ปากคำเยาวชนเหยื่อยาเสพติดชายแดนใต้... วิกฤติสังคมเลวร้ายท่ามกลางความไม่สงบ
“ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่ชายแดนใต้ ซึ่งหลายฝ่ายเคยเข้าใจผิดคิดว่ามีต้นตอจากความเครียดเพราะสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เอาเข้าจริงแล้ว “ยาเสพติด” ที่ระบาดอย่างหนักในทุกชุมชนต่างหากที่กลับกลายเป็นสาเหตุหลัก ทั้งทำให้ผู้เสพกลายเป็นผู้ป่วยทางจิต และยังซ้ำเติมให้ผู้ป่วยทางจิตที่หันเหมาใช้สารเสพติดมีอาการทางจิตหนักขึ้น!
ที่สำคัญในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า กลุ่มเยาวชนผู้ติดยาคือเหยื่ออันโอชะของขบวนการที่สร้างสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน
คำว่า “เยาวชนกลุ่มเสี่ยง” จึงเป็นคำที่พูดกันตั้งแต่แวดวงของคนทำงานด้านความมั่นคง และแวดวงคนสาธารณสุข
กล่าวเฉพาะในมิติของงานด้านสาธารณสุข มารีนี สแลแม พยาบาลวิชาชีพงานสุขภาพจิตและยาเสพติด ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า นอกจากงานดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชซึ่งเป็นดั่ง “ภัยเงียบ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว การแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชซึ่งกว่าครึ่งมีประวัติใช้สารเสพติด ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน จึงจำเป็นต้องทำงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไปพร้อมกันด้วย
และการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ “การป้องกัน” ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็น “เยาวชนกลุ่มเสี่ยง” ในพื้นที่ที่มีการระบาดของยาเสพติดทุกประเภทในระดับรุนแรง
“ค่ายเยาวชนต้นกล้า” เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนให้เข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติดจึงเกิดขึ้น และดำเนินต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ล่าสุดเพิ่งจัดกันไปที่ อ.กะพ้อ เป็นเวลา 6 คืน 7 วัน มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านละ 2 คน ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” ต่อการใช้สารเสพติดประเภทต่างๆ
มารีนี บอกว่า น้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนความรู้สึกและความจริงที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรม “ติดยา” ของพวกเขาเอาไว้อย่างน่าตกใจ
“ช่องว่างระหว่างพ่อ แม่ ลูกในชนบทมีมากขึ้น ไม่ต่างกับเด็กในเมือง พ่อแม่ต้องรีบไปทำงานแล้ววางเงินไว้ เด็กกับผู้ปกครองมีเวลาไม่ตรงกัน ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องการเรียน เช่น จบ ป.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ บางคนอยากเรียนแต่เรียนไม่จบ ครอบครัวให้ออกกลางคันแต่ยังไปแอบเรียนจนไม่มีสิทธิ์สอบเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม สุดท้ายก็เข้าสู่วงจรยาเสพติดเพราะไม่มีที่ไป” มารีนี กล่าว
มีน, และห์, ซี คือเด็กหนุ่ม 3 คนที่ยอมเปิดใจพูดคุยกับ “ทีมข่าวอิศรา” พวกเขามีประสบการณ์ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะ "น้ำใบกระท่อม" แม้พิษภัยจะไม่ร้ายแรงเท่ายาเสพติดประเภทอื่น อาทิ ยาบ้า แต่เมื่อผ่านคืนวันอันเลวร้ายมา ทำให้วันนี้ทั้งสามคนตัดสินใจยุติการข้องเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี
