ชีวิตข้างถนน (ตอนจบ) : ทางออกบนถนนสีเทา
เรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ล้วนแต่ต่างที่มา ต่างเรื่องราว บ้างอยู่ชั่วคราวเพียงบางคืน บ้างอยู่ริมถนนประหนึ่งที่พักสุดท้ายในชีวิต ขณะเดียวกันก็ต้องประสบปัญหานานัปการโดยไม่มีใครสนใจ
ตอนที่ 1 เราได้กล่าวถึงปัญหาครอบครัว ต้นเหตุทำให้หลายคนตัดสินใจออกจากบ้านมาหางานทำ แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต คำว่า ‘ศักดิ์ศรี’ ทำให้คนเหล่านี้ไม่กลับ ยอมใช้ชีวิตเร่ร่อนโดยไม่ต้องหวังอะไรอีก
ตอนที่ 2 ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เป็นคนป่วย ขาดการเหลียวแล
ตอนที่ 3 ตีแผ่ชีวิตยามค่ำคืนของของหลายเพศหลายวัยที่เอาชีวิตของตนเองเป็นสินค้าเพื่อสนองกามารมณ์ เพื่อให้ได้ ‘เงิน’ แม้จะเสี่ยง ฝืนใจ แต่สุดท้ายก็ต้องทำ
ตอนสุดท้ายนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พูดคุยกับ รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ซึ่งมีมุมมองต่อปัญหาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
“เป็นธรรมชาติของสังคมที่ไม่อยากเจอคนเหล่านี้ เพราะต้องรับภาระการช่วยเหลือดูแล ถ้ามองในระดับของรัฐ รัฐพยายามที่จะปฏิเสธการคงอยู่ของคนเหล่านี้ ไม่ค่อยมีระบบอะไรที่เข้ามาดูและอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองโดยที่กระทบกับหลักศีลธรรมอย่างการค้าประเวณี”
อาจารย์เดชา มองผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น บางคนเป็นทั้งคนเร่ร่อนและเป็นทั้งคนขายบริการ บางคนอาจเป็นผู้ป่วยด้วย กลายเป็นผู้มีปัญหาซ้ำซ้อน และเปิดช่องให้หน่วยงานที่มีภารกิจเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งสามารถปฏิเสธได้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของตน
“ปัจจุบันรัฐเน้นให้บริการเชิงรับที่ต้องให้พวกเขาเข้าไปหา มากกว่าที่จะทำเชิงรุกเสียเอง อีกทั้งผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหล่านี้หลายคนไม่ยอมสูญเสียอิสระของตน จึงทำให้ปฏิเสธการใช้บริการจากรัฐ
ขณะที่เอ็นจีโอที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงกับกลุ่มเหล่านี้มักจะเข้าถึงปัญหาได้ดีกว่า ยืดหยุ่นและคล่องตัวกว่าในการเข้าถึงเป้าหมาย ถ้าเทียบกับรัฐซึ่งเป็นอะไรที่ทางการ บางทีอาจจะเน้นมาตรการในการรับบริการ เช่น ต้องผ่านเอกสารอย่างบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งคนเหล่านี้จะคาดหวังให้มีก็คงเป็นไปไม่ได้”คณบดีอธิบาย
สำหรับแนวทางในการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น อาจารย์เดชา เสนอว่า หากรัฐมีปัญหาเรื่องความยืดหยุ่น ไม่สารมารถทำงานเชิงรุกได้ รัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้เอ็นจีโอและท้องถิ่นในการเสนอโครงการดูแลผู้ใช้ชีวิตสาธารณะเหล่านี้ พร้อมทั้งแบ่งภาษีมาไว้เพื่องานด้านรัฐสวัสดิการมากขึ้น
ในส่วนของเอ็นจีโอเอง ก็ต้องทำหน้าที่ตามเป้าประสงค์ของแต่ละหน่วยงานให้พวกเขาเก็บออม มีที่อยู่เป็นของตนเอง บำบัดฟื้นฟูปัญหาด้านจิตใจและสร้างเสริมอาชีพให้สามารถยืนบนลำแข้งของตนเองได้อีกครั้ง โดยต้องฝึกฝนบุคลากรของตนให้มีคุณภาพตามเป้าของหน่วยงาน
นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า หน่วยงานของรัฐจะแก้ปัญหาการลักลั่นของนโยบายได้ด้วยการร่วมมือกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นภาระของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเท่านั้น แต่ดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ
ทั้งนี้ในส่วนของผู้ค้าประเวณีนั้นอาจารย์เดชา เห็นว่า การจับ ปรับ แล้วปล่อย ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด ทางที่ดีที่สุดคือการฟื้นฟูทั้งด้านจิตใจและด้านอาชีพให้พวกเขามีงานการที่มั่นคง มีรายได้ที่เพียงพอและไม่ต้องกลับมาอยู่ในวังวนแห่งโลกีย์นี้อีก
ท่ามกลางวิกฤติทางการเมืองที่ขัดแย้งรุนแรง หวังพายุที่พัดโหมประเทศจะสงบลง เมื่อนั้นจะมีใครสักคนที่มองเห็นพวกเขาเหล่านี้แล้วช่วยเหลือ ทั้งในด้านนโยบายที่ต้องการขจัดเยียวยาปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงประชาชนลดอคติมุมมอง แล้วยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรในฐานะที่เขาเป็น ‘มนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ’ ให้พบทางออก โดยไม่ต้องกลับมาอยู่ริมถนนสีเทาแห่งนี้อีก…