จาตุรนต์ชี้พบเด็กป.3 หลายหมื่นคนอ่านหนังสือไม่ออก
จาตุรนต์ ชี้พบเด็กป.3 หลายหมื่นคนอ่านหนังสือไม่ออก เผยต้องเร่งส่งเสริมการอ่านและการกระจายอำนาจให้ชุมชน ส่วนปัญหาโรงเรียนชายขอบต้องใช้ระบบแบบทวิภาษา ด้านรองประธานสสค.เสนอ 5 แนวทางสร้างระบบจัดการบริหารการศึกษาให้สำเร็จ
8 พฤษภาคม 2557 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จัดงานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่องคือ การปฏิรูปการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญกับผู้เรียนและส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ชุมชนมีบทบาท การให้ความสำคัญกับผู้เรียนต้องเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนใหม่
"ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีเด็กป.3 อ่านหนังสือไม่ออกหลายหมื่นคน และหลายแสนคนอ่านหนังสือไม่เข้าใจ สาเหตุของปัญหาคือหลักสูตรและเวลาที่เด็กต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ทำให้เวลาสอนภาษาน้อยเกินไปและหลักสูตรใหม่ที่ให้สอนแบบอ่านเป็นคำจำเป็นคำ การส่งเสริมการอ่านเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องอาศัยการส่งเสริมจากหลายองค์ประกอบ อาทิ ปรับปรุงการสอนใหม่ ส่งเสริมให้มีหนังสือดี ห้องสมุดที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมให้คนรักการอ่าน หรือแม้กระทั่งส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเด็ก"
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงโรงเรียนในพื้นที่สูงที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต้องปรับการสอนใหม่โดยใช้ทวิภาษา หมายถึงเริ่มสอนจากภาษาที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวันก่อน เช่น ภาษามาลายู และขยับมาสอนเป็นภาษากลาง ซึ่งทั่วโลกค้นพบมานานแล้วว่า ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นมากกว่าสอนภาษากลางตั้งแต่ต้น ดังนั้นต้องมีกระบวนการพัฒนาครูอย่างจริงจัง
สำหรับการกระจายอำนาจให้กับพื้นที่นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ต้องให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น และมีความสมดุลในการบริหารการศึกษาระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ต้องผสมผสานกัน เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องอาศัยการวางกติกาจากส่วนกลาง เช่น การจัดสอบครู ที่พบว่าการให้แต่ละพื้นที่จัดสอบเองก็พบมาตรฐานที่แตกต่างกัน บางพื้นที่ออกแบบข้อสอบวัดอย่างเข้มข้น บางพื้นข้อสอบก็ง่ายกว่า ซึ่งไม่สามารถวัดผลได้อย่างแท้จริง แต่ผู้สอบได้ทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง
ด้านดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวถึงตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการศึกษาที่ทั่วโลกให้การยอมรับอยู่ 4 ด้าน ซึ่งพบว่าประเทศไทยยังมีปัญหาหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรด้านการศึกษาแม้เราจะลงทุนด้านการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลกแต่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนของบุคคลากรงานบริหารและครุภัณฑ์ หรือระยะเวลาการอยู่ในสถานศึกษาของเด็กที่มีเด็กด้อยโอกาสหลุดออกนอกระบบของการศึกษา ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเกือบครึ่งของประเทศก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และสุดท้ายคือผลลัพธ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ที่สะท้อนผ่านคุณภาพแรงงานว่า แรงงานส่วนใหญ่ในประเทศเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
รองประธานกรรมการ สสค. เสนอว่า หากจะจัดระบบบริหารเพื่อให้ประเทศประสบความสำเร็จทางการศึกษานั้น 1.จะต้องยกระดับคุณภาพของครูเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนการเรียนรู้ในห้องเรียนกระบวนการผลิตครูต้องมีการควบคุมคุณภาพ
2.การลดช่องว่างคุณภาพโรงเรียนเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในทุกพื้นที่เข้าถึงโรงเรียนดีมีคุณภาพกฎระเบียบ นโยบาย กฎหมายเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจโดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนรวมถึงการให้อิสระแก่โรงเรียนในการบริหาร และเพิ่มภาระความรับผิดชอบในการตรวจสอบผลงานแก่หน่วยงานการศึกษาทุกระดับ
3.ขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสผ่านการจัดการระบบประกบตัวดูแลเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มเสี่ยงเป็นรายกรณีรูปแบบในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กด้อยโอกาสเพื่อวางทิศทางการดูแลในทุกพื้นที่
4.สร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อการอ่านและพื้นที่การอ่านด้วยการผลักดันให้เกิดสวัสดิการหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดและส่งเสริมให้วัฒนธรรมการอ่านในครอบครัว
5.ปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังทัศนคติและทักษะการทำงานที่ดี การศึกษาที่แท้จริงต้องนำไปสู่การมีงานทำ จึงต้องสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ที่พร้อมต่อโลกการทำงาน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของแรงงานที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ผ่านการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม
“ยุทธศาสตร์สำคัญจะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่เพื่อให้“จังหวัดจัดการตนเอง”ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว และว่า ขณะนี้มี 10 จังหวัดต้นแบบจากสสค.ที่ลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษาแล้ว10จังหวัด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบบริหารจัดการในภาพรวม โดยต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มิใช่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง