พลิกปูมชีวิต“พีรพันธุ์ พาลุสุข”ก่อนปิดฉาก"อาจารย์พี" มือกม.เพื่อไทย
"..สำหรับนักข่าวในสนามข่าวแล้ว หากมีคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ชื่อของ “พีรพันธุ์” ติดลำดับต้นๆที่จะนึกถึง ซึ่งมักจะเรียกชื่อ “พีรพันธุ์” กันสั้นๆว่า “อาจารย์พี”
เช้าตรู่วันที่ 30 เมษายน 2557 เกิดเรื่องเศร้ากับวงการการเมือง เมื่อ “พีรพันธุ์ พาลุสุข” ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หลังเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงนำประวัติการทำงานของ “พีรพันธุ์” ในทุกแง่มุมมานำเสนอ
“พีรพันธุ์” เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2489 ที่อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร เป็นบุตรของนายบิน และนางห่ม พาลุสุข มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ที่โรงเรียนบ้านซ่งแย้ แล้วย้ายไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 โรงเรียนซ่งแย้พิทยา
จากนั้นได้รับทุนของฝ่ายคริสตจักรไปศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวรธรรมพิทยาคาร ต.ท่าแร่ อ.เมืองฯ จ.สกลนคร จากนั้นสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียนต่อ Diploma International Institute of Public Administration Paris ด้านการทูต (ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส) และปริญญาเอกสาขากฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส
หลังสำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี 2522-2525
ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2526 สังกัดพรรคชาติไทย มีกลุ่มอาจารย์ชาวอีสานในมหาวิทยาลัยรามคำแหง คอยสนับสนุน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในปี 2528 “ส.ต.ท.ผอง เดชแสน” ส.ส.ยโสธร พรรคกิจสังคม ถึงแก่กรรม “พีรพันธุ์” จึงลงเลือกตั้งซ่อมในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาในปี 2529 อีกสมัย ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน ได้รับการเลือกตั้งปี 2531 อีกสมัย
จนกระทั่งในปี 2535 “พีรพันธุ์” ย้ายไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ แต่สอบตกในการเลือกตั้งสองครังถัดมา จนต้องไปสังกัดพรรคชาติไทย และได้รับการเลือกตั้งปี 2538
เส้นทางการเมืองพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อ “พีรพันธ์” ตัดสินใจเดินเข้าชายคา “พรรคไทยรักไทย” เมื่อปี 2544 โดย “พีรพันธุ์” แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะต้องรับตำแหน่งผู้ช่วย และที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
ปี 2550 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัด “พรรคพลังประชาชน” ต่อเนื่องถึงปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย รวมอยู่ในตำแหน่งส.ส. 6 สมัย
ระยะหลัง “พีรพันธุ์” มีบทบาทเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้วยความอาวุโสทางการเมือง และผลงานในพรรคเพื่อไทย เสริมส่งให้ “พีรพันธุ์” ได้รับความไว้วางใจจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สูงสุดของ “พีรพันธุ์”
และในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองขัดแย้งรุนแรง “พีรพันธุ์” เป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) คอยให้คำแนะนำมากมาย
สำหรับนักข่าวในสนามข่าวแล้ว หากมีคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ชื่อของ “พีรพันธุ์” ติดลำดับต้นๆที่จะนึกถึง ซึ่งมักจะเรียกชื่อ “พีรพันธุ์” กันสั้นๆว่า “อาจารย์พี”