เหตุผลศาลปค.ตัดสิน“วัฒนา-อภิรักษ์”รอดจ่ายค่าเสียหายคดีรถดับเพลิงกทม.
ดูชัด ๆ เหตุผลศาลปกครองกลางพิพากษาให้ “วัฒนา - อภิรักษ์” ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตรถดับเพลิงฯกทม.
วัฒนา เมืองสุข
หมายเหตุ : เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีที่นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เรื่องกระทำการโดยมิชอบที่กรุงเทพมหานครสั่งให้ผู้ฟ้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา กล่าวหาวว่า ขณะนายวัฒนา ดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ มีพฤติการณ์ร่วมกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ประเทศออสเตรีย กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในราคาแพง เมื่อปี 2547
ศาลปกครองกลาง วันที่ 30 เมษายน 2557 คดีหมายเลขดำที่ 1227/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 668/2557
ผู้ฟ้องคดี นายวัฒนา เมืองสุข
ผู้ถูกฟ้องคดี กรุงเทพมหานคร (1), ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (2)
“คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนกระทำละเมิดในการเตรียมการจัดทำการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) โดยผลักดันให้บริษัท C.P.M. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำการค้าแทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ประเทศออสเตรีย และผลักดันไก่ต้มสุกแช่แข็งเป็นสินค้าอันดับแรกในการทำการค้าต่างตอบแทน โดยเปลี่ยนผู้มีอำนาจกำหนดรายการสินค้าจากคณะกรรมการเป็นอธิบดีกรมการค้าแต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพิง พร้อมอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับบริษัท สไตเออร์ฯ ในราคาแพงกว่าปกติหรือไม่
เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีได้เคยร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 แล้วมีมติร่วมกันรับหลักการโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงฯ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอโครงการฯ จากสาธารณรัฐออสเตรีย โดยมีเงื่อไขในการทำการค้าต่างตอบแทนร้อยละ 100 ซึ่งครม.มอบมหายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการในส่วนนี้
และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีรับที่จะไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งหาใช่หน้าที่โดยตรงของผู้ฟ้องคดีที่จะดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทนเองไม่ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลให้ข้าราชการประจำปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ แต่เป็นหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศที่ต้องดำเนินการต่อไป และแม้ผู้ฟ้องคดีได้ลงมติครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 อนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงฯ ในวงเงิน 6,687,489,000 บาท ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทน โดยให้เน้นไก่ต้มสุกแช่แข็งเป็นสินค้าที่จะดำเนินการเป็นอันดับแรก เป็นผลให้ต่อมานายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศทำสัญญาต่างตอบแทนกับบริษัท C.P.M. ตัวแทนของบริษัท สไตเออร์ฯ ส่งออกไก่ต้มสุกแช่แข็งมูลค่าร้อยละ 100 ของสินค้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากบริษัท สไตเออร์ฯ ตามสัญญาลงวันที่ 30 กันยายน 2547
แต่การพิจารณาของครม.ที่ให้สินค้าในการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นไก่ต้มสุกแช่แข็ง หาได้เกิดจากการผลักดันของผู้ฟ้องคดีไม่ เนื่องจากเกิดภาวะโรคไข้หวัดนกระบาด นับแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ตามหนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2547 และเลขาธิการครม.มีหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ให้กระทรวงพาณิชย์ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ต้มสุกแช่แข็งให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อคราวประชุมครม.วันที่ 24 สิงหาคม 2547 จึงเป็นเหตุให้ครม.มีมติเน้นไก่ต้มสุกแช่แข็งเป็นสินค้าต่างตอบแทน
ส่วนการดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการค้าต่างตอบแทน 2547 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 แทนฉบับเดิม ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดรายการสินค้าส่งออก แล้วเปลี่ยนเป็นให้อำนาจอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้กำหนดนั้น
เมื่อพิเคราะห์ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2546 แล้วเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นประธานกรรมการ รมว.พาณิชย์เป็นรองประธานกรรมการ หาใช่อำนาจของผู้ฟ้องคดีโดยแท้ เพียงแต่ผู้ฟ้องคดีเป็นหนึ่งในกรรมการ และเป็นเลขานุการโดยผลของกฎหมาย อาจมีอำนาจเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจกำหนดรายการสินค้าส่งออก เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศก็ได้
แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือมีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงดงกล่าวเป็นการกระทำของผู้ฟ้องคดีอย่างชัดแจ้ง ลำพังเพียงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกิดขึ้นในฐานะผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ ยังไม่อาจชี้ชัดว่า ผู้ฟ้องคดีมีเจตนากระทำดังว่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อพิเคราะห์หนังสือด่วนมาก ที่ พณ. 0208/3981 ฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เห็นว่า นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ ในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2546 ซึ่งจะยุบเลิกคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจกับต่างประเทศรวม 4 ชุด ซึ่งรวมถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการการค้าต่างตอบแทน 2543 ด้วย
จึงเห็นว่าการยุบเลิกคณะกรรมการการค้าต่างประเทศ หาใช่เป็นการเสนอความเห็นของผู้ฟ้องคดีไม่ แต่เกิดขึ้นก่อนผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ จึงเห็นว่า คดียังไม่ปรากฏพยานหลักฐานชี้ชัดว่า ผู้ฟ้องคดีได้ตระเตรียมการเช่นว่านั้น เพื่อให้สมอ้างต่อการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดซื้อของแพง
…..
ส่วนการที่นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทน โดยไม่ได้กำหนดให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้องห้ามส่งออก (Negative Destination) ไก่ต้มสุกแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่นายราเชนทร์ กำหนดให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้องห้ามส่งออกไก่ต้มสุกแช่แข็ง เนื่องจากมีการส่งออกเกินร้อยละ 30 โดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนร่วมรู้เห็นเพื่อให้การซื้อขายรถดับเพลิงฯ มีราคาแพงนั้น
เห็นว่า อำนาจการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นอำนาจของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการทำการค้าต่างตอบแทน แม้จะเป็นผู้กำหนดนโยบายทิศทางของกระทรวงพาณิชย์ก็ตาม แต่ความรับผิดชอบการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ หาใช่อำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีไม่
จึงเห็นว่า พยานหลักฐานในชั้นนี้สำหรับข้อหาร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซื้อรถดับเพลิงฯ แพงกว่าปกติ ไม่อาจรับฟังได้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจริง ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 5/2554 หมายเลขแดงที่ อม. 7/2556 ที่พิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดี (จำเลยที่ 3) ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยมาโดยลำดับ
ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่ง ที่ 4812/2553 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่อย่างใด
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4812/2553 เรื่อง ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว”
----
อภิรักษ์ โกษะโยธิน
หมายเหตุ : เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรมว.มหาดไทย กรณีคำสั่งกรุงเทพมหานครประกาศกำหนดให้นายอภิรักษ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับกรุงเทพมหานคร ที่เสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ศาลปกครองกลาง วันที่ 30 เมษายน 2557 คดีหมายเลขดำที่ 1287/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 673/2557
ผู้ฟ้องคดี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ผู้ถูกฟ้องคดี กรุงเทพมหานคร (1), ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (2) และรมว.มหาดไทย (3)
“คดีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนกระทำละเมิดในการเปิด L/C แล้วทำให้สัญญาซื้อขายสมบูรณ์และมีผลบังคับระหว่างคู่สัญญา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ต้องซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยแพงกว่าปกติด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีที่ทราบข้อเท็จจริงแล้วว่า ขั้นตอนการทำข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ขั้นตอนการทำข้อตกลงซื้อขายและการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า เหตุที่ผู้ฟ้องคดีต้องเปิด L/C ชนิดเพิกถอนไม่ได้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้เบิกจ่ายเงินค่าซื้อรถดับเพลิงฯ ให้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 นั้น เป็นผลมาจาก
(1) ข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ที่ทำขึ้นระหว่างนายโภคิน พลกุล ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยกับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มทำการแทนรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียอันเป็นข้อตกลงของความเข้าใจระหว่างรัฐต่อรัฐ จัดเป็นสัญญาระหว่างประเทศก่อนทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ (G TO G)
(2) ข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงฯ ระหว่างรัฐบาลไทยโดยนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อ กับผู้แทนบริษัท สไตเออร์ฯ ผู้ขาย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2547 เป็นสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ (G TO G) ที่เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย
(3) การทำการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade/purchase) ซึ่งทำขึ้นระหว่างกรมการค้าของประเทศกับบริษัท C.P.M. ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างตอบแทนของบริษัท สไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 อันเป็นผลมาจากการเจรจาระหว่างตัวแทนของรัฐต่อรัฐในการทำการค้าต่างตอบแทนแบบรัฐต่อรัฐ