เด็กหนุ่มทั้ง 3 คนอาศัยอยู่ใน อ.กะพ้อ ที่ ต.กะรุบี และ ต.ตะโละ ซึ่งไม่ไกลกันมากนัก ทั้งสามรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจุบันอายุระหว่าง 18-24 ปี บางคนจบแค่ ป.6 บางคนกำลังเรียน กศน.(การศึกษานอกโรงเรียน) เกือบทุกคนบอกว่าครอบครัวไม่มีปัญหาอะไร สาเหตุที่ติดยาเป็นเพราะความอยากรู้อยากลองของพวกเขาเอง มีเพียง “มีน” คนเดียวเท่านั้นที่พ่อแม่แยกทางกัน และเขาต้องอาศัยอยู่กับตาและยาย
“มีน” ในวัย 18 ปี กำลังตั้งหน้าตั้งตาเรียนต่อ กศน.ในระดับมัธยมต้น เขาเริ่มคิดได้หลังจากเกเรอยู่หลายปี และกลับตัวกลับใจเป็นคนดี ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการคบเพื่อน
“พ่อผมอยู่ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แม่ไปทำงานที่มาเลเซีย ผมจึงต้องอยู่กับตาและยายที่กะพ้อ ช่วงเรียน ม.1 ตากับยายไปเมกกะฮ์ (แสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย) ผมต้องไปอยู่กับแม่พักหนึ่ง แล้วก็กลับมาอยู่กับพ่อที่รือเสาะ ช่วงนั้นไปเจอเพื่อนใหม่ เขาชวนโดดเรียนไปเล่นเกม เขาติดน้ำใบกระท่อม ผมอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรก็เลยไปลองกับเขาด้วย ไปๆ มาๆ ก็เรียนไม่จบ เกเรอยู่นานจนกลับมาอยู่กับตายายที่กะพ้อเมื่อไม่นานมานี้ และมีโอกาสได้ไปเข้าค่ายเยาวชนต้นกล้า ได้เจอกับเพื่อนกลุ่มที่เคยรู้จักกันมาก่อน ทำให้ตัดสินใจเลิก” หนุ่มมีนเล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา และว่า
“วันนี้ผมตั้งใจใหม่แล้ว มุ่งแต่เรื่องเรียน ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีที่เคยทำในอดีต” เขาบอก
ขณะที่ “ซี” ในวัย 20 ปี ไม่ได้มีปัญหาเหมือน “มีน” เพราะเขายืนยันว่ามาจากครอบครัวที่อบอุ่น ทำสวนยางพารา เรียนจบถึงชั้น ม.6 แต่เริ่มต้นสูบบุหรี่มาตั้งแต่ชั้น ม.3 แล้วจึงค่อยเขยิบมาเป็นน้ำใบกระท่อม หรือ "สี่คูณร้อย" ตั้งแต่ที่ยังไม่มีกระแสระบาดหนักเหมือนปัจจุบัน เขาบอกว่าต้มกันที่ไหนก็ได้ที่ปลอดคน
“ส่วนผสมมาตรฐานของน้ำใบกระท่อมคือ น้ำอัดลมครึ่งลิตร น้ำเปล่าสองลิตร ยาแก้ไอหนึ่งขวด และน้ำแข็ง ไม่มีการผสมยากันยุงหรือยาฆ่าแมลงตามที่เป็นข่าว ไม่อย่างนั้นคงตายไปนานแล้ว”
“ซี” เล่าว่า สมัยก่อนยาแก้ไอหาง่ายมาก มีขายตามคลินิกทั่วไปและห้างสรรพสินค้าชื่อดังในตัวเมืองปัตตานี ส่วนใหญ่พวกเขาจะใช้ยาแก้ไอตราไก่เหยียบลูกโลกขนาด 60 ซีซี. ราคาก็ถูกกว่าตอนนี้มาก เพราะปัจจุบันพุ่งไปถึงขวดละเกือบ 300 บาทแล้ว
“ช่วงหลังมีคนขายยาแก้ไอในพื้นที่เลย เวลาจะต้มน้ำใบกระท่อมก็โทร.ไปหาเขา ถามว่ามีของหรือเปล่า หรือไม่ก็ตามไปหาคนขายในที่ที่ปลอดภัย” เด็กหนุ่มให้ข้อมูลการเสาะหาวัตถุดิบ และว่า มีผู้หญิงอยู่ในขบวนการขายยาเสพติดประเภทนี้ไม่น้อยเหมือนกัน
“ตอนนั้นเราก็คิดแค่ว่าต้มกินกันตามประสาวัยรุ่น เพราะกินเสร็จก็ไม่มีอาการอะไร ที่สำคัญเรารู้สึกดี ส่วนมากก็ต้มกันหลังเลิกเรียน ต้มแล้วต้องแช่เย็นก่อนจะอร่อยกว่า เวลาจะต้มก็แชร์เงินกัน เอามาหารกันว่าแต่ละครั้งใช้เงินเท่าไหร่ แต่ถ้าต้มตอนนี้แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 300 บาท”
“ซี” บอกว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาอยากเลิกเสพน้ำใบกระท่อม ก็คือพ่อแม่รู้ความจริง และขอให้เขาเลิก...
