กสทช.อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุดให้คนไทยชมบอลโลกฟรีทีวีทุกนัด
กสทช. ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง กรณีอาร์เอส ยื่นเพิกถอนประกาศ MUST HAVE ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ย้ำเป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการบังคับใช้ประกาศ
วันที่ 29 เมษายน 2557 พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) เปิดเผยว่า กสทช. ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางและยกฟ้องคดี ภายหลังก่อนหน้านี้ได้ตัดสินให้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี กรณียื่นฟ้อง กสทช. ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ประเทศบราซิล ต่อศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ ในคดีหมายเลขดำที่ 726/2556 หมายเลขแดงที่ 530/2557 ระหว่างบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2) ในกรณีเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (ประกาศ MUST HAVE)
โดยมีประเด็นหลักในการอุทธรณ์คือ
ประเด็นที่ 1 การฟ้องร้องคดีของ บ.อาร์เอสฯ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ. ) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยผู้อุทธรณ์เห็นว่า บ. อาร์เอสฯ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์ให้ทำการแพร่ภาพแพร่เสียงรายการการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย เป็นเพียงผู้ที่มีเนื้อหารายการเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 โดยตรง ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบังคับใช้ประกาศฯ
นอกจากนี้ ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ยื่นคําร้องขออนุญาตที่จะยกเว้น การปฏิบัติตามประกาศพิพาทในกรณีของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย โดยต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอถอนคําร้องขออนุญาตตามข้อ 4 ของประกาศพิพาท โดยอ้างเหตุว่าได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศพิพาทแล้ว
ดังนั้น หากศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการปฏิบัติตามประกาศพิพาทจึงมีสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล กรณีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามประกาศพิพาท ข้อ 4 ในการยื่นคําร้องขออนุญาตที่จะปฏิบัติเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ประกาศพิพาทกําหนด ศาลปกครองกลางจะต้องมีคําวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําร้องขอตามข้อ 4 ของประกาศพิพาทและขอถอนคําร้องก่อนที่ กสท. จะมีคําสั่งในคําร้องดังกล่าว เนื่องจากได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เป็นการดําเนินการที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีโดยชอบด้วยมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ. ตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หรือไม่ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเองได้อ้างเหตุแห่งการที่ กสท. ไม่มีคําสั่งในคําร้องขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจนล่วงพ้นระยะเวลาอันสมควร ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนําคดีมาฟ้องต่อศาล หากแต่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีคําวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว แต่อย่างใด กระบวนการพิจารณาในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 2 ประกาศพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 เห็นว่า การใช้อำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ... ตามความในมาตรา 27 (6) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตประกอบกิจการตามความในหมวดที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 แห่งพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเท่านั้น หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม การกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์จึงต้องมีการกํากับดูแลในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
กรณีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แม้ทีมชาติไทยจะยังไม่สามารถเข้าสู่รอบการแข่งขันดังกล่าวได้ แต่ก็ได้มีการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกมาโดยตลอด ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ หรือของผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวก็ตาม ก็จะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านบริการโทรทัศน์ที่เป็น การทั่วไป หรือฟรีทีวี ทำให้ประชาชนคนไทยไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไรก็สามารถรับชม การถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวได้ การออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 นอกจากจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงรายการตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศได้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิที่มีมาแต่เดิมของประชาชนชาวไทยรวมถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงรายการที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนอื่นๆ
ประเด็นที่ 3 ประกาศพิพาทไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า สิทธิในการเผยแพร่งานต่อสาธารณะตามมาตรา 15 (2) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 รวมถึงเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2551 และการปฏิบัติตามประกาศ MUST HAVE ไม่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบเนื่องจากจะต้องปฏิบัติผิดข้อสัญญาในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จาก FIFA และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เพียงเพื่อประโยชน์ของประชาชน
แม้ประกาศพิพาทจะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องถูกจำกัดสิทธิในการจำหน่ายกล่องรับสัญญาดาวเทียมเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการรับชมรายการดังกล่าวครบทั้ง 64 นัดแต่ก็ไม่ได้จำกัดหรือห้ามไม่ให้ ผู้ฟ้องคดีแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการเผยแพร่รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายดังกล่าวในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปแต่อย่างใด ด้วยเหตุที่ว่านี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเห็นว่า ประกาศ MUST HAVE ไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดซึ่งสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการแสวงหาประโยชน์รวมตลอดถึงการเผยแพร่รายการการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จนเกินสมควร ประกาศ MUST HAVE จึงไม่ขัด หรือแย้งกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ประเด็นสุดท้าย กระบวนการในการพิจารณาคดีของศาลปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับ FIFA เป็นสาระสำคัญของการพิจาณาคดีพิพาทคดีนี้ ในตอนแรกผู้ฟ้องคดีไม่ได้แนบสัญญาดังกล่าวต่อศาลและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดียื่นสัญญาฉบับดังกล่าว และมีคำสั่งให้ยื่นคำแปลสัญญาฉบับภาษาไทยต่อศาล ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเอกสารดังกล่าวต่อศาลแล้ว แต่ไม่ได้ส่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ เนื่องจากสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องขอตรวจสำนวนและคัดสำเนาสัญญาฉบับดังกล่าวทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับคำแปลเป็นภาษาไทยต่อศาล เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตรวจสำนวนแต่อนุญาตให้คัดสำนวนได้เฉพาะฉบับภาษาอังกฤษ จำนวน 10 แผ่น โดยไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสัญญาฉบับคำแปลฉบับภาษาไทย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจสอบข้อความในสัญญาฉบับภาษาอังกฤษที่ศาลอนุญาตให้คัดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับขอบเขตและการใช้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายถอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย เป็นเพียงเงื่อนไขทั่วไปเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เท่านั้น
แต่ในการวินิฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาท และการมีคำพิพากษาของศาล ปรากฏว่า ศาลได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าว ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี กับ FIFA และเอกสารแนบท้ายทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ศาลอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คัดถ่าย ซึ่งการดําเนินกระบวนการพิจารณาคดีในลักษณะเช่นว่านั้น มีผลกระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการดําเนินคดีปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามที่กฎหมายกําหนดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงรายการสําคัญแล้ว ยังเป็นการดําเนินการที่ขัดต่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 วรรคสอง
ด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงขอศาลปกครองสูงสุดโปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และขอให้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีด้วย
พ.อ. ดร. นที กล่าวย้ำว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีวัตถุประสงค์จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงรายการตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศได้ และคุ้มครองสิทธิที่มีมาแต่เดิมของประชาชนชาวไทยรวมถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงรายการที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนอื่นๆ การยื่นอุทธรณ์ของ กสท. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับชมรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 (FIFA World Cup Final) ผ่านฟรีทีวีได้ เช่น อดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513
ภาพประกอบ:ballthaifc.com