ซึ่งหากมีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องของผู้มีอำนาจทำการแทนรัฐตามมติครม.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 นายโภคิน และนายสมัคร รวมทั้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งการละเลยไม่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายเสียเอง
และโดยผลการทำข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ไปโดยไม่มีอำนาจ (Full Powers) หรือการทำข้อตกลงซื้อขายไปโดยไม่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยการพัสดุ อันอาจมีผลทำให้ข้อตกลงซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade/purchase) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตราบใดที่คู่สัญญาทุกฝ่ายยังมี่ผู้ใดบกพร่อง หรือความไม่สมบูรณ์ของข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงดังกล่าว หรือการค้าต่างตอบแทนขึ้นกล่าวอ้าง หรือมีคำฟ้องเสนอต่อศาล ลำพังอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 ย่อมปรากฏชัดว่า ในการดำเนินภารกิจการจัดซื้อรถดับเพลิงฯ เป็นสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G)
และกระบวนการก่อนการดำเนินการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และกระบวนการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจำเป็นต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีตามนัยมาตรา 123 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528
จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีอำนาจใด ๆ ที่จะกระทำการให้ต่างไปจากข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ที่กำหนดให้เปิด L/C ภายใน 30 วันนับแต่วันลงนามในข้อตกลงซื้อขายหรือบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการดังกล่าวแล้วตามหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ซึ่งครม.รับทราบถึงการลงนามข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) และตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ซึ่งครม.รับทราบการลงนามในข้อตกลงซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ
เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงภายหลังผู้ฟ้องคดีเข้ารับตำแหน่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ประกอบด้วยแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ศึกษาโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวจากการรายงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในส่วนโครงการซื้อขายรถดับเพลิงดังกล่าวว่าเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย มติครม.และระเบียบเกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวส่อไปในทางไม่โปร่งใส
เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2547 ถึงธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขอให้ระงับการเปิด L/C และมีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2547 ถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศว่า ได้ทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนกับบริษัท สไตเออร์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์แล้วหรือไม่ อีกทั้งยังมีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 กันยายน 2547 ถึงนายโภคิน โดยขอให้ทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวว่ามีราคาเหมาะสมหรือไม่ ก่อนดำเนินการเปิด L/C และก่อนการทำสัญญาการค้าต่างตอบแทน ซึ่งขณะนั้นยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากมติครม.และข้อตกลงของความเข้าใจ (A.O.U.) ไม่เปิดช่องให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการทบทวนเปรียบเทียบราคารถดับเพลิงฯ ตามข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงดังกล่าวที่ลงนามแล้ว อันแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปกปักรักษาผลประโยชน์ของทางราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
แต่ครั้นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือลงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ยืนยันว่า ไม่สามารถทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงและได้มีการลงนามใน A.O.U. กับข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงฯ รวมทั้งบริษัท สไตเออร์ฯ ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน (Counter purchase Agreement) กับกรมการค้าต่างประเทศแล้ว จึงเห็นควรให้เร่งรัดการเปิด L/C ให้เป็นไปตาม A.O.U. และข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงต้องมีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวันเดียวกัน
ระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 จากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ที่ขอให้ระงับการเปิด L/C โดยด่วนที่สุด พร้อมจัดส่งตารางเปรียบเทียบราคารถดับเพลิงของประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย และประเทศสเปน ผู้ฟ้องคดีจึงมีบันทึกข้อความถึงนายโภคิน พลกุล อีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ขอให้ทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว เนื่องจากพบว่า การจัดทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท สไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 มิได้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์
