ระบบบำนาญไทย ไม่ต่างจากปิ่นโต ที่ค่อยๆ มาทีละชั้น
ประเทศไทยรับรู้ล่วงหน้ามานานแล้วว่า ประชากรสูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 9.4 ในปี 2545 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 10.7 ในปี 2550 และ ร้อยละ 12.2 ในปี 2554 รวมทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่า ปี 2573 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุที่แท้จริง
“เกิดน้อย แก่มาก แถมยังแก่ ก่อนรวย” ผลกระทบที่กำลังกลายเป็นความท้าทายใหม่ให้สังคมไทยต้องเตรียมรับมือ
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเจอกับวิกฤติประชากรผู้สูงอายุ แม้แต่ในต่างประเทศก็ล้วนประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่ที่แตกต่างกัน ก็ตรงที่ประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น “สิงคโปร์ ญี่ปุ่น” เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือ “รวย” แล้วนั่นเอง ของไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ยังเป็นประเทศยัง “ยากจน” อยู่
ฉะนั้น หลีกไม่พ้นวิกฤติครั้งนี้ ประเทศเราจะได้รับผลกระทบที่มากกว่าเต็มๆ
แน่นอนว่า ภาครัฐนอกจากจะต้องจัดสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ บริการด้านสุขภาพ และบริการสาธารณะต่างๆ แล้ว คิดแค่ค่าใช้จ่ายเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการวัยเกษียณที่จะต้องจัดหาเพิ่มทุกปี ก็น่าปวดหัวแล้ว
คำถาม คือ บทบาทภาครัฐต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร
ดูในส่วนของทิศทางเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ แหล่งเงินมาจากงบประมาณภาครัฐทั้งหมด รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลล่าสุดปี 2556 พบว่า มีผู้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 7.43 ล้านคน
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การที่ฝ่ายการเมืองเริ่มนำเรื่อง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ฯ มองว่า หากทำไม่ดีก็จะเดินไปสู่เส้นทางนโยบายประชานิยม แต่หากทำเป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจมุ่งหน้าสู่การเป็นบำนาญพื้นฐานได้ ฉะนั้น ทิศทางเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีความครอบคลุม (คนที่ไม่มีบำนาญภาครัฐอื่นในอนาคตจะขยายไปหรือไม่ ) พอเพียง (จำนวนเงิน 600-1,000 บาทต่อคนต่อเดือน หากมองว่าน้อยไป เท่าไหร่ถึงจะพอ) และยั่งยืนทางการคลังของรัฐบาล (ค่าใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น)
“ผมนำข้อเสนอของพรรคการเมืองที่เคยเสนอให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในการหาเสียงเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาคำนวณ พบว่า ภาครัฐต้องรับภาระมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ของรัฐบาลในอนาคตอย่างแน่นอน” รศ.ดร.วรเวศม์ ระบุ และเห็นว่า ประเด็นค่าใช้จ่ายที่น่ากลัวนี้ คำนวณเฉพาะเบี้ยยังชีพอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ เบี้ยยังชีพที่นำไปใช้หาเสียง ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มสมาชิกประกันสังคม กับกลุ่มที่รับเบี้ยยังชีพ ภายใต้โครงสร้างระบบบำนาญปัจจุบันอีกด้วย
ขณะที่นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ขอให้ภาคประชาชนตั้งคำถามกับนักการเมือง ว่า กำลังเล่นอะไรกันอยู่ ไม่เห็นเห็นความสำคัญเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งๆ ที่สามารถลดภาระของประชาชนรุ่นหลังเรื่องการจัดเก็บภาษี รวมถึงลดภาระทางการเงินการคลังในอนาคตได้
“ผมเชื่อว่า อีก 20 ปีข้างหน้าเราจะเห็นคนแก่อดตาย เพราะเงินไม่พอกินพอใช้ เพราะไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จ บำนาญ จากแหล่งเงินต่างๆ ที่ให้ทั้งหมด ถามว่า ผู้สูงอายุพอกินพอใช้ไปทั้งเดือนหรือไม่ ฉะนั้นหลักการออกแบบระบบการคลังเพื่อความมั่นคงทางสังคม คือ คนต้องอยู่ได้ มีรายได้พอใช้ไม่อดตายด้วย” นพ.ถาวร วิพากษ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า วันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังออมไม่พอ ซึ่งหากจะให้พอกินพ้นเส้นความยากจน อย่างน้อยต้องมีเงินออมไม่ต่ำกว่า ครึ่งแสนถึง 1 ล้านบาท แล้วมีกี่คนออมได้ขนาดนั้น ดังนั้นการออมต้องบวกด้วยการกระจายรายได้ระดับหนึ่งด้วย
ถามว่า นโยบายภาครัฐจะเอาอย่างไร ขณะที่ประเทศไทยก็มีปัญหาการกระจัดกระจายของกฎหมาย กฎหมายหลายตัวก็ยังด้อยประสิทธิภาพเสียอีก
ในประเด็นเรื่องกฎหมาย นพ.ถาวร เห็นว่า ควรต้องรื้อใหญ่ และอาจต้องดูกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องที่เป็นแหล่งเงินบอกให้คนต้องสะสมเงิน กระบวนการมั่นคงทางรายได้มีกี่แหล่ง แล้วเราจะนำมารวมกันอย่างไร
ส่วนเบี้ยยังชีพพื้นฐาน หรือบำนาญพื้นฐาน เขา ยืนยันว่า คนต้องมีบำนาญ ต้องมีแน่ๆ ซึ่งแหล่งรายได้อาจมาจากภาษีท้องถิ่น หรือภาษีส่วนกลาง แต่ขณะนี้กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่ได้อยู่ในบทบาทนี้เลย
ด้านรศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ บอกว่า ระบบบำนาญของไทยปัจจุบันเป็นระบบที่ผสมผสานอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ “เกิดคนละแท่ง แยกส่วน และมีการบริหารจัดการอย่างอิสระจากกัน” จึงไม่เอื้อต่อการย้ายไปมาระหว่างในระบบและนอกระบบ ดังนั้นควรมีองค์กรกลางที่เข้ามากำกับดูแลนโยบายบำนาญเป็นการเฉพาะ
เช่นเดียวกับ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพระบบบำนาญของประเทศไทย เหมือนการมีปิ่นโตที่ค่อยๆ มาทีละชั้น ชั้นแรกเป็นปิ่นโตสแตนเลสอย่างดี ชั้นสองปิ่นโตสังกะสี ชั้นสามพลาสติก แถมขนาดยังไม่เท่ากันอีก เนื่องจากพัฒนาการไปตามเวลามา ทีละอย่าง จึงไม่ประติดประต่อกัน
สำหรับระบบบำนาญที่พึงประสงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองว่า ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การรับบำนาญโดยไม่มีส่วนร่วมออมเลย เป็นปัญหาแน่กับระบบเศรษฐกิจ ระบบการคลังของประเทศ ฉะนั้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบอนาคตของตนเอง ร่วมออม ขณะที่ระบบบำนาญก็ต้องเข้าใจง่าย ไว้ใจได้ และให้ผู้เกษียณอายุมีความมั่นใจ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ หรือสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้
ที่สำคัญ ดร.วรวรรณ เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาสนับสนุนการออมอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัวกับการเตรียมการเพื่อการเกษียณอายุ รวมไปถึงมีการกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า กองทุนเพื่อบำเหน็จบำนาญทุกกองทุนมีการบริหารจัดการที่ดี มีระบบที่จัดการความเสี่ยงให้กับทุกฝ่าย