ส่องตำราโบราณ วัฒนธรรมข้าว ที่ชาวนาไม่รู้
"ข้าว" มีคุณค่า และมีค่า สำหรับมนุษย์ คนแถบเอเซียบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ดังนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับข้าว และการทำนาจึงเป็นปัจจัยกำหนดวิถีทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมมาแต่ครั้นโบราณ
อีกทั้ง "ข้าว" ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นแค่พืชอาหารชนิดหนึ่งเท่านั้น หากแต่ "ข้าวคือชีวิต" ที่ผูกพันกับคนตั้งแต่เกิดจนตาย และกลายมาเป็น "วัฒนธรรมข้าว" ที่มีผลต่อความสุขและทุกข์ สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ย้อนกลับไปสมัยโบราณ วัฒนธรรมดั่งเดิมของการทำนา ผศ.เอี่ยม ทองดี เจ้าของรางวัล ผู้ทรงคุณค่าวงการข้าวไทย ประจำปี 2554 เล่าว่า มีชาวนาที่สุพรรณได้ใช้วิธีการดูฤกษ์ยาม ฤกษ์ผานาที วันที่จะปลูกข้าว และวันเกี่ยว
“แกมาเล่าให้ผมฟัง นาข้างๆ ไม่ได้ดูวันเพาะปลูก แม้จะปลูกข้าวได้ดี แต่พอถึงวันเก็บเกี่ยว ไปหารถเกี่ยวเท่าไหร่ รถก็ไม่ว่างสักที แป๊บเดียวฝนมาเสร็จเลย ข้าวเสียหาย แต่นาของแกดูวันปลูก เมื่อน้ำมาก็ไม่เป็นไรเพราะข้าวยังไม่สุก นาแกเลยรอด 200 ไร่"
อาจารย์เอี่ยม พยายามโยงให้เห็นวัฒนธรรมและความเชื่อไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์เอี่ยม เป็นผู้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมข้าวมาตั้งแต่ปี 2526 ไล่เปิดภาพในตำราใบลานเก่าแก่ สมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งเป็นตำราเกี่ยวกับการทำมาหากิน
เนื้อหาภายในเขียนบันทึกด้วยภาษาใต้ มีภาพ พ่อโพสพ แม่โพสพ ประกอบ
ที่น่าสนใจ คือ การบันทึกวิธีกำจัดศัตรูพืชในนาข้าว ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่โหมใช้ยาฆ่าแมลงกันมากมายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยใดๆ เลย
ตำราเล่่มนี้เน้นใช้หลักของความเมตตา คือ การแผ่เมตตาให้ศัตรูพืชต่างๆ แม้กระทั่งคำเรียนขาน "หนู" ยังยกย่องเรียก "พญาช้าง" รวมไปถึง ยันต์ คาถา อาคมต่างๆ ก็ได้ถูกบันทึกไว้หลายหน้าเช่นกัน
อาจารย์เอี่ยม บอกว่า นี่คือความรู้ชุดเก่า ที่เอามาทำยันต์ป้องกันเพลี้ย หนอน หนู โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งมีตัวอย่างชาวนาที่สุพรรณนำตำราเล่มนี้ไปใช้
เหลือเชื่อ ปรากฏว่า ร่ำรวยทุกปี
สำนักข่าวอิศรา นำเสนอภาพบางส่วนให้สอดรับกับ “วันพืชมงคล” 9 พฤษภาคม 2557 ...