นักวิชาการแนะผู้บริโภครู้สิทธิ เรียกค่าชดเชย ประสบเหตุรถทัวร์ -ตู้สารสาธารณะ
นักวิชาการแนะ 4 มาตรการแก้ปัญหารถโดยสารสาธารณะ เผยผลกระทบการเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเพราะปชช.ไม่รู้สิทธิ แถมการดำเนินคดีกินระยะเวลานาน
29 เมษายน 2557 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 “ร่วมตรวจสอบ เสนอแนะ แสดงพลังผู้บริโภค” เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ณ ห้องแกรนด์ บอร์ดรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ภายในงานมีการนำเสนอผลการศึกษา “ผลกระทบและมาตรการเยียวยาในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ” โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ และนักวิชาการจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ
ดร.สุเมธ เปิดเผยผลการศึกษาปัญหาด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่สาเหตุมาจาก
1.โครงสร้างรถโดยสารขนาดใหญ่ไม่ได้มาตรฐานสากล
2.การตรวจสภาพรถที่ยังขาดความเข้มงวด
3.การเสริมรถในช่วงเทศกาลและคนขับรถไม่มีความชำนาญในเส้นทาง
4.ปัญหาทัศนาจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารสองชั้นที่วิ่งในเส้นทางที่คนขับรถไม่ชำนาญเส้นทาง
และเมื่อเกิดอุบัติหตุผู้โดยสารที่ประสบเหตุหลายคนไม่ทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับในการรักษาพยาบาลและการชดเชยต่างๆ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและบริษัทประกันภัยก็มักเอารัดเอาเปรียบผู้ประสบเหตุ ในการเสนอเงินชดเชยที่น้อยกว่าความเป็นจริง อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการฟ้องร้องค่าเสียหาย ก็ใช้ระยะเวลานาน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี
อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ กล่าวว่า การฟ้องร้องมักกินเวลานาน ทำให้ผู้บาดเจ็บหลายรายยอมตกลงค่าเสียหายชดเชยกับผู้ประกอบการหรือบริษัทประกันภัยเพราะไม่อยากเสียเวลาในการรอคำตัดสินของศาล แต่หากดำเนินคดีจนถึงที่สุดผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินสูงถึง 1.6 ล้านบาท หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 5.26 แสนบาททุกกรณี
"ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาพบว่าผู้เสียหายยอมที่จะแลกค่าเสียเวลากับจำนวนเงิน 2 แสนกว่าบาท" ดร.สุเมธ กล่าว และเสนอแนวทางการแก้ปัญหารถโดยสารสาธารณะควรมีแนวทางดังนี้
1. ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถโดยสาร
2. สร้างระบบประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการ
3. สร้างระบบความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ
4. ยกระดับคุณภาพของบริการรถโดยสารสาธารณะ