ตามรอย บ.เหมืองแร่ไทย รุกวิถีป่า-น้ำ-ฅน บนเทือกเขา “ตะนาวศรี” (ตอน1)
“..ที่นี่คือชีวิต เป็นชีวิต เป็นบ้าน ถ้าบ้านของเราจะต้องถูกทำลาย ถึงตอนนั้นก็คงจะขอสู้จนถึงที่สุด เสียเลือดเสียเนื้อก็ต้องยอม..”
-1-ก่อนผืนป่าและสายน้ำจะเสื่อมโทรม
สายน้ำ “บาน” ที่เชี่ยวกรากตรงหน้าคือสาขาของแม่น้ำตะนาวศรี ขุนเขาสองฟากข้างที่โอบล้อมยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของเทือกเขาแห่งนี้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังเคเอ็นยู ( KNU หรือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง )
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org และเพื่อนร่วมทางชาวไทยรวม 7 ชีวิต ข้ามแดนด้วยการเดินทางเข้าสู่ด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ก่อนเดินทางต่อด้วยรถยนตร์เลขทะเบียนเมียนมาร์อีกราว 5 ชั่วโมง สู่หมู่บ้านปองดอว์ซึ่งเป็นท่าเรือเพื่อโดยสารเรือไม้มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านที่เป็นจุดหมายปลายทาง โดยมีเพื่อนชาวเมียนมาร์ชาติพันธุ์ทวายและชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรับหน้าที่พาไปเยือนหมู่บ้าน “กะตอว์นี” ที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบต้นลำน้ำบาน
ที่ซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับป่า เขา และสายน้ำอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กระทั่ง เมื่อไม่นานปีที่ผ่านมา ภายหลังสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่าและเคเอ็นยู ในปี พ.ศ.2555 สิ่งที่ตามมาคือเมื่อกลุ่มทุนธุรกิจเหมืองแร่สัญชาติไทยได้รับสัมปทานให้เข้ามาขุดแร่ ทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรีแห่งนี้ นับจากนั้น ภูเขาและสายน้ำของชาวกะตอว์นีและหมู่บ้านใกล้เคียงก็เริ่มถูกทำลายจากการทำเหมืองถ่านหินที่ทำให้ลำห้วยของพวกเขาไม่สะอาดดังเดิม
วัตถุประสงค์ของการเดินทางล่องแม่น้ำบานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นไปเพื่อตามรอยผลกระทบจากการทำเหมืองของคนไทยที่ได้สร้างความเสียหายให้กับวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่รวมทั้งผืนป่าและสายน้ำของพวกเขา
-2-ตามรอยเหมืองถ่านหิน บนผืนแผ่นดินแห่งการปะทะ
สำหรับเหมืองที่สร้างผลกระทบให้แก่ชาวบ้านหมู่บ้านกะตอวน์นีและหมู่บ้านใกล้เคียง คือเหมืองถ่านหินบานชอง ของบริษัทอีสต์ตาร์ ที่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2555 ภายหลังสนธิสัญญาหยุดยิง โดยมีบริษัท May Flower Mining Enterprise ได้รับอนุญาตสัมปทานในการสร้างถนนลูกรังจากเขตบานชองเพื่อขนถ่านหินที่ผลิตได้จากบริษัทอีสต์สตาร์
เคเย็นยูได้อนุญาตให้ บริษัท อีสต์สตาร์ ดำเนินการทำเหมืองแร่ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และสามารถต่อใบอนุญาตได้ทุกปีจนถึงปี พ.ศ. 2579 (หรืออีก 22 ปีนับจากนี้) บริษัทอีสต์สตาร์ทำเหมืองถ่านหินโดยมีคนงาน 40 คน และเก็บกองถ่านหินไว้ที่หมู่บ้านอะมาร์ใกล้กับชายแดนไทย
รายงานผลกระทบ จาก Dawei Development Association (DDA ) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองและผลกระทบจากโครงการรท่าเรือน้ำลึกทวาย ระบุว่าโครงการเหมืองถ่านหินบานชอง ตั้งอยู่ในเขตบานชอง (Ban Chanung) ซึ่งมีความหมายว่า หมู่บ้านแห่งลำน้ำบาน ตั้งอยู่ในเมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ เป็นเขตการปกครองสองระบบภายใต้รัฐบาลพม่าและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู)
เดิมพื้นที่นี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการสู้รบเป็นเวลายาวนานโดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2539-2540 จากเหตุการณ์ที่กองกำลังทหารพม่าได้ปฏิบัติการโจมตีค่ายมินตามี (Minthamee) ของเคเอ็นยู ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของกองพลที่ 4 ของกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (KNLA)
แต่ในเวลาต่อมา ภายหลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่าและเคเอ็นยู ในปี พ.ศ.2555 ได้มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนในเขตนี้ รวมถึงบริษัท May Flower Mining Enterprise ที่ได้รับสัมปทานในการทำเหมืองถ่านหินในเขตบานชอง เลียบแม่น้ำบาน (Ban) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำตะนาวศรี ชาวบ้านแถบนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำ ปลูกหมากเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน
รายงานของ DDA ระบุด้วยว่า บริษัท อีสท์สตาร์ ได้ลงนามข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกันกับบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ตามรายงานของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ระบุว่า บริษัท อีสท์สตาร์ ได้รับสัมปทานพื้นที่ 1,262 ไร่ (504.8 เอเคอร์) ในการทำเหมืองถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางบริษัท อีสท์สตาร์ ได้พบกับชาวบ้านในวันที่ 18 มกราคม 2557 ผู้จัดการของบริษัทได้กล่าวว่า บริษัทจะทำเหมืองบนพื้นที่กว่า 8,000 เอเคอร์
นอกจากนี้ ยังมี บริษัท Thai Asset Mining Co.ltd (TAM) ที่ได้รับอนุญาติให้สร้างถนนสำหรับเป็นเส้นทางขนถ่านหิน จากหมู่บ้านกะตอว์นี ทั้งที่เคเอ็นยู ยังไม่ได้อนุมัติสัมปทาน ขุดเจาะเหมืองอย่างเป็นทางการซึ่งหากเคเอ็นยูยินยอมให้ไทยเอทเสทไมนิ่ง ทำเหมืองแร่ถ่านหิน-ดีบุก หมู่บ้านกะตอว์นี จะหายไปเกือบทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากพื้นที่ที่ ไทยเอสเสทไมนิ่ง ได้รับสัมปทาน คือหมู่บ้านของพวกเขา
ทันซิน เจ้าหน้าที่ของ DDA ที่นำคณะของเราเข้าพื้นที่กะตอว์นี อธิบายข้อมูลเบื้องต้นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในแคว้นตะนาวศรีที่มีการทำสัมปทานเหมืองแร่ จะเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างๆ และการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนส่วนใหญ่มักจะเป็นบริษัทจากจีนและไทย ที่เข้ามาในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่
"ปัญหาส่วนใหญ่ ที่เราได้รับฟังหรือได้พบ คือบริษัทที่เข้ามาทำเหมืองมีการดำเนินการที่แย่ ชาวบ้านได้รับผลกะรทบ และพยายามร้องเรียนอยู่เสมอเพราะเมื่อรัฐบาลให้สัมปทานในที่หนึ่ง สิ่งที่ชาวบ้านเจอคือเขาถูกยึดพื้นที่ไป และอีกประเด็นคือการทำเหมืองแร่ กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน คนที่นี่ตั้งคำถามว่าการทำเหมืองควรมีวิธีปฏิบัติและขั้นตอน การดำเนินการที่ดีกว่านี้ แต่ บริษัท ใหญ่ๆ ที่เข้ามาที่นี่ไม่มีกระบวนการนั้นและรัฐบาลพม่าเองก็ไม่มีการติดตามตรวจสอบ ดังนั้น เมื่อชาวบ้านประสบปัญหาจากเหมืองแร่ ข้อร้องเรียนของชาวบ้าน มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร"
"หลังจากกระบวนการสันติภาพหรือสนธิสัญญาหยุดยิง มีนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ตะนาวศรีเพื่อทำการพัฒนา มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไทยที่เข้ามาทำเหมือง ซึ่งชาวบ้านที่นี่มองว่าบริษัทไทยคงไม่สามารถทำแบบนี้ที่ไทยได้ แล้วทำไมเขาถึงมาทำแบบนี้ที่นี่ นี่คือ ทัศนคติที่ชาวบ้านมีต่อบริษัทเหล่านี้"
"สำหรับพื้นที่ของบริษัทอีสต์สตาร์ ในเบื้องต้น ตอนนี้อีสต์ตาร์ได้พื้นที่ทำเหมืองถ่านหินไปแล้ว 6,000 เอเคอร์ ส่วนบริษัทไทยเอทเสท ไมนิ่ง ทำได้แค่ถนนในการขนถ่านหิน ยังรอการอนุญาตสัมปทานพื้นที่ขุดเจาะอยู่ แต่แม้ยังไม่มีการอนุญาตจากเคเอ็นยูอย่างเป็นทางการ แต่การทำถนนที่เกิดขึ้นก็อาจยืนยันความเป็นไปได้ว่ามีการตกลงกันอ้อมๆ แล้ว เพียงแต่ยังไม่ออกมาสู่สาธารณะ เพราะการสร้างถนน ก็บอกได้อยู่แล้ว ว่าไทย เอทเสท ไมนิ่ง น่าจะได้รับการอนุญาตให้ทำเหมืองที่หมู่บ้านกะตอว์นี ในอนาคตอันใกล้" ทันซิน ตั้งข้อสังเกต
สำหรับ รายชื่อหมู่บ้านต่างๆ ตามลำน้ำบานและแม่น้ำตะนาวศรีที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองของบริษัท อีสต์สตาร์ รวมถึงบริษัทไทย เอท เสท ไมนิ่ง ในอนาคต ตามรายงานของ DDA และการเก็บข้อมูลของกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยง หรือ TAKAPAW Youth Group ระบุว่า
มี 11 หมู่บ้าน บริเวณแม่น้ำบานที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่
- Kyeik Phee Lan - Phaung Daw - Hin Ga Pe - Pyar Thar Chaung - Hsin Swe Chaung - Maung Ma Htoo
- Ka Htaung Ni - Kyuan Chaung Gyi - Tha Byu Chaung - Kyauk Htoo
7 หมู่บ้าน บริเวณแม่น้ำตะนาวศรี
- Htee Htar - A-Myar - Htee Phyo Lay - Nga Yat Ni - I One - Hsin Phyu Daing - Amo
5 หมู่บ้าน ตามเส้นทางขนส่งถ่านหิน
- Karen Taung Pyauk - The Chaung Gyi - Sone Sin Phyar - Win Ka Phaw - Mel Ke
รวมทั้งสิ่งมี 23 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
"โจ กา ก๊ะ" เจ้าหน้าที่จากองค์กรกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ “ตา กา ปอร์” ( TAKAPAW YouthGroup) ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการเจรจาขออนุญาตจากเคเอ็นยูเพื่อให้คณะสื่อมวลชนคณะแรกของไทยได้มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่กะตอว์นี ระบุว่า มิใช่เพียงลำน้ำบานซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำตะนาวศรีเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินของบริษัทอีสต์ตาร์ที่เริ่มขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่หมู่บ้านตามลำน้ำยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่มีลำห้วยสาขาแยกย่อยออกไป และลำห้วยเล็กๆ เหล่านั้น ก็ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองได้รับสารปนเปื้อน
“11 หมู่บ้านริมแม่น้ำบาน คือไจท์พีแล (Kyeik Phee Lan) ปองโดว์ ( Phaung Daw ) ฮินกาปี ( Hin Ga Pe ) คะเนฮอ หรือเปียตาชอง ( Pyar Thar Chaung ) ซินซูเอชอง ( Hsin Swe Chaung ) เมืองมาทู ( Maung Ma Htoo ) กะตอว์นี ( Ka Htaung Ni ) กุชองยี ( Kyuan Chaung Gyi ) ทะบิวชอง ( Tha Byu Chaung ) ยัง ทู ( Kyauk Htoo ) จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหิน เพราะใช้แม่น้ำสายเดียวกัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งไปถึงแม่น้ำสายเล็กๆ ที่เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำบาน หมู่บ้านที่มีแม่น้ำสายเล็กๆ อย่างคะเนฮอ ซินซูเอชอง และเมือง มาทู ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย นี่เป้นความกังวลที่เรามีต่อการทำเหมืองถ่านหินของอีสต์สตาร์ที่กำลังเกิดขึ้น และเหมืองถ่านหินของไทยเอทเสทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะกะตอว์นีเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำ ถ้าไทยเอทเสท ได้รับสัมปทาน หมู่บ้านอื่นๆ ริมแม่น้ำก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างแน่นอน” โจ กา ก๊ะ ระบุ
ขณะที่ "พะทอ" ซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า "มานะ" กะเหรี่ยงคนเดียวของหมู่บ้านกะตอว์นี ที่พูดภาษาไทยได้ กล่าวว่า นอกจากเหมืองถ่านหินของบริษัทอีสต์สตาร์ที่ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านกะตอว์นีและกุซองยี ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำในลำห้วยแล้ว ในอนาคต ถ้า บริษัทจากไทยคือไทยเอทเสทไมนิ่งได้รับอนุญาตจากเคเอ็นยู ให้เข้ามาทำเหมือง เมื่อถึงตอนนั้น ชาวบ้านก็จะต้องถูกขับไล่ ให้อพยพออกจากพื้นที่ไปทั้งหมู่บ้าน ซึ่งหากถึงวันนั้น ตัวเขา ที่อพยพมาแล้วครั้งหนึ่ง จากหมู่บ้านที่อีสตาร์ ได้รับสัมปทานทำเหมืองถ่านหิน ครั้งนี้ เขาจะไม่หนีไปไหนอีก แต่จะขอสู้จนถึงที่สุด
“เพราะที่นี่คือชีวิต เป็นชีวิต เป็นบ้าน ถ้าบ้านของเราจะต้องถูกทำลาย ถึงตอนนั้นผมก็คงจะขอสู้จนถึงที่สุด เสียเลือดเสียเนื้อก็ต้องยอม”
…
การเดินทางทวนกระแสน้ำเชี่ยวในครั้งนี้ จึงเป็นการเดินทางเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของผลกระทบที่บริษัทเหมืองแร่ของคนไทยก่อขึ้นกับผู้คนและสายน้ำแห่งเทือกเขาตะนาวศรี
หมายเหตุ
ขอขอบคุณผู้ประสานงานการเข้าถึงพื้นที่และเจ้าหน้าที่แปลภาษาจาก
มูลนิธิเสมสิกขาลัย
TERRA
Dawei Development Association (DDA)
TAKAPAW YouthGroup