรับและลงบัญชี เมื่อขึ้นปีบัญชีใหม่ในเดือนตุลาคม กองทุนกลางก็จะส่งเงินสมทบกลับคืนไปให้กองทุนสาขา กองทุนใดส่งเงินสมทบเท่าไหร่ ก็จะได้เงินกลับคืนตามนั้น
“ส่วนเงินสมทบจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เทศบาล และรัฐบาล กองทุนกลางก็จะนำมารวมกัน แล้วจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน คือ 80 % สมทบกลับคืนไปให้กองทุนสาขาตามจำนวนของสมาชิกแต่ละกองทุนสาขาเพื่อให้บริหารจัดการเอง แต่หากเป็นกองทุนของโรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะได้รับเงินสมทบ 100 % ส่วนอีก 20 % จะนำเข้ากองทุนกลาง เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการและนำมาพัฒนากองทุน ”
ส่วนแนวคิดในการนำระบบสาขามาใช้ในการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้น เจริญศักดิ์ ที่ปรึกษากองทุนกล่าวว่า กองทุนหรือฐานการเงินมาจากแต่ละหมู่บ้าน ดังนั้นหากจะนำกองทุนมารวมกันในระดับตำบลชาวบ้านอาจจะไม่ยอม (ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ยังไม่เชื่อใจกัน ฯลฯ) ดังนั้นจึงต้องใช้กองทุนกลางเป็นตัวเชื่อม ดึงเอากลุ่มและกองทุนต่างๆ เข้ามารวมกันโดยมีตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้ามาบริหารกองทุนกลาง ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
“ข้อดีของระบบสาขาก็คือ การบริหารจัดการใช้บุคลากรไม่มาก ชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้ มีการเชื่อมโยงกลุ่มการเงินในชุมชนต่าง ๆ เข้ามาหากัน และ ได้คนเข้ามาร่วมงานในกองทุนกลางร่วมกัน” เจริญศักดิ์กล่าว
อำนวย ใจตรง เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม หรือ 'กองทุนกลาง' กล่าวว่า หลังจากที่กองทุนกลางได้เริ่มขยายสมาชิกในปี 2551 โดยมีกองทุนและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในเทศบาลตำบลพนมเข้าร่วมจำนวน 10 ชุมชน มีสมาชิกเริ่มแรก 356 คน โดยคณะกรรมการกองทุนกลาง ได้ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายสมาชิก โดยการใช้เวทีประชาคมในหมู่บ้านต่างๆ หรือหมู่บ้านใดมีการประชุม คณะกรรมการกองทุนกลางก็จะไปชี้แจงขยายผล หากมีงานศพของสมาชิกกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้านใดก็จะไปร่วมงาน เพื่อให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้เห็นว่ากองทุนฯ ช่วยเหลือสมาชิกจริง นอกจากนี้ก็ยังขยายสาขาไปยังโรงเรียนที่มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว จึงทำให้สมาชิกของกองทุนกลางและสมาชิกสาขาในแต่ละสาขาเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
ในปี 2553 สมาชิกสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 17 สาขา (17 กองทุน) จำนวนสมาชิกทั้งหมด 1,049 คน, ปี 2554 สมาชิกสาขาเพิ่มเป็น 18 สาขา จำนวนสมาชิก 2,354 คน และปี 2555 (กันยายน) เพิ่มขึ้นเป็น 3,314 คน และในปี 2556 โดยในปี 2553 เทศบาลตำบลพนมสมทบเงินเข้ากองทุนกลาง จำนวน 65,860 บาท รัฐบาล 65,860 บาท, ปี 2554 เทศบาลตำบลพนมสมทบฯ 381,571 บาท รัฐบาลสมทบฯ 382, 885 บาท ในปี 2555 รัฐบาลสมทบ 859,210 บาท รวมเป็นเงินที่สมทบเข้ากองทุนกลางจากรัฐบาลและท้องถิ่น 896,176 บาท
สำหรับรายชื่อสมาชิกกองทุนสาขาทั้ง 18 กองทุน ประกอบด้วย 1.สาขาชุมชนตลาด 2.สาขาชุมชนพิทักษ์ 3.สาขาชุมชนวัดพนม 4.สาขาชุมชนสุราษฎร์ 5.สาขาชุมชนบ้านพนม 6.สาขาชุมชนบ้านพังกาญจน์ล่าง 7.สาขาชุมชนบ้านพังกาญจน์เหนือ 8.สาขาชุมชนช่องม้าเหลียว 9.สาขาชุมชนปากบางยวน 10.สาขาชุมชนบางยวน 11.สาขาโรงเรียนพนมศึกษา 12.สาขาโรงเรียนวัดพนม 13.สาขาโรงเรียนช่องม้าเหลียว 14.สาขาโรงเรียนพังกาญจน์ 15.สาขาเกษตร 16.สาขาชมรมคนพิการ 17.สาขาชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลพนม และ 18.สาขาชมรมผู้สูงอายุตำบลพนม (ปัจจุบันสาขา 17 และ 18 ยุบรวมเป็นสาขาเดียวกัน)
ไตรรัตน์ ทองญวน ประธานชมรมคนพิการ เทศบาลตำบลพนม กล่าวว่า ชมรมคนพิการก่อตั้งขึ้นในปี 2553 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนคนพิการจำนวน 69 คน ซึ่งคนพิการที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐเดือนละ 500 บาท เมื่อตั้งชมรมแล้วจึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสาขากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม โดยสมาชิกชมรมฯ ต้องสมทบเงินวันละ 1 บาทหรือปีละ 365 บาท เมื่อถึงเดือนกันยายน ชมรมฯ ก็จะนำเงินจากสมาชิกคนละ 365 บาทสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม เพื่อลงบัญชีเป็นหลักฐาน หลังจากนั้นในเดือนตุลาคมกองทุนสวัสดิการฯ ก็จะคืนเงินสมทบทั้งหมดให้ชมรม
ส่วนเงินสมทบจากเทศบาลฯ และรัฐบาลนั้น ทางกองทุนสวัสดิการฯ ก็จะจัดสรรให้สมาชิกเป็นรายหัว เฉลี่ยเท่ากันทุกคน กองทุนใดมีสมาชิกมาก ก็จะได้รับเงินสมทบมาก เมื่อชมรมคนพิการเป็นสมาชิกกองทุนแล้วจึงได้รับสวัสดิการหลายอย่างเหมือนกับสมาชิกทั่วไป
“ตอนนี้ชมรมคนพิการมีเงินกองทุนทั้งหมดประมาณ 50,000 บาท เราได้นำเงินกองทุนจำนวน 40,000 บาทมาลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 6 ไร่ ปลูกปาล์มได้ประมาณ 120 ต้น ส่วนปุ๋ยเราก็ใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเองเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และให้สมาชิกชมรมช่วยกันดูแล ทำให้ทุกคนมีงานทำ ไม่เครียด อีก 3 ปีก็สามารถตัดขายได้ เมื่อมีรายได้เราก็จะนำเงินมาใช้ดูแลสมาชิก ไม่ต้องรอเงินช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว” ประธานชมรมคนพิการกล่าว
ตั้งเป้าขยายสมาชิกครบ 100 % ในปี 2558
นอกจากสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมจะมาจากสมาชิกกองทุนและชมรมต่างๆ โดยการสมทบเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาทแล้ว สมาชิกกองทุนยังสามารถทำความดีแทนการสมทบเงินวันละ 1 บาทได้ด้วย เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาไหล่ทางหลวงเทศบาลให้สะอาดและสวยงาม การคัดแยกขยะในครัวเรือน เพื่อลดภาระของเทศบาล และการทำความดี ไม่ติดอบายมุข เพื่อลดปัญหาด้านสังคม ฯลฯ โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ในแต่ละสาขาจะพิจารณาว่าในชุมชนใด มีใครที่จะได้รับสิทธิ์นี้บ้าง หลังจากนั้นกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมจะจ่ายเงินสมทบให้คนละ 365 บาท
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวนี้ จะได้รับสิทธิ์ปีต่อปี (ไม่สะสมสิทธิ์เป็นขั้นบันได เช่น หากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก็จะได้รับสิทธิ์เท่ากับผู้ที่เป็นสมาชิกครบ 1 ปี) โดยกองทุนฯ เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกที่ทำความดีจำนวน 210 ราย
วัชรินทร์ รัตนพันธ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนม กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการฯ ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเริ่มต้นในปี 2551 มีสมาชิกกองทุนเพียง 356 คน มีกองทุนเข้าร่วม 10 สาขา และมีเงินกองทุนแรกเริ่ม 65,860 บาท ปัจจุบัน (เมษายน 2557) สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 4,915 คน มีสมาชิกกองทุนเข้าร่วม 17 สาขา มีเงินกองทุนสาขาและกองทุนกลางรวมกันทั้งหมด 7.18 ล้านบาท และที่ผ่านมากองทุนฯ ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า 2 ล้านบาทเศษ
