ใต้ครึ่งปี 54 เหตุร้ายลด-สูญเสียเพิ่ม-ชาวบ้านชิน
ไฟใต้ห้วง 6 เดือนแรกของปี 2554 หากมองในมิติตัวเลขนับว่าน่าสนใจ เพราะแม้สถิติการก่อเหตุรุนแรงจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ความสูญเสียกลับเพิ่มขึ้น กระนั้นก็ตาม บรรยากาศโดยรวมในพื้นที่ก็ไม่ได้ตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม วัดจากความคึกคักของพี่น้องประชาชนที่ออกมาร่วมกิจกรรมสาธารณะหนาตามากกว่าแต่ก่อน
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สรุปสถานการณ์ความไม่สงบและความสูญเสียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อ.ของ จ.สงขลา) ห้วงเดือน ม.ค.–มิ.ย.2554 หรือครึ่งปีแรกของปีนี้ว่า ตลอด 6 เดือนมีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 479 เหตุการณ์ เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่เกิดเหตุรุนแรง 566 เหตุการณ์ เท่ากับลดลง 87 เหตุการณ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 18.16
สำหรับเหตุรุนแรงในครึ่งปีนี้ จำนวน 479 เหตุการณ์นั้น แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 327 เหตุการณ์ ระเบิด 103 เหตุการณ์ วางเพลิง 11 เหตุการณ์ และอื่นๆ 38 เหตุการณ์
ยอดความสูญเสียชีวิตมีทั้งสิ้น 262 ราย เปรียบเทียบห้วงเดียวกันของปีที่แล้วมีความสูญเสียทั้งสิ้น 239 ราย เพิ่มขึ้น 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.77 โดยผู้เสียชีวิต 262 รายในครึ่งปีแรกของปี 2554 นี้ แยกเป็นประชาชน 223 ราย ทหาร 29 นาย และตำรวจ 10 นาย
พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการ ศชต.กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติการก่อเหตุรุนแรงและความสูญเสียช่วงครึ่งปีนี้กับห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าแม้สถิติการก่อเหตุจะลดลง แต่ความสูญเสียไม่ลดลง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงบรรยากาศทั่วๆ ไปของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าดีขึ้น การดำเนินชีวิตของประชาชนมีความหวาดกลัวน้อยลง ประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมในพื้นสาธารณะมากขึ้น เช่น งานประจำปีที่จัดขึ้นตามท้องถิ่น, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก, การร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนา และล่าสุดงานมหกรรมมอเตอร์โชว์ ประจำปี 2554 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ก็มีประชาชนไปร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง เป็นต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การฝึกหลักสูตร "หน่วยเฝ้าตรวจระยะไกล" ของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 (ตชด.44) ค่ายพญาลิไท อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเพิ่มศักยภาพของ "กำลังรบขนาดเล็ก" ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มก่อความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถกำลังพลซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าทำให้สามารถหยุดยั้งเหตุรุนแรงรายวันได้มากขึ้น (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)