อาคารพาณิชย์ย่านสายไหมใช้เป็นที่ตั้งร.ร.ปวีณาฯ-ไม่พบข้อมูลแจ้งป.ป.ช.
"อิศรา"บุกพิสูจน์ที่ดิน-อาคารพาณิชย์ 2 หลัง ย่านสายไหม“ปวีณา” พบถูกใช้เป็นที่ตั้งทำธุรกิจโรงเรียนชื่อ"ปวีณาหงสกุลการบริบาล" -ไม่ปรากฎข้อมูล "รายได้- เงินลงทุน" ในบัญชีทรัพย์สินแจ้ง ป.ป.ช.?
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นางปวีณา หงสกุล แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ว่า ครอบครองที่ดินเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แปลง รวมมูลค่า 950,000 บาท โดยที่ดินแปลงหนึ่งได้มาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ก่อนเข้ารับตำแหน่งรมว.พัฒนาสังคมฯ เพียง 20 วัน
นอกจากนี้ นางปวีณา ยังแจ้งว่าครอบครองอาคารพาณิชย์ 2 หลังเลขที่ 39/20 และ 39/22 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร มูลค่ารวม 2,000,000 บาท บนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวด้วย นั้น
(อ่านประกอบ:ยลโฉมอาคารพาณิชย์ - ที่ดิน “ปวีณา” ได้ก่อนรับตำแหน่งรมต. 20 วัน !)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลที่ดินและอาคารพาณิชย์ ทั้ง 2 แห่ง ของนางปวีณาดังกล่าว
พบว่า อาคารพาณิชย์ เลขที่ 39/20 ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีผู้พักอาศัยอยู่ภายใน
ส่วนอาคารพาณิชย์เลขที่ 39/22 ถูกระบุว่าเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ชื่อ "ปวีณาหงสกุลการบริบาล"
จากการสอบถามข้อมูลเจ้าหน้าที่โรงเรียนดังกล่าว ได้รับแจ้งว่า อาคารพาณิชย์ เลขที่ 39/20 เป็นของลูกชายของนางปวีณา ซื้อไว้เพื่อทำเป็นออฟฟิศ แต่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร จึงถูกปล่อยทิ้งรกร้าง ส่วนอาคารพาณิชย์เลขที่ 39/22 เป็นที่ตั้งโรงเรียนปวีณาหงสกุลการบริบาล ของนางปวีณา
"เรื่องราคาซื้อขายผมไม่รู้ ผมเป็นแค่ลูกน้องเขา และไม่เคยเจอลูกชายคุณปวีณาสักครั้ง" เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายปี 2555 นางปวีณา หงสกุล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงการเปิดโรงเรียนปวีณา หงสกุลการบริบาล เพื่อหวังให้เยาวชน หรือเด็กยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา หรือ ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ จะส่งลูกเรียนชั้นสูงๆ และต้องการให้ลูกเรียน สายอาชีพ ในค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง หลักสูตรระยะสั้นเพียงหกเดือนก็สำเร็จการศึกษา
ทั้งนี้ โรงเรียนปวีณา หงสกุลการบริบาล ได้ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ จัดการเรียนการสอน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาธุรกิจพยาบาลแบบเทียบโอน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปวีณา หงสกุลการบริบาล ก็สามารถทำงานหรือศึกษาต่อได้ที่ วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศได้
“ดิฉันมั่นใจว่า โรงเรียนปวีณา หงสกุลการบริบาล จะให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพภายใต้การบริหารงานของแพทย์ พยาบาล อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านการสอน และพรั่งพร้อมประสบการณ์วิชาชีพเฉพาะทาง เพื่อให้นักศึกษามีความสำเร็จก้าวหน้า มีอาชีพมั่นคงมีรายได้ ดูแลตนเองและครอบครัวได้ แม้แต่เด็กด้อยโอกาส ไม่มีเงิน และรายได้ ทางโรงเรียนจะมีการจัดหาทุน ให้เด็กได้เรียนฟรีตลอดหลักสูตรและหางานให้ทำ เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีผู้ด้อยโอกาสให้มีการศึกษาอาชีพ รายได้” คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นคนดี และมีอนาคตที่ดีได้ หากเขาเหล่านั้น ได้รับการชี้แนะที่ถูกต้อง” นางปวีณาระบุ
(อ่านรายละเอียด ใน http://www.thairath.co.th/content/287686)
จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ พบว่า โรงเรียนปวีณา หงสกุลการบริบาล ระบุว่า เปิดรับนักเรียนจบ ม.3 และ ม.6 และอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เรียนสาขาการดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ จบการศึกษาจะได้รับประกาศณียบัตรจากท่านปวีณา หงสกุล ได้รับการฝึกงานจากโรงพยาบาลชั้นนำ
ส่วนกรณีศึกษาต่อ : สามารถนำประกาศณียบัตรไปสะสมเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ เพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงต่อได้ที่วิทยาลัยการอาชีพนวมินราชูทิศ
- จบ ม.3 รวมเทียบโอน เรียน 3 ปี ได้วุฒิ ปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ)
- จบ ม.6 รวมเทียบโอน เรียน 2 ปี ได้วุฒิ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง)
เวลาเรียน รวม 6 เดือน ดังนี้
-การดูแลเด็กเล็ก หลักสูตร 3 เดือน (12 สัปดาห์)
เวลาเรียนภาคทฤษฎี 300 ชั่วโมง ฝึกงาน 120 ชั่วโมง รวมเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง
-การดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตร 3 เดือน (12 สัปดาห์)เวลาเรียนภาคทฤษฎี 300 ชั่วโมง ฝึกงาน 120 ชั่วโมง รวมเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง
- สอนสัปดาห์ละ 5 วัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-17.00 น. พักกลางวัน 12.00 น.- 13.00 น.(ระบุวันหยุด)
ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 40,000 บาท (จ่ายสดลดให้ 2,000 บาท)
-ค่าที่พักรายเดือน 1,500 บาท (กรณีที่ไปกลับไม่ต้องจ่าย )
-ค่าไฟ ค่าน้ำ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าแอร์)
กรณีที่ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา แบ่งชำระเป็น 4 งวด
งวดที่ 1 วันสมัครเรียน 6,000 บาท
งวดที่ 2 เดือนที่ 1 12,000 บาท
งวดที่ 3 เดือนที่ 2 12,000 บาท
งวดที่ 4 เดือนที่ 3 10,000 บาท
รองเท้าหุ้มส้นไม่มีลวดลาย ให้นักเรียนซื้อเอง
-รองเท้าคัชชูสีขาว ถุงเท้าสีขาว (สำหรับนักเรียนหญิง)
-รองเท้าคัชชูสีดำ ถุงเท้าสีเทา (สำหรับนักเรียนชาย)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ นางปวีณา ต่อ ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.การกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางปวีณา แจ้งว่า มีรายได้ประจำจาก "มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี" และ "ตำแหน่งรมต." ไม่มีปรากฎข้อมูล "รายได้-เงินลงทุน" ในการทำธุรกิจโรงเรียนแห่งนี้แต่อย่างใด
หรือโรงเรียนแห่งนี้ แจ้งปิดกิจการไปแล้ว?