จึงมีประเด็นว่า ข้อตกลงซื้อรถดับเพลิงฯ เป็นสัญญาที่ดำเนินการถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับได้รับแจ้งว่ามีผู้ยื่นเรื่องราวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงฯมีการดำเนินการไม่ถูกต้องหลายประการ ในวันเดียวกันผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระงับการอนุมัติวงเงิน L/C ไว้ชั่วคราว
แต่นายโภคิน ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ยืนยันว่า ข้อตกลงเรื่องการลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทนนั้น กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าสามารถทำได้ ไม่ฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงพาณิชย์ ส่นการที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น การจัดซื้อดังกล่าวเป็นการดำเนินการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยมีการลงนามใน A.O.U. ที่ดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชการ และได้มีการลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงดังกล่าวซึ่งกันและกันแล้ว จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ในขณะที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญา หากมีการอ้างเหตุถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะไม่เป็นธรรมกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จึงควรดำเนินการไปตามเงื่อนไขใน A.O.U. ต่อไป
เห็นว่า พฤติการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเพื่อขอให้มีการทบทวนจากผู้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐที่ดำเนินมานับแต่ผู้ฟ้องคดีเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ฟ้องคดีที่ 2 และระงับการปิด L/C หรือการเปิด L/C อีกครั้ง และระงับการอนุมัติ L/C ไว้ชั่วคราว ย่อมแสดงให้เห็นถึงการใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบพันธสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้ามารับผิดชอบในขั้นตอนการเปิด L/C
แม้ผู้ฟ้องคดีได้เห็นถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการทั้งในส่วนขั้นตอนการทำ A.O.U. และขั้นตอนการทำข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวก็ตาม ผู้ฟ้องคดีก็หาได้มีอำนาจโดยลำพังที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายดังเช่นสัญญาทางแพ่ง หรือสัญญาทางปกครองโดยทั่วไป เนื่องจากข้อตกลงซื้อขายในคดีพิพาทเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และก่อนการเปิด L/C ในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ฟ้องคดียังตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว เพื่อตรวจสอบรายละเอียดในการจัดซื้อและมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับผู้ขาย โดยสามารถเจรจาเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้อีกเป็นมูลค่าหนึ่งล้านยูโร ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ได้รับการแจ้งจากผู้ฟ้องคดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของขั้นตอนกระบวนการในการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว และการทำการค้าต่างตอบแทน
ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้นายโภคิน ทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว แต่ได้รับคำยืนยันให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและ A.O.U. ที่ดำเนินการมาโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ และข้อตกลงซื้อขายที่ได้มีการลงนามไปแล้ว จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใน A.O.U. คือการเปิด L/C อันเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเหนือ และอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือการตัดสินใจในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ของผู้ถูกฟ้องคดี
จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ความระมัดระวังตามกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ของตนในการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการไว้เท่าที่บุคคลในฐานเช่นผู้ฟ้องคดีกระทำและได้กระทำครบถ้วนแล้ว ซึ่งเจืดสมสอดคล้องกับข้อเจจริง พยานหลักฐานดังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 7/2556 ที่ฟ้องว่าผู้ฟังว่าผู้ฟ้องคดีมิได้มีเจตนากระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือโดยเจตนาทุจริตแก่บริษัท สไตเออร์ฯ การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด จึงเห็นว่า คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4815/2553 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด มท 0208.1/553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2554 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งที่ 4815/2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องในคดีที่ 1 จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4815/2553 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0208.1/553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2554 โดยให้มีผลย้อนไปถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว”