ทบทวนความต่าง คดี “สมัคร-ยิ่งลักษณ์” หลังศาลรธน.ฟันพ้นตำแหน่ง
“..เพราะตอนนั้นคุณสมัครไปเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย การไปเป็นลูกจ้างผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 การกระทำของคุณสมัครเป็นการกระทำต้องห้ามของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะเห็นว่า 2 เรื่องนี้ มีความแตกต่างกัน กรณีคุณสมัคร ไปทำคนเดียว แต่กรณี คุณยิ่งลักษณ์ มี ครม. ร่วมด้วย..”
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี จากคดีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฎิเสธไม่ได้ว่ากรณีหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบในแง่ของความคล้ายคลึงในชะตากรรม คือ คดีของ "นายสมัคร สุนทรเวช" ที่เกิดวาทกรรมว่านายสมัคร “ต้องพ้นจากตำแหน่งเพียงเพราะแค่ทำกับข้าวออกทีวี” นั้น
แท้จริงแล้วข้อเท็จจริง คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายสมัคร มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร?
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ร่วมกับ ส.ว. อีก 28 คน เข้าชื่อต่อประธานวุฒสภา ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง กล่าวแสดงความเห็นต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่างจากกรณีของนายสมัคร
“ตอนนั้นคุณสมัครไปเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย การไปเป็นลูกจ้างผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 และเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ไม่มี ครม. ไปร่วมด้วย การกระทำของคุณสมัครเป็นการกระทำต้องห้ามของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง นายกฯ เพราะผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ไปทำการกระทำต้องห้ามนี้ไม่ได้ เมื่อเป็น นายกฯ จะไปเป็นลูกจ้างไม่ได้ เป็นการกระทำต้องห้าม"
"แต่กรณีคุณยิ่งลักษณ์ เป็นการกระทำที่ ครม. ที่เกี่ยวข้องมีหลักความรับผิดชอบร่วมกันเพราะอนุมัติด้วย จะเห็นว่า 2 เรื่องนี้ มีความแตกต่างกัน กรณี คุณสมัคร ไปทำคนเดียว แต่กรณี คุณยิ่งลักษณ์ มี ครม. ร่วมด้วย” นายไพบูลย์ระบุ
นายไพบูลย์ ยังได้อธิบายรายละเอียดประกอบจากเอกสารข้อเท็จจริง ดังนี้
พิจารณาควบ 2 คำร้อง สว.-กกต. ยื่นคำร้องฟัน “สมัคร” พ้นตำแหน่ง
วันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว ในเลขคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 เรื่องพิจารณาที่ 19/2551 และเรื่องพิจารณาที่ 29/2551
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุถึงสาเหตุที่พิจารณาวินิจฉัยพร้อมกัน 2 คำร้องเนื่องจากมีประเด็นคล้ายคลึงกัน คือ
คำร้องที่ 1. ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายเกรียงไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภากับคณะรวม 29 คน ในฐานะผู้ร้องคนที่ 1 กับนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ในฐานะผู้ถูกร้อง
คำร้องที่ 2.คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้องที่ 2 นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ในฐานะผู้ถูกร้อง และคำร้องที่ 2
ปมมัด ดิ้นไม่หลุด รับค่าจ้าง เฟซ มีเดีย
สำหรับรายละเอียดของคำร้องที่หนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 หรือ นายเรืองไกรกับพวกยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551
ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบระบุได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 267 ที่บัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย
แต่ปรากฏว่าผู้ถูกร้อง (นายสมัคร) เป็นพิธีกรให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดหลายรายการ ซึ่งคำว่า “พิธีกร” เป็นการดำรงตำแหน่งใดหรือป็นลูกจ้างซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งผู้ถูกร้องทราบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ดีอยู่แล้วแต่ยังคงปฏิบัติขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา และได้มายุติบทบาทพิธีกรต่อเมื่อมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้มีอำนาจที่จะตักเตือน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) กำหนดให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อได้กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 267 เพื่อดำเนินการตรวจสอบความสิ้นสุดลงเมื่อความเป็นรัฐธรรมนูญ ของผู้ถูกร้องในฐานะนายกรัฐมนตรี
คำร้องที่สอง ผู้ร้องที่2 คือ กกต. ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบระบุได้ว่า
“เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งว่า ผู้ถูกร้องขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการอื่นๆของบริษัท เฟซมีเดีย จำกัด อันเป็นบริษัทของเอกชนที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน ซึ่งปรากฏต่อสาธารณชนหลายครั้งทางสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำอันต้องห้ามทางมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นับแต่วันที่กระทำการอันต้องห้าม”
ใจความตอนหนึ่งของสำเนาคำพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว ระบุถึงข้อเท็จจริงประกอบคำร้องว่า กกต. ในฐานะ ผู้ร้องที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ความว่า บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ก่อตั้งในปี 2537 มีนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีวัตถุประสงค์รับจ้างจัดทำรายการต่างๆ เพื่อนการโฆษณา การบันเทิง ประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขายทางสถานีวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ สิ่งตีพิมพ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด
นอกจากนี้ ในปี 2543 นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล ได้เชิญผู้ถูกร้องคือนายสมัครเข้าทำหน้าที่พิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” ออกอากาศทางสถานีไอทีวี ซึ่งนายสมัคร ในฐานะผู้ถูกร้องได้รับทำหน้าที่พิธีกรดังกล่าวเรื่อยมา โดยได้รับค่าตอบแทน การเป็นพิธีกรครั้งละ 5,000 บาท และบางครั้งได้รับเงินเพิ่มซึ่งเป็นค่าจัดซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารที่ออกรายการประมาณครั้งละ 1,000-2,000 บาท และในขณะที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง เป็นนายกรัฐมนตรียังได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการยกโขยง 6 โมงเช้า ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด
แต่ไม่ปรากฏพยาน หลักฐานว่า ผู้ถูกร้องได้รับเงินตอบแทนจากบริษัทหรือไม่ สำหรับรายการ “ชิมไป บ่นไป” ได้มีการนำรูปใบหน้านายกรัฐมนตรีและรูปจมูกชมพู่โดยเขียนชื่อผู้ถูกร้องลงโฆษณาเป็นสัญลักษณ์ทางการค้ารูปการ์ตูน ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำรายการ ที่มีผลในการจดจำของผู้ชมโดยทั่วไป ทั้งนี้รูปการ์ตูนดังกล่าวจะมีปรากฏในรายการเป็นระยะๆ อยู่ตลอด
ต่อมานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้พบเห็นการทำหน้าที่พิธีกรในการทำรายการดังกล่าวของผู้ถูกร้อง จึงได้ใช้สิทธิตามมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ผู้ถูกร้องในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดซึ่งทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
ส่วนผู้ถูกร้องให้มีหนังสือชี้แจงว่า การรับเป็นพิธีกรให้แก่ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถในการไปถ่ายรายการ”
ภ.ง.ด.3 หลักฐานมัด “สมัคร” รับค่าจ้างขณะเป็นนายกฯ
แต่เมื่อนายสมัครในฐานะผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ จากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และยืนยันว่าไม่เคยทำการเซ็นสัญญาเป็นลูกจ้างใดๆ กับทางบริษัท และในปี 2550 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 3) ปรากฏว่ามีการจ่ายเงินค่าจ้างแสดงให้ผู้ถูกร้องดังนี้
ครั้งที่ 1.ในเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 2 ยอด เป็นเงิน 147,368.42 หักภาษี ณ ที่จ่าย 7,368.42 และเป็นเงิน 105,267.16 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 5,263.16 บาท
ครั้งที่ 2.เดือนมิถุนายน 2550 เป็นเงิน 105,263.16 หักภาษี ณ ที่จ่าย 5,263.16 บาท
ครั้งที่ 3.เดือนพฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 147,368.42 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 7,368.42 บาท
ส่วนรายการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. 3 ของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ตั้งแต่เดือน
มกราคม 2551 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้รับเอกสารหลักฐานจากกรมสรรพากร
คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเสียงข้างมาก จึงเห็นควรส่งเรื่องที่ผู้ถูกร้องเข้าไปทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการยกโขยง 6 โมงเช้า ของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ไปยังศาสรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การเป็นพิธีกรในรายการดังกล่าว เป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินการ โดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน อันจะทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามความในมาตรา 182 (7) และมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของคำร้องคดีดังกล่าว ประธานวุฒิสภามีหนังสือ ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ส่งคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภาและคณะสมาชิกวุฒิสภา รวม 29 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 91 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม และมาตรา 267 และประธานกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 91 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสาม และมาตรา 267 รวมสองคำร้อง
เหล่านี้ คือ ข้อมูลที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงและความต่างในกรณีพ้นจากตำแหน่งของนายสมัครที่พ้นตำแหน่งเนื่องจากการกระทำผิดตามมาตรา 267 รวมถึงหลักฐานประกอบคำร้องที่ผู้ร้องแสดงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง ในปี 2551
ขณะที่คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลพิจารณาเห็นว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผลต่อการแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็นผบ.ตร. อันมีประโยชน์ซ่อนเร้น ก้าวก่ายการแต่งตั้งโยกย้าย อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ
ส่วนข้อโต้แย้งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ระบุว่าไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการแต่งตั้ง ศาลเห็นว่า แม้เพียงเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงผู้อื่นยังไม่ให้กระทำ แต่การเข้าไปกระผิดเสียเอง ถ้าไม่ได้กระทำโดยสุจริตหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ย่อมไม่ใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้รับยกเว้นให้กระทำได้
ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเอกฉันท์ ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้สถานะรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงส่วนตัว และคณะรัฐมนตรีที่ลงมติจึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวไปด้วย
ตอกย้ำคำพูดที่ว่า เรื่องนี้มีความแตกต่างกัน ตรงที่ "กรณี คุณสมัคร ไปทำคนเดียว" แต่ "กรณี คุณยิ่งลักษณ์ มี ครม. ร่วมด้วย และต้องรับผิดชอบร่วมด้วย" อย่างชัดเจน!
( อ่านประกอบ : ศาลรธน.เอกฉันท์ฟัน"ยิ่งลักษณ์"ย้าย"ถวิล"เอื้อญาติ-ครม.วันลงมติหลุดทั้งยวง )