เหตุเกิดที่เมืองยะลา และบ้านเจาะกลาดี
28 เม.ย.2557 เป็นวันครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจ 11 แห่ง (นับรวมที่มัสยิดกรือเซะด้วย) ใน จ.ยะลา ปัตตานี และสงขลา ก่อนเกิดการยิงปะทะกันและมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายรวม 108 ราย (ข้อมูลบางแหล่งระบุยอดผู้สูญเสีย 109 ราย)
ด้านหนึ่งของเหตุการณ์ มีการถกเถียงกันถึง "มูลเหตุจูงใจ" ที่ทำให้เยาวชนและคนหนุ่มมุสลิมนับร้อยยินยอมพร้อมใจปฏิบัติการเสี่ยงอันตรายเช่นนั้น ซึ่งสุดท้ายก็จบลงด้วยความสูญเสีย บ้างก็ว่าเป็นพล็อตเรื่องที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเขียนบทเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อยกระดับปัญหาชายแดนใต้ขึ้นสู่เวทีโลก ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้กันถึงปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ จุดว่ากระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่
แต่ดูเหมือนผ่านมา 10 ปีก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน คือไม่มีการสรุปบทเรียนกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าในวันนั้นเกิดอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และยอมรับได้หรือไม่กับบทสรุปสุดท้ายที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้สูญเสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลับมาที่ 28 เม.ย.ปีนี้ แม้ไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ประเภท "ฉลองวันครบรอบ" เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ก็ยังมีข่าวคราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐออกมาพอสมควร
ข่าวแรก คือ กรณีที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงแม่ทัพภาคที่ 4 กรณีมีกำลังทหารพรานเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 87 หมู่ 4 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของ นายอาดีล สาแม เมื่อวันเสาร์ที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
ในจดหมายเปิดผนึกได้บรรยายพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นบ้าน และปากคำของแม่นายอาดีล ใจความสำคัญคือมีการทำร้ายร่างกายนายอาดีลเพราะไม่สามารถหาซิมโทรศัพท์ที่ตัวเองใช้มาให้เจ้าหน้าที่ได้ รูปแบบการทำร้ายคือการชกท้องหลายครั้งจนสลบ แม่ต้องนำส่งโรงพยาบาล พอฟื้นเจ้าหน้าที่ก็รับตัวไปซักถาม ณ ศูนย์ซักถามของทหารพราน
เนื้อหาในจดหมายยังระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่มากันเกือบร้อยนาย ใช้รถยนต์นับสิบคัน เพื่อมาค้นบ้านและจับกุมคนเพียงคนเดียว สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนในละแวกนั้น และเจ้าหน้าที่บางนายยังไม่ถอดรองเท้าขณะเข้าทำการตรวจค้น ทั้งๆ ที่พี่น้องมุสลิมถือว่าเป็นการไม่เคารพสถานที่ เพราะพื้นที่บางส่วนของบ้านเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีละหมาด
ข่าวที่สอง คือ การนำกำลังผสมทหาร ตำรวจ เข้าตรวจค้นบ้านเจาะกลาดี หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันจันทร์ที่ 28 เม.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์กรือเซะพอดี
พฤติกรรมการเข้าตรวจค้นก็คล้ายๆ กับกรณีแรก คือ เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าตรวจค้นบ้านทุกหลัง โดยชาวบ้านยืนยันว่าไม่มีการประสานผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้มาร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งๆ ที่เป็นการค้นตอนกลางวัน ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติการลับทางยุทธวิธี
หลายบ้านตอนกลางวันมีแต่ผู้หญิงสูงวัย เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธบุกเข้าไป บางรายอายุมากแล้วก็ถึงกับเป็นลมล้มพับ ตกใจกันเป็นแถบ บ้านหลายหลังถูกรื้อค้นข้าวของกระจุยกระจาย แม้แต่โทรศัพท์มือถือใส่ถ่านที่เป็นของเด็กเล่นก็ยังถูกแย่งยื้อจากมือเด็กไปตรวจสอบ
และก็เช่นเคย...ไม่มีการถอดรองเท้า ไม่มีการเคารพสถานที่
ความคืบหน้าของข่าวแรก ได้รับการยืนยันจาก พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่า กำลังเร่งประสานหน่วยทหารพรานเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนของแม่นายอาดีลที่ยื่นผ่านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ส่วนข่าวที่ 2 หลังเกิดเหตุมีการแจ้งร้องเรียนไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงมีการชี้แจงกันอย่างไม่เป็นทางการว่า การตรวจค้นมีการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด มีการแจ้งผู้นำชุมชนให้ทราบก่อน และถอดรองเท้าทุกครั้งก่อนขึ้นบนบ้านของชาวบ้าน
นั่นเป็นคำชี้แจงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็น่าแปลกที่มันไม่ตรงกับคำพูดของชาวบ้านเจาะกลาดีเกือบทุกคนที่กรูกันเข้าระบายความอัดอั้นตันใจเมื่อ นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เดินทางเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
หลายฝ่ายมองอย่างมีความหวังว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาครบ 10 ปีเต็ม หรือ 1 ทศวรรษแล้ว ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้พยายามปรับรูปแบบการทำงานหลายๆ ด้านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่มากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ายังมีเจ้าหน้าที่บางคน บางหน่วยงานที่ไม่ปรับตัว ไม่ปรับวิธีการทำงาน และยังมองชาวบ้านเป็นโจร ไม่แยกปลาออกจากน้ำ ไม่แยกแยะชาวบ้านทั่วๆ ไปออกจากกลุ่มก่อความไม่สงบ
การณ์จึงกลับกลายเป็นว่ายิ่งปฏิบัติหน้าที่นานวัน รัฐยิ่งเสียมวลชน ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบกลับมีมวลชนเพิ่มมากขึ้น และยังคงมีวัยรุ่นไหลเข้าร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เรียกร้องความเป็นธรรม หรือปลดแอกจากรัฐไทยอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน
น่าคิดไม่น้อยว่าทั้งๆ ที่สื่อมวลชนประโคมข่าวความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันขนาดนี้ มีหน่วยงานทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองลงไปทำงานในพื้นที่กว่าครึ่งแสนคนเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในพื้นที่ให้มองหน่วยงานรัฐเป็นบวกมากขึ้นได้ในระดับที่น่าพึงพอใจกว่านี้
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเพิ่งมีข่าวดีๆ เกี่ยวกับทหารหาญกระโดดลงไปช่วยเด็กน้อยที่กำลังจมน้ำ ใกล้ๆ กับประตูน้ำคลองชลประทานในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี และมีการทำคลิปเผยแพร่สร้างความประทับใจไปทั่ว
อย่าให้การพยายามทำความดีของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต้องสูญเปล่าจากพฤติกรรมที่ไม่ยอมเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่บางคน บางกลุ่มอีกต่อไปเลย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปากทางเข้าหมู่บ้านเจาะกลาดี หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา