ผู้บริโภคหวั่นรัฐเสียหายหมื่นล. ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ‘หยุด’ เงินทอนคูปองกล่องดิจิตอล
ผู้บริโภคยื่น 6 ข้อเรียกร้อง จี้ กสท. ทบทวนการเตรียมแจกคูปองกล่องดิจิตอล 22 ล้านครัวเรือน หวั่นรัฐเสียหาย 1 หมื่นล้านบ. ระบุขัดรธน. ไม่คำนึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติของกสท.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 กำหนดแนวทางการแจก ‘คูปองส่วนลด’ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัล โดยกำหนดให้แจกคูปองสำหรับกล่องหรือใช้เป็นส่วนลดการซื้อทีวี ดังนี้
1.กล่องแปลงสัญญาณดิจิทัลภาคพื้นดิน( Set-Top-Box ) พร้อมสายอากาศในอาคารแบบมีภาคขยาย( Active Antenna)
2.เครื่องรับโทรทัศน์แบบมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิทัลในตัว
3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รองรับการดูรายการความละเอียดสูง( HD)และมีการเรียงช่องรายการตั้งแต่หมายเลข 1-36 ช่องแรกเป็นทีวีดิจิทัลและช่องที่ 37 เป็นต้นไปเป็น Pay TV ไม่หารายได้จากการโฆษณาและเป็นกล่องรับสัญญาณแบบขายขาด แม้ผู้บริโภคจะไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนก็ดูฟรีทีวีดิจิทัล 36 ช่อง
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มีข้อเสนอเพื่อให้ทบทวนการดำเนินการดังนี้
1.ขอให้ กสท. ยุติการทำให้รัฐเสียหายไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากการเตรียมการแจกคูปองราคา 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ทั้งที่กล่องมีราคาเพียง 400 บาท หรือ 500 บาทรวมเสาอากาศ ก็เป็นราคาที่มีกำไรแล้ว พร้อมเรียกร้องกรรมการกองทุน และกสทช.ทบทวนโดยด่วน
2.กสท. กำลังดำเนินการขัดต่อประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10.2 วรรคสอง ที่กำหนดให้กสทช.นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำ จะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง ซึ่งราคาขั้นต่ำในการประมูลได้รับงบประมาณเพียง 15,190 ล้านบาท
3.การดำเนินการของกสท. ในครั้งนี้ อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การที่กสท. มีมติแจกคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณดาวเทียมด้วย ซึ่งสามารถดูทีวีดิจิทัลได้เพียง 36 ช่อง ซึ่งขัดกับมติแรกเริ่มของ กสท. ที่ตั้งใจจะให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกสู่ดิจิทัลที่ผู้บริโภคทุกคนมีโอกาสดูทีวีดิจิตอล 48 ช่อง ทำให้แผนดังกล่าวไม่เป็นจริง
แต่หากยืนยันเช่นนี้ ก็จะทำให้การวางแผนมีทีวีชุมชนที่ไม่สามารถดูได้จากกล่องเหล่านี้ และหากผู้บริโภคต้องการรับชมช่องรายการทีวีชุมชน ก็ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน ( Set Top Box ) หรือซื้อทีวีที่มีการรองรับระบบดิจิทัลต่างหาก จึงเป็นภาระแก่ผู้บริโภคอย่างมาก
4.กสท. ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนเรื่องเงินทอน การทุจริต หรือการเลือกใช้วิธีการอื่นทดแทนการแจกคูปอง เพราะหากใช้วิธีการประมูลเพื่อแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจาก กสท. มีอำนาจต่อรองในการซื้อกล่องจำนวนมากถึง 22 ล้านกล่อง
5.ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการตั้งราคาที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือผู้ผลิตโทรทัศน์ดิจิตอล จากข้อมูลการสำรวจราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อ 15 วันที่ผ่านมา พบว่า มีการจำหน่ายกล่องในราคาต่ำสุด 690 บาท แต่จากการสำรวจครั้งที่สอง เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีสินค้าราคาดังกล่าวในท้องตลาดปัจจุบัน หลังจากมีการเพิ่มราคาคูปองของกสทช. 1,000 บาท
นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่าทีจะนำไปใช้แลกซื้อกล่องที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรับเฉพาะสัญญาณทีวีดิจิทัล ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชมทีวีเพิ่มขึ้น
6.มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ผิดพลาด ในเรื่อง ‘ขั้นตอนการแจกคูปอง’ ของ กสท. ทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้บริโภค เนื่องจาก กสท. ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบว่าจะมีการทดลองออกอากาศทีวีในระบบดิจิทัลในเดือนเมษายน ขณะที่จะมีการแจกคูปองในเดือนมิถุนายน เมื่อผู้บริโภครับทราบถึงการทดลองออกอากาศ ย่อมมีความต้องการดูทีวีในระบบดิจิทัลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องซื้อกล่องตามแรงโฆษณาของทุกสถานีในปัจจุบัน ทำให้ต้องไปเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจกล่องหรือไม่
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ กสท. ทบทวนทั้ง 6 ประการข้างต้น และเรียกร้องให้กรรมการกองทุน และกสทช. ไม่เห็นชอบต่อมติของกสท. ในเรื่องนี้ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เอ็มไททีวี