สมาพันธ์แรงงานหนุนกปปส. ปฏิรูปประเทศ หวังอนาคตนำข้อเสนอไปสานต่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ ร่วมปราศรัยวันกรรมกร หน้าสภาฯ พร้อมรับข้อเสนอหลังปฏิรูปสำเร็จ ด้านสมาพันธ์แรงงานแถลงโอดรัฐไม่เหลียวแล เมินแก้กม.ให้ผู้ใช้แรงงานมีสวัสดิภาพดีขึ้น
วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ณ หน้ารัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการชุมนุมปิดถนนเพื่อจัดงานวันกรรมกรสากล ภายใต้แนวคิด “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยของประชาชน” โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้เดินทางมาร่วมในงานนี้ด้วย
นายสุเทพ กล่าวว่า “ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต้องมีการศึกษาว่าผู้ใช้แรงงานต้องการอะไรบ้างจึงจะมีความสมศักดิ์ศรี สังคมข้างหน้าไม่ใช่สังคมที่ใครจะเอาเปรียบตามใจชอบได้อีกแล้ว การที่ทั้งหลายได้พยายามรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งของผู้ใช้แรงงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นเรื่องที่ดีที่ต้องให้กำลังใจ”
นอกจากนี้เลขาธิการ กปปส.ได้ให้กำลังใจผู้ใช้แรงงานที่มาชุมนุมกันหน้ารัฐสภา โดยกล่าวอย่างมั่นใจว่า ทาง กปปส. ยินดีรับข้อเสนอของทางสมาพันธ์แรงงาน และให้ทางสมาพันธ์ยื่นหนังสือกับรัฐบาลใหม่ในเดือนหน้าหลังจากทำการปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีสมาชิกสหภาพแรงงานจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจมาร่วมอย่างคับคั่ง อีกทั้งยังมีเครือข่ายต่างๆ เดินทางมาเพื่อเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อสิทธิแรงงาน โดยก่อนเริ่มการปราศรัยนั้นได้มีพิธีเปิดโดยการนำหุ่นไม้รูปผู้หญิงสีแดงมารัดด้วยป้ายประท้วงต่างๆ เป็นนัยยะว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่ได้เห็นคุณค่าของแรงงานไทยและไม่ใส่ใจในการแก้กฎหมายเพื่อสิทธิแรงงานมาโดยตลอด
หลังจากนั้น นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตัวแทนสมาพันธ์แรงงาน ได้ขึ้นมาแถลงข้อเสนอเพื่อพิทักษ์สิทธิแรงงาน โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน ดังนี้
1. รัฐต้องให้สัตยาบรรณอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันและเจรจาต่อรอง
2. รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ที่ขัดกับอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ 98
3. รัฐต้องสร้างสวัสดิการสังคม ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
4. รัฐต้องยกเลิกกฎหมายแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ โดยให้นำร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ…..”ฉบับ สรส.มาใช้เป็นกฎหมาย
5. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม คุ้มครองลูกจ้างทุกภาคส่วน และให้นำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมมาพิจารณาใหม่
6. รัฐต้องยกเลิกการนำเข้าและยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบแร่ใยหินและไคลโซไทล์ทันที ตามมติ ครม.เมื่อปี 2554
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอติดตามอีก เช่นการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม แก้กฎหมายให้แรงงานสามารถเลือกตั้งในพื้นที่ประกอบการตั้งแต่สองปีขึ้นไป บังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯอย่างจริงจัง จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานเป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังได้แสดงจุดยืนว่าสมาพันธ์แรงงานจะไม่ยื่นข้อเสนอนี้ต่อรัฐบาลเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้สัตยาบรรณอนุสัญญาไอแอลโอ และยังไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น พร้อมแสดงความหวังว่าทาง กปปส.จะดำเนินการปฏิรูปประเทศแล้วนำข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานไปสานต่อต่อไป