ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศชี้ “ซีโร่ เวสต์” ทางออก “วิกฤตขยะล้นเมือง”
วิฤตขยะล้นเมือง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างคัดแยกขยะ ด้านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย “บ่อขยะแพรกษา” ถูกปิดแน่! เหตุทำผิด กม.พรบ.อุตสาหกรรม
จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะ “แพรกษา” ที่สร้างมลพิษทางอากาศจนทำให้เกิดการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ใกล้เคียง โดยวัดจากรัศมี 200 เมตรมีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์อันตราย และหากสูดดมเช้าไปในปริมาณที่มากๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งปัญหาการแยกขยะของแต่ละท้องถิ่น และเทศบาลต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจัดการอบรมเสวนาเรื่อง “วิกฤตขยะล้นเมือง” ขึ้น ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย โดยมีนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายธวัชชัย ประดิษฐ์อุกฤษณ์ ผอ.ส่วนช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเทศบาลที่มีจำนวนขยะมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ, นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ และนายกิตติ สิงหาปัด นักข่าวช่อง 3 รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวถึงปัญหาหลักของการกำจัดขยะ คือการแยกแยะ และการบริหารจัดการระบบกำจัดมูลฝอย กระบวนการคิดเรื่อง “ซีโร่ เวสต์ (Zero Waste)” คือ การลดขยะที่มีทั้งหมดให้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังไม่มีประเทศใดที่สามารถลดขยะที่แทบจะล้นเมืองทั้งหมดให้หมดไปหรือกลายเป็นศูนย์ได้จริง แต่ “ซีโร่ เวสต์” เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้
“ในต่างประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายๆประเทศ จะนำแนวความคิดนี้ไปใช้ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม เขาประสบปัญหาขยะล้นเมืองมาก่อนประเทศของเราแล้วทั้งสิ้น”
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยเริ่มมีการนำแนวความคิด “ซีโร่ เวสต์” มาใช้ในหลายชุมชนยกตัวอย่างเช่น
จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ในบางตำบลจะมีการคัดแยกขยะเป็นอย่างดี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นเกิดการขโมยขยะที่ถูกคัดแยกไว้ในชุมชนจำพวกพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว ฯลฯ
“แนวความคิด ซีโร่ เวสต์ บอกว่าขยะคือทรัพยากร และเป็นสิ่งที่ทำมาค้าขายได้ เพราะฉะนั้นปัญหาอยู่ที่การจัดการที่มีปัญหา ทำให้ขยะที่ไม่เป็นที่ต้องการมาสร้างปัญหา” โดยมีการอ้างอิงยกตัวอย่างระบบการคัดแยกให้กับประชาชนของ จ.มินางาตะ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการแบ่งการเก็บขยะเป็นวัน ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น วันอังคารเก็บแค่ขยะเปียกอย่างเดียว วันพุธเก็บแค่กระดาษอย่างเดียว เป็นต้น และไม่ใช่เพียง จ.มินางาตะ ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่มีการจัดระบบการคัดแยกให้กับประชาชน เช่น นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ทั้งนี้การคัดแยกควรเกิดขึ้นตั้งแต่ในครัวเรือน นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้การจัดการตัดแยกเกิดระบบ เมืองก็จะสะอาดมากขึ้น สัตว์จำพวกหนู แมลงสาบ ก็จะไม่มีให้เห็น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
“แนวความคิด “ซีโร่ เวสต์” คือแนวทางการกำจัดปัญหาตั้งแต่ต้นตอ และปัญหาเรื่องขยะสามารถแก้ไขได้หากมีการรณรงค์อย่างจริงจัง และควรปลูกฝังนิสัยให้กับประชาชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่สามารถเข้าถึงท้องถิ่นได้ก็ควรให้ความร่วมมือ หากประสบความสำเร็จในการคัดแยกขยะ ขยะที่เหลืออยู่ทั้งหมดจะเหลือจำนวนเพียงบางส่วนที่นำส่งเข้าโรงงานปุ๋ยหมัก และหลงเหลืออีกบางส่วนเท่านั้นที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งตามกระบวนการ”
นายวิเชียร กล่าวถึง กรณีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ว่า ขยะในบ่อขยะแพรกษามีจำนวน 6 ตัน เพราะว่าเป็นบ่อลึกลงไป 45 เมตร เนื่องจากมีการลักลอบขุดดินไปขาย นอกจากนั้นยังมีขยะอุตสาหกรรมถูกทิ้งอยู่ตรงนั้นอีกมากมาย ซึ่งตาม พรบ. อุตสาหกรรม หากมีการทำการสร้างบ่อขยะต้องขออนุญาตจากทางท้องถิ่น โดยในกรณีของบ่อขยะแพรกษา ถือว่าผิดกฎหมายจริงและต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีการป้องกันใดๆทั้งสิ้น ซึ่งกำลังตรวจสอบกันอยู่ว่ามีผลกระทบในด้านใดบ้าง และจะมีการฟื้นฟูในเวลาต่อไป
“ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง ทั้งคนทิ้ง คนลักลอบทิ้ง หรือคนที่รับจ้างทิ้ง หรือแม้แต่เจ้าของที่ดิน หากตรวจสอบเป็นวัตถุอันตราย และหากการเปิดผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย”