‘สุราษฎร์–ชุมพร-นครฯ’ ยันเลิกแผนพัฒนาภาคใต้ ลั่นไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์
คนสุราษฎร์–ชุมพร-นครฯ ปฏิเสธโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหิน-โรงถลุงเหล็ก-ท่าเรือน้ำลึก สภาอุตสฯจว. ชี้ต้องการอุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตร เครือข่ายประชาชนจี้“สภาพัฒน์” หยุดสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งรัฐ-ชาวบ้าน
วันที่ 22 ก.ค.54 ที่โรงแรมไดมอนด์ จ.สุราษฎร์ธานี บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทปรึกษาฯ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง กล่าวว่าการพัฒนาพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยจะเน้นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด แปรรูปอาหาร สำหรับพื้นที่ที่เหมาะที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมคือ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา
นายศักดิ์ชัย ยังกล่าวว่า ภาคใต้มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เคยมีแนวคิดจะขุดคอคอดกระ มีการทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มาแล้วหลายฉบับ แต่ภาครัฐขาดนโยบายชัดเจน หลังจากแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 ประกาศใช้ 1 ต.ค.54 เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาจะเป็นรูปธรรมขึ้น
นายชาญชัย ช่วยจันทร์ สมาชิกพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่าอ่านเอกสารที่บริษัทที่ปรึกษาฯแจกเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานทั่วไป หลายอันเป็นข้อมูลเก่าปี 2551 ควรมีข้อมูลปี 2553–2554 ประกอบด้วย บริษัทรับงานจากสภาพัฒน์ฯมีเวลาทำงานระหว่าง ก.ค.53–ก.ย.54 เหลือแค่ 2 เดือน ได้ข้อมูลแค่นี้ถือว่าบกพร่องมาก
นายชาญชัย กล่าวอีกว่าสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก ต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ถ้าปล่อยให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันเข้ามาขุดเจาะจะกระทบธุรกิจการท่องเที่ยว นี่คือสาเหตุการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันของคนเกาะสมุย เกาะพะงัน ตนขอให้บริษัทที่ปรึกษา แจ้งสภาพัฒน์ฯ เสนอให้รัฐบาลยกลิกแผนพัฒนาภาคใต้
นายจตุพร วัชรนาถ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สภาอุตสฯ มีมติว่าสุราษฎร์ธานีไม่ควรมีอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก แต่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร ต้องการให้แก้ไขระบบการขนส่งให้สะดวก และมีระบบขนส่งทางรางเพื่อลำเลียงสินค้า โดยให้สุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าเชื่อมต่อไปยังท่า เรือแหลมฉบัง
นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่โรงงานต้องการความสด จึงต้องการระบบการขนส่งที่รวดเร็วและประหยัด โรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร ควรกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ควรกระจุกตัวเหมือนมาบตาพุด ของเสียจากโรงงานเป็นของเสียจากจุลินทรีย์สามารถบำบัดด้วยเทคโนโลยี หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล
“ภาคใต้ไม่มีศักยภาพในการรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ผมพอใจที่จะขนสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ควรมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล หรือท่าเรือน้ำลึกที่ไหนใดๆ อีกแล้ว ควรศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มทุนด้วย” นายจตุพร กล่าว
นายรนเทพ คมศิลป์ สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร กล่าวว่าการผลักดันโรงงานถลุงเหล็กในชุมพร มีการแอบอ้างว่าจะส่งผลให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทำให้เกิดรถไฟรางคู่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการก่อสร้างเขื่อน เพื่อนำน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้ง
นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต กล่าวว่าการทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่จัดประชุมแบบหลบๆซ่อนๆ เพื่อดำเนินกระบวนการให้ครบตามขั้นตอน การประชุมครั้งนี้ไม่ชอบธรรม ข้อมูลที่ใช้ไม่เป็นปัจจุบัน
นายศักดิ์ชัย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ได้รับงบประมาณจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นฯ แค่ 4 ล้านกว่าบาท และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาร่วม การลงพื้นที่มาจัดประชุมทั้ง 7 เวที ควรจะดำเนินการมาก่อนหน้านี้ แต่ติดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ และอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ทางบริษัทจึงสร้างเฟซบุ๊คชื่อผังพัฒนาภาคใต้ และอีเมลล์ [email protected] เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมนำเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม
นายนภดล ถามว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 จะประกาศใช้ใน 1 ต.ค.54 ทำไมยังจ้างบริษัทศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อยู่อีก จะเข้าแผนยุทธศาสตร์ได้ทันหรือ นายศักดิ์ชัย ตนก็ไม่ยืนยันว่าข้อมูลที่ศึกษานี้ทางสภาพัฒน์ฯ จะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายสมชาย มโนธัม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าหากภาครัฐยังดึงดันเดินหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ จะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างคนภาคใต้กับรัฐบาลส่วนกลาง
“ชาวบ้านอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าบ้านตัวเองจะมีโรงถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังไม่ทราบว่าโครงการเหล่านี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเขา หยุดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน จากแผนพัฒนาภาคใต้เสียที” นายสมชาย กล่าว .