“ตอนนี้สมาชิกกองทุนฯ มีทั้งหมด 4,915 คน หากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดในเขตเทศบาลที่มีอยู่ 5,001 คน เท่ากับว่ากองทุนฯ มีสมาชิกประมาณ 98 % ของประชากรทั้งหมด ซึ่งภายในปี 2558 นี๊ เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะมีสมาชิกกองทุนฯ ครบ 100 % และมีแผนพัฒนากองทุนฯ ให้เข้มแข็ง โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จะไปศึกษาดูงานและจัดอบรมเพิ่มความรู้ ส่วนสมาชิกสาขาก็จะมีการให้ความรู้เช่นกัน รวมทั้งจะขยายการให้สวัสดิการเพิ่มมากขึ้น เช่น สวัสดิการด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หรือแล้วแต่ความต้องการของสมาชิกที่เสนอเข้ามา โดยจะดูจากฐานะการเงินของกองทุนฯ และมติของที่ประชุมใหญ่” ประธานกรรมการบริหารฯ กล่าวถึงแผนงานในอนาคต
เจริญศักดิ์ ทองญวน ที่ปรึกษากองทุนฯ กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบกันระหว่างการอุดหนุนเงินทุนแบบให้เปล่าของเทศบาลตำบลพนมที่ให้กลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการดำเนินการในช่วงปี 2549-2552 กลุ่มละ 50,000 - 150,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 2,167,400 บาท ปรากฏว่าเงินอุดหนุนที่ให้ไปส่วนใหญ่ไม่งอกเงย บางกลุ่มเงินสูญหายไม่สามารถติดตามทวงคืนได้ “เมื่อเทียบกับการอุดหนุนหรือสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการแล้ว ปรากฏผลแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะทุกวันนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีแต่โตขึ้น
เจริญศักดิ์ กล่าวอีกว่าว่ากองทุนสวัสดิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีฐานการเงินมาจาก 3 ขา คือ ชาวบ้าน หน่วยงานในท้องถิ่น และรัฐบาล แต่หากจะทำให้กองทุนสวัสดิการเติบโตเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนก็จะต้องมีอีก 1 ขา เป็นขาที่ 4 ที่มาจากกลุ่มการเงินของหมู่บ้านและชุมชนเอง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะ กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ กองทุนหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน ฯลฯ โดยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะต้องนำรายได้มาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งในเทศบาลตำบลพนมขณะนี้มีตัวอย่างที่หมู่บ้านบางยวน หมู่ที่ 5 ที่นำผลกำไรจากกลุ่มต่างๆ มาสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการ
“เราอยากให้กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนเจียดเงินมาช่วยกองทุนสวัสดิการ เพราะหากต่อไปรัฐบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สมทบเงินเข้ากองทุนฯ เราก็ยังมีอีก 1 ขาที่จะช่วยหนุนเสริมให้กองทุนสวัสดิการมีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถพึ่งพาตัวเองและช่วยเหลือดูแลกันได้ยาวนาน” ที่ปรึกษากองทุนฯ กล่าวทิ้งท้าย
****************************
นี่คือตัวอย่างการดำเนินการของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพนมที่ใช้ระบบสาขาขยายสมาชิกออกไปได้มากมายเกือบ 100% ของประชากรในเทศบาล แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนช่วยกันสนับสนุนกองทุนสวัสดิการเสมือนเป็นขาที่ 4 เพื่อให้กองทุนฯ เกิดความเข้มแข็งและมั่นคงด้วยทุนภายในตลอดไป..!!
ภาพประกอบบางส่วน:เว็บไซต์OKnation