“สาเหตุที่ผมเลิกได้ง่ายเพราะไม่ได้ไปลองยาเสพติดอย่างอื่น เราแค่อยากลองว่าน้ำกระท่อมเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาผมก็รู้ถึงผลร้ายของยาแก้ไอเหมือนกันว่าจะส่งผลในอนาคต แต่ที่ผ่านมามันไม่เป็นอะไร วันไหนที่ไม่ได้กินก็ไม่มีอาการ”
แม้ “ซี” จะตัดสินใจเลิกเสพ แต่เขาบอกว่าวัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นน้ำใบกระท่อมยังมีขายอยู่ทั่วไป และซื้อง่ายขายคล่องมากกว่าเก่าเสียอีก
“ตอนนี้เขาขายกันเป็นชุดเลย มีวัตถุดิบทุกอย่างครบ แค่โทร.ไปบอกคนขายก็จะเอาของมาส่งให้ถึงที่ ปัจจุบันมีต้มกันทุกหมู่บ้าน แม้แต่เด็กเรียบร้อยดูดีก็ยังกิน ในร้อยคนมีเพียงสิบคนเท่านั้นที่ไม่ลอง ถ้าจะปราบให้หมดไปจริงๆ คงยากมาก เพราะเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ร่วมด้วย”
เยาวชนกลุ่มนี้มีเพียง “และห์” ที่เคยไปเข้าร่วมโครงการญาลันนันบารู หรือ “ทางสายใหม่” ของกองทัพบก ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนตระหนักในพิษร้ายของยาเสพติด แต่ “และห์” ซึ่งยังเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ บอกว่า ผลสำเร็จของโครงการญาลันนันบารูมีน้อย เพราะไม่มีการติดตามพฤติกรรมของเยาวชนที่ผ่านการอบรมแล้วอย่างจริงจัง
“ผมไปร่วมมา 2 ครั้งก็มีกิจกรรมเหมือนเดิม ไม่มีอะไรน่าสนใจ ค่ายไหนก็เหมือนกัน ไม่มีวิธีการใหม่ๆ มากระตุ้นให้เราสนใจ ก็แค่บอกถึงผลเสีย ผมว่าการจะเลิกได้หรือไม่ได้อยู่ที่ใจของแต่ละคนมากกว่า รวมถึงวิธีการที่ทางการจะต้องตามต่อยอดหลังปิดค่าย ถ้าเป็นเหมือนที่ผ่านมาก็น่าเสียดายงบประมาณมาก” เขากล่าว
ปัจจุบัน มีน, ซี, และห์ ได้หันมาร่วมกันทำกิจกรรมเพิ่มรายได้ หรือไม่ก็ไปร่วมกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนต่างๆ ซึ่งทั้งสามบอกว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้พวกเขาคิดได้และมีโลกทัศน์กว้างขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ มารีนี ให้ข้อมูลเสริมว่า มีเด็กวัยรุ่นที่ออกจากวงจรยาเสพติดแล้วสมัครใจรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเสริมให้มีอาชีพมีรายได้โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น บางกลุ่มหัดทำพิมเสน ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ในนามของ “ชมรมเยาวชนอาสาฟ้าหลังฝน” ซึ่งหมายถึงคนที่ผ่านวิกฤติมา เป็นฟ้าหลังฝนที่สดใส ต่อยอดจาก “ค่ายเยาวชนต้นกล้า”
นับเป็นความหวังเล็กๆ ประหนึ่งไม้ขีดไฟในความมืด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่กลายเป็นวิกฤติร้าย ณ ชายแดนใต้ซ้ำเติมสถานการณ์ความไม่สงบ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : วัตถุดิบหรือสารตั้งต้นสำหรับต้มน้ำใบกระท่อม ยาเสพติดที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่วัยรุ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในหมู่ของพวกเขาเรียกกันว่า "สี่คูณร้อย"